23 มี.ค. เวลา 02:15 • หนังสือ

ทุกวันเป็นวันที่ดี : ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน

"แด่ทุกคนที่ยังค้นหาที่ทางและความหมายในการมีชีวิต" คือคำโปรยบนหน้าปกของหนังสือ #ทุกวันเป็นวันที่ดี : ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน จาก Biblio และเป็นเหตุผลที่เราเลือกหยิบมาอ่านในตอนนี้หลังจากดองมาหลายปี เล่มนี้ให้บรรยากาศสบายๆเหมือนกำลังอ่านไดอารี่ของคนคนหนึ่ง ใช้เวลาแค่ราวๆ 3-4 ชั่วโมงก็อ่านจบแล้ว เหมาะกับการพักใจในวันหยุดสุดๆไปเลย 😌
หลายคนเห็นชื่อสำนักพิมพ์ว่า Bibli ก็อาจจะเผลอคิดว่าเป็นนวนิยาย แต่จริงๆแล้วหนังสือเล่มนี้คือสมุดบันทึกของ "โมริชิตะ โนริโกะ" เกี่ยวกับสิ่งที่เธอได้ตกตะกอนจากการเรียนชงชาเป็นระยะเวลากว่า 25 ปี แรกเริ่มนั้นเธอไม่ได้สนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย ทั้งยังมองว่าเป็นสิ่งล้าหลัง เต็มไปด้วยกฎระเบียบไร้สาระที่ไม่มีเหตุผล
แต่เมื่อเวลาหมุนเปลี่ยนเวียนไป โนริโกะกลับค้นพบว่า "การชงชา" ไม่ได้สอนแค่วิธีการชงชาแบบต่างๆที่เต็มไปด้วยขั้นตอนยิบย่อยมากมาย แต่มันยังถ่ายทอดบางสิ่งที่ซับซ้อนเกินกว่าจะกล่าวออกมาเป็นคำพูดได้ และตัวเธอเองก็ค่อยๆซึมซับสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ทีละนิดโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว โนริโกะจึงฉุกคิดได้ว่าศาสตร์และศิลป์ที่ซ่อนอยู่ในการชงชานั่นเองที่ช่วยให้เธอสัมผัสโลกภายนอกและโลกภายในของตัวเองได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และนับตั้งแต่นั้นทุกวันก็กลายเป็นวันที่ดีสำหรับเธอ
หนังสือที่เขียนเล่ายากสำหรับเรามีอยู่ 2 ประเภท แบบแรกคืออ่านแล้วไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ ส่วนแบบที่สองคืออ่านแล้วกระแทกใจจนไม่รู้ว่าจะเล่ายังไงให้มันไม่ยาวเกินไป 🤣 ซึ่งหนังสือเล่มนี้คือความลำบากใจแบบหลัง อาจเพราะเราเลือกอ่านมันในวันที่กำลังท้อแท้และสับสนกับงานของตัวเอง เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ ไร้ประโยชน์ และเริ่มหมดใจจนอยากลาออกด้วยความคิดที่ว่า "นี่อาจจะไม่ใช่ที่ของเรา" ซึ่งนั่นทำให้่เราถูกจัดอยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลักของสารในหนังสือเล่มนี้พอดี
ฉันรู้สึกเหมือนมีแค่ตัวเองที่ยังไม่ได้เริ่มต้นใช้ชีวิตจริง ๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไรก็ยังได้แต่ยืนอยู่ตรงจุดสตาร์ท
การได้อ่านเรื่องราวของโนริโกะ เหมือนเราได้มองเห็นตัวเองในอีกเวอร์ชันหนึ่ง ตอนโนริโกะรู้สึกขัดใจที่ครูสั่งให้เปลี่ยนวิธีการชงชาเป็นแบบฤดูหนาว ทั้งที่เธอเพิ่งเริ่มชินกับการชงชาแบบฤดูร้อนหลังจากทุ่มเทฝึกซ้อมไปตั้งมาก ไม่ต่างกับความรู้สึกของเราที่โดนย้ายทีมเลย ความท้อแท้และหวั่นใจที่ต้องเริ่มทุกอย่างใหม่จากศูนย์อีกครั้ง มันทำให้รู้สึกว่าตัวเราล้มเหลว เอาแต่ย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่คนอื่นเขาไปได้ไกลกันแล้ว
ทุกครั้งเมื่อมีคนถามอะไรสักอย่าง ฉันไม่อาจกลบเกลื่อนความไม่มั่นใจของตัวเองได้เลย
เมื่อเข้าสู่ปีที่ 13 ของการเรียนชงชา โนริโกะก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่เอาไหน เรื่องบางเรื่องเด็กที่มาใหม่ยังรู้มากกว่า จุดนี้ก็คล้ายคลึงกับเราจนน่าตกใจ เวลาต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเพื่อให้งานมันเสร็จ ทั้งที่ทำงานมาเข้าปีที่ 3 แล้ว มันทำให้เรารู้สึกแย่ว่าทำไมไม่รู้เรื่องอะไรเลย ตอนประชุมก็ตามคนอื่นไม่ค่อยจะทัน พอมีรุ่นน้องมาขอคำปรึกษาก็ช่วยน้องไม่ค่อยได้ เพราะบางเรื่องก็ไม่รู้ และบางครั้งก็ไม่มั่นใจในความคิดของตัวเอง
อย่างถ้าเสนออะไรไปแล้วโดนปฏิเสธก็จะยอมเอาง่ายๆ เพราะเราได้ปักธงไว้ในใจแล้วว่าตัวเองอาจคิดผิด เราจะไปรู้ดีกว่าพี่ๆคนอื่นได้อย่างไร แม้หลายครั้งจะมาพบในภายหลังว่ามันถูกก็ไม่ได้ช่วยให้มีกำลังใจมากขึ้น กลับยิ่งคิดไปว่าเป็นเราเองที่ไม่น่าเชื่อถือพอในสายตาคนอื่น เลยไม่มีใครเสียเวลาเก็บเรื่องที่เราพูดไปคิดด้วยซ้ำ 🥲
ฉันทำทุกอย่างไปตามบุญตามกรรม และยังผิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ แม้ว่าจะทำมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง
ครั้นเมื่อลองพยายามทุ่มเทให้หนักยิ่งขึ้น เพราะหวังว่าความตั้งใจจะช่วยให้อะไรๆมันดีขึ้น แต่สิ่งที่ได้กลับมากลับกลายเป็นความเครียดและแรงกดดันที่ทำให้ทุกอย่างยิ่งแย่ลง ยิ่งเครียดก็ยิ่งพลาดได้ง่าย พอพลาดก็เครียดหนักเข้าไปอีก โดยเฉพาะการทำผิดในเรื่องเดิมซ้ำๆจนคนที่คอยเตือนก็ดูจะเริ่มเอือม ดังนั้นตอนอ่านถึงฉากที่โนริโกะบอกว่าเธอโดนครูเตือนจุดที่ทำพลาดเหมือนทุกที แต่วันนั้นดันเป็นวันที่เธอรู้สึกแย่กับตัวเองอยู่แล้วเลยทำให้น้ำตาคลออย่างห้ามไม่อยู่ เราเลยแอบน้ำตาซึมไม่ต่างกัน
ในชีวิตคนเราเองก็มีฤดูกาลอยู่เหมือนกัน
ทว่าหลังจากโนริโกะเริ่มเข้าใจวิถีของการชงชา เธอก็พบว่าทุกสิ่งในธรรมชาติล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลที่ถูกกำหนดไว้ มนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จึงย่อมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้เช่นกัน คนแต่ละคนต่างก็มีฤดูกาลของชีวิตตัวเอง นั่นคือเราจะเบ่งบานก็ต่อเมื่อถึงเวลาที่ธรรมชาติกำหนดไว้แล้วว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเรา บางคนเรียนชงชาได้แค่ 3 ปีก็ทำได้ลื่นไหลแล้ว บางคนต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี หรือบางคนก็อาจจะมากกว่านั้นไปอีก
เมื่อเวลาแห่งการตระหนักรู้มาถึงเราก็จะตระหนักรู้ ซึ่งกว่าแต่ละคนจะเติบโตเต็มที่ก็ใช้เวลาต่างกันไป
และระยะเวลาพวกนั้นก็ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าใครเก่งกว่าใคร ในสังคมส่วนใหญ่จะมองว่าคนที่หาคำตอบที่ถูกต้องได้เร็วที่สุดคือคนเก่ง แต่ในโลกของการชงชาที่ไม่มีคำตอบตายตัว ทุกคนสามารถใช้เวลาได้มากเท่าที่ต้องการเพื่อจะค้นพบปรัชญาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมนี้ และเมื่อพบแล้วใครจะเข้าใจได้ลึกซึ้งแค่ไหนก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสามารถของคนคนนั้น สิ่งสำคัญคือการนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ "ไม่ว่าต้องเจอกับวันแบบไหนเราก็มีความสุขได้" ต่างหาก
ปล.ยังมีอีกหลายคำพูดในที่บาดลึกจนอยากเอามาแชร์ แต่มันน่าจะยาวเกินไปจนน่าเบื่อ 😂 เอาเป็นว่าไปสัมผัสความรู้สึกนี้กันได้ที่: https://s.shopee.co.th/7pfKAaDu8X
โฆษณา