Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
25 มี.ค. เวลา 06:43 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Trade & Tech War 2.0 จะทำจีนเซหรือไม่ - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ตั้งแต่ทรัมป์รับตำแหน่งรอบที่ 2 เป็นต้นมา สิ่งที่ทรัมป์พูดจริงทำจริงไม่กลับลำไปมาก็คือการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าจีน ซึ่งเปิดฉากมาก็ล่อไปแล้วร้อยละ 20
ดูเหมือนจีนจะไม่สะเทือนมากนัก บางคนบอกเพราะเป็นเรื่องความคาดหวัง จีนเตรียมรับกำแพงภาษีหนักหนาสาหัสถึงร้อยละ 60 ตามที่ทรัมป์เคยหาเสียง ดังนั้นร้อยละ 20 นี่ต้องขอบคุณฟ้าดินที่ยังช่วยคุ้มครอง
ศ.หลี่เต้าคุย นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของ ม.ชิงหัว ให้สัมภาษณ์ว่า สงครามการค้าของทรัมป์ไม่ติดหนึ่งในสามความกังวลหลักของเศรษฐกิจจีนด้วยซ้ำ เพราะจีนได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปมากแล้ว ลดการพึ่งพาการส่งออกลง และลดการพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ จีนเตรียมพร้อมมานาน รอบนี้จึงไม่หนักเท่าสงครามการค้ารอบแรกแน่
1
แต่ผมเพิ่งกลับมาจากจีน และได้มีโอกาสพูดคุยกับนักศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีนอีกท่านหนึ่งเป็นการส่วนตัว ซึ่งท่านได้ให้ความเห็นอย่างน่าคมคายว่า จริงๆ แล้ว ครั้งนี้จะหนักกว่าครั้งก่อน
เหตุผลแรก แม้ว่าจีนจะย้ายโรงงานออกจากประเทศจีน และส่งออกวัตถุดิบไปโรงงานจีนในประเทศต่างๆ เพื่อผลิตของส่งไปสหรัฐฯ ทำให้ดูเหมือนพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ โดยตรงลดลง แต่จริงๆ แล้วตลาดสุดท้ายก็ยังเป็นตลาดสหรัฐฯ อยู่ดี แถมรอบนี้สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะไล่ตามเก็บกำแพงภาษีต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่โรงงานจีนไปตั้งอีกด้วย
2
เหตุผลที่สอง สงครามการค้าในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก ตอนนั้นเศรษฐกิจจีนยังคงคึกคักมีกำลังวังชาดี แต่รอบนี้เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงซบเซาอ่อนแรง พอถูกซัดจากปัจจัยภายนอกเข้าทำนองเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ย่อมเจ็บหนักกว่าตอนถูกซัดในขณะที่พลังลมปราณภายในยังสมบูรณ์กว่านี้
1
แต่ท่านเองก็ยอมรับว่าตัวท่านเป็นเสียงส่วนน้อย เสียงส่วนใหญ่ภายในจีนดูเหมือนจะรู้สึกกันว่ารอบนี้จีนพร้อมมากขึ้นที่จะรับมือและจะทนแรงกดดันระยะยาวจากสหรัฐฯ ได้
ท่านเองพูดติดตลกกับผมเกี่ยวกับผลทางจิตวิทยาว่า รอบที่แล้ว บรรยากาศคนทั่วไปรู้สึกว่าสงครามการค้าหนักหนาสาหัสกับจีน เพราะตอนนั้นเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี แต่ดันมาหักหัวลงเพราะสงครามการค้า แต่มารอบนี้แม้ข้อเท็จจริงอาจจะเจ็บหนักกว่ารอบแรก แต่บรรยากาศความรู้สึกในวงธุรกิจกลับไม่รู้สึกแย่เท่า เพราะรู้สึกว่าตอนนี้เศรษฐกิจก็แย่อยู่แล้ว จะโดนอีกสักดอกก็ซบเซาแบบเดิมต่อไป ไม่ว่ายังไงก็เป็นช่วงเข้าฤดูหนาวเหน็บซึ่งต้องอดทนฝ่าฟันให้รอดให้ได้
1
สำหรับรัฐบาลจีนเองก็เช่นเดียวกัน รอบที่แล้วอาจเผชิญแรงกดดันที่จะต้องไปเจรจาหาข้อตกลงกับสหรัฐฯ แต่มารอบนี้ มองในทางการเมือง รัฐบาลจีนก็ถือว่าได้แพะมารับบาปความซบเซาทางเศรษฐกิจ ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นไม่ใช่ผลงานรัฐบาลจีนไม่ดี แต่เพราะสหรัฐฯ คุณทรัมป์เขาซัดเรา เสียงส่วนใหญ่ในจีนก็ทำใจแล้วว่าการต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ นั้นเป็นเรื่องระยะยาวแน่ ถึงไปเจรจาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพการแข่งขันระยะยาวได้
2
นอกจาก Trade War แล้ว แนวโน้ม Tech War ในยุครัฐบาลทรัมป์ 2.0 ก็ยังคงจำกัดการให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐฯ ต่อเนื่องจากยุครัฐบาลไบเดน ผมจึงอดไม่ได้ที่จะถามนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีนที่ผมได้พบว่าท่านคิดว่าสหรัฐฯ จะซัดจีนสำเร็จใน Tech War ด้วยหรือไม่
ท่านตอบว่า หากวัดจากเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่ต้องการทิ้งห่างจีนในเรื่องเทคโนโลยี เช่นจากเดิมเคยทิ้งห่างจีน 10 ปี ก็ต้องการจะคงช่องว่าง 10 ปี นี้ไว้และค่อยๆ ทิ้งห่างให้มากขึ้นกว่าเดิม ท่านบอกเป้าหมายข้อนี้สหรัฐฯ ล้มเหลวแน่
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลจีนตอนนี้ทุ่มสุดตัวให้กับการลงทุนพัฒนาเทคโนยีเป็นวาระแห่งชาติ และในหลายอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ นำหน้าจีน ช่องว่างก็ลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ห่างกันเพิ่มขึ้นอย่างที่สหรัฐฯ ตั้งความหวังไว้ว่ายิ่งกีดกันจีน จีนจะยิ่งถูกทิ้งห่างมากขึ้นๆ
แต่ปัญหาที่ท่านกลับกังวลคือ การที่รัฐบาลจีนเอาเงินมาทุ่มสุดตัวในเรื่องเทคโนโลยีนั้น ก็มีสิ่งที่ต้องแลก เช่น ภาคเศรษฐกิจจริงของจีนที่ยังคงซบเซาและไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเพียงพอ นอกจากนั้น การพัฒนาที่ก้าวกระโดดของจีนในเรื่องหุ่นยนต์ เทคโนโลยี Automation เทคโนโลยี AI เรื่องเหล่านี้สุดท้ายแม้จะเป็นการเพิ่มผลิตภาพการผลิต แต่ก็มีผลทดแทนแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้จีนมีความกดดันเรื่องการจ้างงานและก็วนกลับไปกดดันภาคการบริโภคและภาคเศรษฐกิจจริงของจีน
4
มีคำกล่าวว่า ปัญหาของสหรัฐฯ และของจีนนั้นตรงข้ามกัน ปัญหาของสหรัฐฯ คือบริโภคเกินตัว ด้านดีมานด์มีพลัง แต่ด้านซัพพลายอ่อนแรง เพราะสหรัฐฯ ไม่มีความสามารถด้านการผลิตและขาดการลงทุนในประเทศมาอย่างยาวนาน ขณะที่ปัญหาของจีนนั้นกลับกัน คือการลงทุนและการผลิตเกินตัว เรียกว่าเด่นด้านซัพพลาย แต่ด้านดีมานด์คือพลังการบริโภคอ่อนแรง และตอนนี้ยิ่งซบเซาเพราะบรรยากาศเศรษฐกิจและภาคเอกชนที่ดูไม่สดใสเช่นในอดีต
6
ขณะเดียวกัน ยิ่งทั้งสองประเทศแข่งขันกันในศึก Tech War ด้าน AI สุดท้ายอาจนำไปสู่ปัญหาร่วมกันคือ AI มาทดแทนแรงงานจนเกิดวิกฤตการจ้างงานและวิกฤตสังคมในทั้งสองประเทศ ซึ่งโจทย์นี้ยังเป็นโจทย์ที่ทั้งคู่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะแก้อย่างไร
1
29 บันทึก
50
2
56
29
50
2
56
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย