22 มี.ค. เวลา 07:06 • ประวัติศาสตร์

• ‘เคนเนดี้ที่รถฟอร์ด ลินคอล์นที่โรงละครฟอร์ด’

กับจุดเชื่อมโยงน่าบังเอิญเคนเนดี้-ลินคอล์น
ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา มีประธานาธิบดีที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งจากการถูกลอบสังหารมากถึง 4 คน โดยเคสที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ก็หนีไม่พ้นเคสของอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ในปี 1865 และจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีคนที่ 35 ในปี 1963
ทว่าเหตุลอบสังหารทั้งสองเหตุการณ์ กลับเต็มไปด้วยความเชื่อและทฤษฎีสมคบคิดมากมาย เพราะประธานาธิบดีทั้งสองคนนี้มีความเชื่อมโยงที่คล้ายกันหลายจุด จนราวกับว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญจนน่าประหลาดใจ บางคนก็เชื่อว่ามันเป็นเรื่องของอาถรรพ์
โดยในโพสต์นี้ แอดมินจะยกตัวอย่างจุดเชื่อมโยงระหว่างลินคอล์นกับเคนเนดี้ที่ถูกพูดถึงกัน โดยแบ่งเป็นความเชื่อที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ✅ ความเชื่อที่พอจะถูกอยู่บ้าง 🟨 และความเชื่อที่เข้าขั้น ‘มั่วนิ่ม’ ❌
✅ “นามสกุลลินคอล์น (Lincoln) กับเคนเนดี้ (Kennedy) มีตัวอักษรภาษาอังกฤษ 7 ตัวเหมือนกัน”
✅ “ลินคอล์นกับเคนเนดี้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาคองเกรสในปีที่ลงท้ายด้วย 46 และชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีที่ลงท้ายด้วย 60”
ลินคอล์นเป็นสมาชิกสภาคองเกรสในปี 1846 และชนะการเลือกตั้งปธน.ปี 1860 ส่วนเคนเนดี้เป็นสมาชิกสภาคองเกรสในปี 1946 และชนะเลือกตั้งปธน.ปี 1960 แต่มีจุดที่น่าสังเกตคือ การเลือกตั้งในสหรัฐฯ จะจัดตรงกับปีที่เป็นเลขคู่เสมอ
✅ “ทั้งลินคอล์นและเคนเนดี้ ต่างสูญเสียลูกชายขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี”
วิลลี่ ลินคอล์น (Willie Lincoln) วัย 12 ปี เสียชีวิตในปี 1862 จากโรคไข้รากสาดน้อย ส่วนแพทริค บูเวียร์ เคนเนดี้ (Patrick Bouvier Kennedy) เสียชีวิตสองวันหลังจากที่คลอด แต่ข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้รวมการที่ลินคอล์นเคยสูญเสียลูกชายหนึ่งคนก่อนที่จะเป็นประธานาธิบดี
✅ “ทั้งคู่ถูกลอบสังหารในวันศุกร์ ถูกยิงที่บริเวณศีรษะ และภรรยาของพวกเขาก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย”
มีโอกาส 1 ใน 7 ที่วันที่ถูกลอบสังหารจะตรงกัน ส่วนศีรษะก็เป็นบริเวณที่เปราะบางและเป็นจุดตาย
✅ “ลินคอล์นถูกลอบสังหารที่โรงละครฟอร์ด ส่วนเคนเนดี้ถูกลอบสังหารขณะนั่งรถเปิดประทุนที่ผลิตโดยฟอร์ดมอเตอร์”
✅ “รองประธานาธิบดีที่สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากทั้งคู่ เป็นคนนามสกุลจอห์นสันเหมือนกัน เป็นคนจากรัฐทางใต้เหมือนกัน และเกิดในปีที่ลงท้ายด้วย 08”
แอนดรูว์ จอห์นสัน (Andrew Johnson) ที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากลินคอล์น มาจากรัฐนอร์ทแคโรไลนา เกิดปี 1808 ส่วนลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากเคนเนดี้ มาจากรัฐเท็กซัส เกิดปี 1908
อย่างไรก็ตามจอห์นสันก็เป็นนามสกุลที่มีเยอะอยู่แล้วในสหรัฐฯ และการที่ลินคอล์นกับเคนเนดี้มีพื้นเพเป็นคนรัฐทางเหนือ การมีรองปธน.ที่เป็นคนรัฐทางใต้ ก็จะช่วยในเรื่องการขยายฐานเสียง
✅ “ชื่อของผู้ที่ก่อเหตุลอบสังหาร มีจำนวนตัวอักษรภาษาอังกฤษ 15 ตัวเท่ากัน”
จอห์น วิลค์ส บูธ (John Wilkes Booth) ผู้ลอบสังหารลินคอล์น และ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (Lee Harvey Oswald) ผู้ลอบสังหารเคนเนดี้
✅ “ผู้ก่อเหตุทั้งสองคนเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับโทษ”
จอห์น วิลค์ส บูธ เสียชีวิตขณะปะทะกับเจ้าหน้าที่ ส่วนลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ถูกลอบยิงขณะนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำ
🟨 “ผู้ลอบสังหารลินคอล์นหลบหนีจากโรงละครไปที่โกดัง ส่วนผู้ลอบสังหารเคนเนดี้หลบหนีจากโกดังไปที่โรงละคร”
จอห์น วิลค์ส บูธ ไม่เคยไปซ่อนตัวที่โกดัง เขาหลบหนีจากโรงละครฟอร์ดก่อนถูกยิงเสียชีวิตที่โรงยาสูบ ส่วนลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ หลบหนีจากโรงเก็บหนังสือเรียนก่อนถูกจับกุมที่บริเวณโรงภาพยนตร์ ประเด็นนี้อาจจะถูกถ้ามองว่า โรงยาสูบกับโรงเก็บหนังสือคือโกดัง และโรงละครคือโรงภาพยนตร์
❌ “ลินคอล์นมีเลขานามสกุลเคนเนดี้ ส่วนเคนเนดี้มีเลขานามสกุลลินคอล์น”
จริงอยู่ที่เคนเนดี้มีเลขาชื่อเอเวลิน ลินคอล์น (Evelyn Lincoln) แต่เลขาของลินคอล์นมีชื่อว่า จอห์น จอร์จ นิโคเลย์ (John George Nicolay) และจอห์น เอ็ม. เฮย์ (John M. Hay)
❌ “ผู้ก่อเหตุลอบสังหารมาจากรัฐทางใต้”
จอห์น วิลค์ส บูธ เกิดที่รัฐแมรีแลนด์ที่ตั้งอยู่ทางเหนือ แต่เขาสนับสนุนรัฐทางใต้ในสงครามกลางเมือง ส่วนลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ แม้จะเกิดที่รัฐนิวออร์ลีนส์ที่อยู่ทางใต้ แต่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่นิวยอร์กและเท็กซัส ที่สำคัญเชื่อว่า แนวคิดแบ่งแยกดินแดนหรือความแตกแยกในภูมิภาค อาจจะไม่ใช่แรงจูงใจในการก่อเหตุของออสวอลด์
❌ “ผู้ก่อเหตุลอบสังหารเกิดในปีที่ลงท้ายด้วย 39”
จอห์น วิลค์ส บูธ เกิดปี 1838 ส่วนลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์เกิดปี 1939
❌ ”หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ลินคอล์นจะถูกสังหาร เขาอยู่ที่เมืองมอนโร รัฐแมรีแลนด์ ... หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่เคนเนดี้จะถูกลอบสังหาร เขาอยู่กับมาริลีน มอนโร“
มาริลีน มอนโร เสียชีวิตในปี 1962 หรือหนึ่งปีก่อนเหตุลอบสังหารเคนเนดี้ แถมประเด็นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยังดูเป็นข่าวลือมากกว่า
ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Histofun Deluxe
อ้างอิง
• USA Today. Fact check: A 1964 conspiracy theory misrepresents Lincoln and Kennedy's similarities. https://www.usatoday.com/story/news/factcheck/2020/06/06/fact-check-1964-lincoln-kennedy-comparisons-only-partly-accurate/5311926002/
#HistofunDeluxe
โฆษณา