24 มี.ค. เวลา 13:25 • สุขภาพ

สาเหตุของโรคซึมเศร้าที่แท้จริง ไม่ใช่สารเคมีทางสมองอย่างที่เราเข้าใจกัน

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผมทำรู้จักกับคำว่า "โรคซึมเศร้า" มีคำอธิบายถึงสาเหตุของโรคนี้มากมาย สิ่งที่ผมมักได้ยินคือสารเคมีทางสมองผิดปกติ ซึ่งไม่ผิดเลย และผมก็เคยเขียนบทความเกี่ยวกับสาเหตุนี้ด้วย อย่างไรก็ตามการอธิบายว่า "เธอเป็นโรคซึมเศร้า เพราะสารเคมีทางสมองของเธอผิดปกติ" ดูจะเป็นคำอธิบายที่ไร้ความหมาย ไม่มีประโยชน์อะไรเลย (จากความคิดเห็นของผมในปัจจุบัน)
ผมค้นพบคำอธิบายที่น่าสนใจซึ่งเป็นรากศัพท์ของโรคซึมเศร้า "Depression" ความหมายตรงตามคำ ก็บอกชัดอยู่ คำว่า "Depress" หมายถึงการกดลง เหมือนการกด ลูกบอลชายหาดในสระว่ายนำ เรานึกภาพได้อย่างง่ายดายว่าต้องออกแรงมากแค่ไหนจึงจะกดลูกบอลให้จมอยู่ในน้ำได้ และมันก็จะมีอาการ "ต้องการ" โผล่กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ การกดให้มันจมอยู่มีสิ่งต้องแลก
ผมจะขออธิบายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เมื่อลองนึกภาพ ลูกบอลชายหาดลอยอยู่ในสระน้ำ โดยธรรมชาติมันต้องการลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ถ้าเราพยายามกดมันลงไปใต้น้ำต้องออกแรง กดทับและควบคุมมันตลอดเวลา ยิ่งกดลึก แรงต้านกลับก็จะมากขึ้น และถ้าปล่อยมือเมื่อไหร่ มันก็จะดีดตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
อารมณ์ซึมเศร้าก็เหมือนลูกบอลที่ถูกกดอยู่ใต้น้ำนั้นแหละครับ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าต้องใช้พลังงานอย่างมากในการกดทับอารมณ์ของตัวเองไม่ให้แสดงออกมา หรือไม่ให้ถูกสังคมมองเห็น ยิ่งพยายามกดมันลงนานเท่าไร ยิ่งรู้สึกเหนื่อยล้าและอาจเกิดความรู้สึกตึงเครียดเพิ่มขึ้น หากพลังงานหมด ไม่สามารถกดทับอารมณ์ไว้ได้อีกต่อไป อาจเกิดภาวะที่อารมณ์ปะทุออกมาอย่างรุนแรง เช่น การระเบิดอารมณ์ ภาวะหมดไฟ หรือความรู้สึกไร้ค่าหรือหมดหวัง
เมื่อเข้าใจสภาพการณ์ของผู้ป่วยแล้ว ผมจะขออธิบายถึงคำว่า “สารเคมีในสมองไม่สมดุล” (Chemical Imbalance) ซึ่งกลายเป็นคำอธิบายยอดนิยมที่ใช้อธิบายภาวะนี้มานาน แต่ความเป็นจริงนั้นลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าคำอธิบายที่ดูเรียบง่ายนี้มาก การวิจัยในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าโรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เป็นการทำงานร่วมกันอย่างซับซ้อนระหว่างปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางชีวภาพ จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในทางชีวภาพนั้น จริงอยู่ว่าสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนินหรือโดปามีน มีบทบาทสำคัญในการควบคุมอารมณ์ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการเน้นไปที่ความสมดุลหรือไม่สมดุลของสารเคมีเหล่านี้คือ การทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่แรก
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่าพันธุกรรมมีบทบาทสำคัญในการทำให้แต่ละคนมีความเสี่ยงแตกต่างกันไป รวมทั้งความผิดปกติของฮอร์โมน การอักเสบของร่างกายที่เรื้อรัง หรือการทำงานผิดปกติของระบบประสาทบางส่วนในสมอง ต่างก็สามารถทำให้บุคคลเกิดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้สูงขึ้น
ยาค เพนก์เซปป์ (Jaak Panksepp) นักประสาทวิทยาและนักวิจัยด้านประสาทวิทยาเชิงอารมณ์ที่มีชื่อเสียง ได้เสนอว่าภาวะซึมเศร้าเป็นกลไกการปรับตัวของสมองเพื่อตอบสนองต่อการสูญเสียความเชื่อมโยงทางสังคมหรืออารมณ์ เมื่อบุคคลเผชิญกับความสูญเสียอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การถูกทอดทิ้ง
หรือการล้มเหลวที่กระทบต่อคุณค่าในตนเอง สมองอาจเข้าสู่ "โหมดปิดระบบ" ซึ่งเป็นกลไกทางสรีรวิทยาที่ช่วยลดภาระทางจิตใจและอารมณ์ โดยอาศัยหลักการคล้ายกับภาวะจำศีลของสัตว์ที่ช่วยให้พวกมันรอดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย
"โหมดปิดระบบ" เป็นภาวะที่สมองลดการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ลดระดับพลังงาน และลดแรงกระตุ้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ กระบวนการนี้แสดงออกผ่านพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า เช่น ความเฉื่อยชาและขาดพลังงาน เนื่องจากสมองลดการกระตุ้นระบบโดพามีน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหมดแรงและขาดความกระตือรือร้น การแยกตัวจากสังคม
แทนที่สมองจะพาเราไปเชื่อมโยงกับสังคม ในทางกลับกันโหมดปิดระบบจะทำให้สมองมองว่าการเชื่อมโยงกับผู้อื่นอาจเป็นภาระหรือเป็นแหล่งของความเจ็บปวด อารมณ์ด้านลบและความสิ้นหวัง อันเป็นผลจากการลดระดับของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความสุข รวมถึงการลดการทำงานของสมองบางส่วน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าการคิดวิเคราะห์หรือการตัดสินใจเป็นเรื่องยากขึ้น
แม้ว่ากลไกนี้จะช่วยลดความทุกข์ในระยะสั้น แต่หากสมองยังคงอยู่ในภาวะนี้เป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ การหมดไฟทางอารมณ์ ความรู้สึกไร้ค่า การหลีกเลี่ยงทางสังคม และในกรณีรุนแรงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง การออกจากโหมดปิดระบบจึงต้องอาศัยกระบวนการที่ช่วยให้สมองกลับมาเปิดรับสิ่งเร้าอีกครั้ง เช่น การออกกำลังกาย การได้รับแสงแดด การฝึกสติ การพูดคุยกับผู้ที่ไว้ใจได้ การเข้ารับการบำบัดพฤติกรรมทางความคิด และการใช้ยาในบางกรณีที่จำเป็น (Kendler, 2016)
ยังที่ได้กล่าวมาข้างต้นผมไม่ได้ปฏิเสธว่า สาเหตุของโรคซึมเศร้า ไม่ใช่สารเคมีทางสมอง แต่การเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าอาจเป็นกลไกการป้องกันตัวของสมอง แทนที่จะมองว่าเป็นเพียงความผิดปกติทางเคมี จะช่วยให้เรามองเห็นมิติที่ซับซ้อนของโรคนี้มากขึ้น และสามารถออกแบบแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล การรักษา ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรจำกัดอยู่แค่การปรับสมดุลสารเคมี
แต่ควรให้ความสำคัญไปที่การ ฟื้นฟูความเชื่อมโยงทางอารมณ์และสังคม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้สมองกลับคืนสู่ภาวะสมดุลอย่างแท้จริง
อ้างอิง
Kendler, K. S. (2016). The phenomenology of major depression and the representativeness of DSM criteria. JAMA Psychiatry, 73(3), 207–208. https://doi.org/10.1001/jamapsychiatry.2015.2693
Maté, G., & Maté, D. (2022). The myth of normal: Trauma, illness, and healing in a toxic culture. Avery.
โฆษณา