24 มี.ค. เวลา 18:17 • ธุรกิจ

คดีฟ้องร้องลอกสูตรชาวบ้านไปทำขายเอง ข้อเท็จจริงจากคำพิพากษา

บางคนอาจผ่านตากรณีที่ “นิหน่า” สุฐิตา เรืองรองหิรัญญา ผู้ดำเนินรายการข่าวกีฬา อดีตนักร้องนักแสดงโพสต์ถึงการทำธุรกิจ “ออมุก” หรือเค้กปลาแท่ง อาหารทานเล่นเมนูสตรีทฟู้ดยอดนิยมในเกาหลี ที่ทำร่วมกับเพื่อนใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Happy Munchy”
แน่นอนว่าเมื่อมีคนนำไปแชร์ต่อและเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก นิหน่าได้ทำการลบโพสต์เพื่อไม่ให้กระทบกับธุรกิจของเจ้าสัว
ก่อนจะไปคุยเรื่อง “ออมุก” ต้องย้อนกลับไปดราม่า “โตเกียวบานาน่า” ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนได้ดีหากคนตัวเล็กๆคิดจะทำธุรกิจอะไรสักอย่างแล้วต้องพึ่งพาในการวางสินค้าในร้านสะดวกซื้อ
#ฟ้องแพ่งโตเกียวบานาน่า
ราวๆ วันที่ 21-22 เมษายน 2558 นายชิน รติธรรมกุล ได้มีการเขียนบทความ 2 ตอนในเว็บไซต์โอเคเนชั่น กล่าวถึงบริษัท ซีพี ออลล์ ว่าเป็นบริษัทใหญ่ แต่ไปรังแกผู้ประกอบการรายย่อยที่เสนอสินค้าเข้ามาขายในร้านสะดวกซื้อ 7-11 ด้วยการลอกเลียนสูตรสอดไส้ครีมคัสตาร์ดรสกล้วยของผู้ประกอบการรายเล็กๆคนหนึ่ง  หลังจากนั้นได้นำไปทำการค้าหาประโยชน์เอง โดยมีข้อความในทำนองว่าเป็นการรังแกเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย
การพาดพิงถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของเจ้าสัว “เจียรวนนท์” ถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ และทางสื่อต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งทางบริษัทมองว่าเป็นการสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ในการประกอบการของซีพี ออลล์ ซึ่งบริษัทได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่นายชินต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328
ต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง และเสนอสำนวนการสอบสวนต่อพนักงานอัยการ
ซึ่งพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องนายชินเป็นจำเลย ข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2843/2559
ผู้เขียนบทความเองก็สู้กับซีพี ออลล์ มาทุกศาล ก่อนจะเปิดเผยว่าได้รับข้อมูลและเนื้อหาบทความดังกล่าวมาจาก นางสาว พ. โดยที่ไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ และได้จัดทำบทความไปโดยไม่เคยสอบถามความเป็นจริงจากบริษัท
ประเด็นสำคัญในคดีนี้คือ ซีพีออลล์ ได้แสดงหลักฐานในการดำเนินคดีให้เห็นว่า “บริษัทไม่มีการกระทำใดที่จะไปกระทำหรือเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย” ตามที่ถูกผู้เขียนกล่าวหาในบทความ
จำเลยมีการขอโทษบริษัทต่อหน้าศาลฎีกา และยินดีที่จะแก้ไขฟื้นฟูความเสียหายของบริษัท ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
เงื่อนไขที่บริษัทจะยอมความก็คือ จำเลยจะต้องเผยแพร่บันทึกประนีประนอมยอมความ และเอกสารย่อคำฟ้องคดีอาญาที่แสดงถึงเหตุการณ์ในเรื่องนี้ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นภายใน 7 วันนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2560 และจะลงติดต่อกันจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
รวมระยะเวลาที่ต้องเผยแพร่บันทึกประนีประนอมยอมความกับเอกสารย่อคำฟ้อง ทั้งสิ้นเกือบ 9 เดือนเต็มๆ ทุกวัน
เมื่อตกลงกันต่อหน้าศาลได้แล้ว บริษัทฯ จึงได้แสดงน้ำใจโดยไม่ต้องการดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้รู้สำนึก และไม่ใช่ตัวการที่แท้จริง ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาและไม่ติดใจเรียกค่าเสียหายจากนายจำเลย คดีจึงได้ระงับไปตามคดีอาญาแดงที่ อ.987/2560
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นทางซีพี ออลล์ พบว่านายชินไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้กระทำต่อหน้าศาล บริษัทฯ จึงฟ้องนายชินอีกครั้ง ในข้อหาผิดสัญญาต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.860/2560
ถึงตรงนี้คือบริษัทฟ้องนายชินในคดีแพ่ง เนื่องจากคดีอาญาถูกระงับไปแล้ว และคดีแพ่งนี้ก็ใช้เวลายืดเยื้อกันไปพอสมควร จนกระทั่ง 31 สิงหาคม 2564 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าว และคดีถึงที่สุดแล้ว
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และต้องลงประกาศบันทึกฯ ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับคำบังคับต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 8 เดือน 26 วัน
เพราะฉะนั้น นายชินต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัท
8 กันยายน 2564 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ซึ่งบริหารร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ประกาศว่า ศาลฎีกาได้พิพากษาให้บริษัทชนะคดี กรณีถูกคนเขียนบทความกล่าวหาว่าบริษัทก๊อปปี้สินค้าบานาน่า หลังคนเขียนบทความไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีนอม ที่ต้องลงประกาศในเว็บไซต์โอเคเนชั่น
ซีพี ออลล์ ระบุเพิ่มเติมว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องชี้แจงให้ประชาชน และเรียนย้ำต่อคู่ค้าของบริษัทได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทและเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงการใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลใดๆ ในสังคมออนไลน์ ตลอดถึงเพื่อป้องปรามมิให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นใด แสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการใส่ความผู้อื่น หรือการทำการตลาดด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่เกิดกับบริษัทอีกต่อไปด้วย
สรุปคดีฟ้องร้องผู้เขียนบทความกรณี “โตเกียวบานาน่า” วางสินค้าใน 7-11 คือ
1.    “บริษัทไม่มีการกระทำใดที่จะไปกระทำหรือเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย
2.    จำเลยขอโทษต่อหน้าศาลกรณีไม่เคยสอบถามความเป็นจริงจากบริษัท
3.    คดีอาญายอมความ แต่นายชินไม่ลงประกาศบันทึกในเว็บไซต์โอเคเนชั่น กับเอกสารย่อคำฟ้อง ตลอด 8 เดือน 26 วัน ศาลแพ่งสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายชดใช้ 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
4.    กรณี “ลอกเลียนสูตรสอดไส้ครีมคัสตาร์ดรสกล้วยของผู้ประกอบการ” ไม่มีระบุว่าบริษัทปฏิเสธ
เนื่องจากการที่ผู้ประกอบการจะนำสินค้าไปวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ 7-11 ได้นั้น ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของบริษัท คือ
1.สินค้าต้องได้มาตรฐานสินค้าของเซเว่น ดังนั้นจะมีคนเข้ามาตรวจสอบความสะอาดขั้นตอนการทำและไลน์ผลิตทั้งหมด
2.วัตถุดิบต้องได้มาตรฐาน ดังนั้นต้องเปิดเผยสูตรและสิ่งที่ใช้ทั้งหมด
3.เชลฟ์ไลฟ์ต้องเกิน 3-5วันเพราะสินค้าต้องมีการขนส่งไปยังสาขาอื่นๆ
ทั้งนี้ ไตรมาส 3 ปี 2567 ซีพี ออลล์ มีรายได้ 1.08 แสนล้านบาท และมีการขยายไปแล้ว 15,053 สาขา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 199 สาขา
ผู้ประกอบการรายย่อยจึงหวังว่าสินค้าของตัวเองจะถูกนำไปวางในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศมากกว่า 1.5 หมื่นสาขา
#นี่มันน้ำจิ้มพี่ก้อนชัดๆ
25 มิถุนายน 2564 เพจ “มนุษย์รีวิวเซเว่น” ไปเจอน้ำจิ้มบาร์บิคิว ที่เพิ่งจะออกมาวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น จึงได้ออกมาโพสต์รีวิวน้ำจิ้มบาร์บิคิวตัวนี้ ด้วยข้อความว่า “นี่มันน้ำจิ้มพี่ก้อนนน ชัดๆ มีขายในเว่นล้าวว”
ซึ่งแน่นอนว่า ภายหลังก็ได้มีการแก้ไขข้อความโดยเปลี่ยนเป็น “น้ำจิ้มบาร์บีคิวแบบในห้างเลยยย”
พร้อมกับโพสต์ข้อความอธิบายว่า ขออภัยโพสต์ดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเกิดความเข้าใจผิดและได้รับผลกระทบ ทั้งทาง BBQPLAZA, 7 -eleven , และ CP ด้วยค่ะ
บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างโอกาส ทางการตลาดกลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เมื่อทราบเรื่องดังกล่าวก็ได้โพสต์เฟซบุ๊คข้อความว่า
เมื่อเราอยู่ในโลกของนายทุนใหญ่ รายเล็ก รายย่อย รายกลาง (อาจ)ย่อมเป็นเหยื่อของรายใหญ่…เห็น Product นี้ครั้งแรกก็ต้องพูดกับตัวเองว่า
“อ๋อ…แบบนี้เลยเหรอคะพี่”
การที่มาชวนเราทำแล้วเราไม่ทำ…นี่คือผลตอบแทนของการไม่ศิโรราบพี่ใหญ่…เราเดินกันคนละเกม เราทำธุรกิจกันคนละความคิด
ดีค่ะ…ยิ่งเป็นแบบนี้ ยิ่งมีแรงผลักดันให้ทำอะไรอีกหลายอย่าง…เป็นกำลังใจให้รายเล็ก รายย่อยที่เคยมีประสบการณ์แบบนี้ และเป็นกำลังใจให้ตัวเองและบริษัท
เราจะยังคงเดินหน้าสร้างความสุข ความอร่อยและแรงบันดาลใจให้ผู้คนให้ คิด ทำ สิ่งดี สร้างสรรค์และไม่ทำร้ายใคร..
อะไรที่มันไม่ใช่ มันก็คือ “ไม่ใช่”
อะไรที่มันไม่จริง มันเรียกว่า “ปลอม”
รักนะคะ…ปลาเล็กทุกตัว…เชื่อดิว่าพวกเราทำได้…..
What doesn’t kill you, make you stronger
อะไรที่มันฆ่าเราไม่ได้…มันจะทำให้เราแกร่งขึ้น…
ปล. มนุษย์รีวิวเซเว่น ขอบคุณนะคะที่เปลี่ยน caption แต่เสียดายที่เราเห็น original caption คะ
#ปลาตัวเล็กรายล่าสุดชื่อ “ออมุก”
กลับมาที่ธุรกิจออมุก Happy Munchy ของนิหน่าและเพื่อน อีกคนหนึ่งซึ่งใช้เฟซบุ๊กชื่อ TaNn Vaseenon เธอเล่าย้อนถึงการตั้งใจทำออมุกออกมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ว่า
แตนจำได้ว่าพวกเราตั้งใจมาก มดลองชิม และ R&D กันยาวนานมากกว่าจะผ่านเข้าไปขายได้แต่ละตัว สินค้าทุกตัวของเรามันคือความภาคภูมิใจและความตั้งใจของทีมจริงๆ แต่วันนี้กลับต้องมาเจอเรื่องที่เจ็บปวดที่สุด
เข้าใจนะว่ามันคือโลกของธุรกิจ แต่มันเสียใจนะที่ต้องมาเจอแบบนี้
ตอนแรกเห็นว่าขายราคาเท่ากันวางข้างกันก็ยังโอเค เรายังมีแรงสู้ได้ แต่วันนี้มาเห็นว่าลดราคาแรงมาก…เฮ้อ…ยอดเราคงตกแน่นอนไม่ต้องสืบ
เสียใจว่ะ แต่ก็ท้อไม่ได้
นั่นคือโพสต์ของหุ้นส่วนธุรกิจออมุก Happy Munchy ที่อธิบายความรู้สึกได้ตรงไปตรงมาที่สุด
เมื่อจำนวนมากกว่า 1.5 หมื่นสาขาของเซเว่นคือจมูกที่ผู้ประกอบการรายย่อยต้องยืมบริษัทหายใจ ด้วยการยอมเปิดเผยสูตรและส่วนผสมทั้งหมดเพื่อให้เขาทำสินค้ามาแข่ง
ธุรกิจที่ไม่ยอมให้ใครลืมตาอ้าปาก เหมารวมความเป็นเจ้าของไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่แม้จะตั้งราคาให้สูงกว่าต้นตำรับ
ไม่แม้แต่จะมีน้ำใจแข่งขันทางธุรกิจด้วยจิตสำนึกของมนุษย์
นี่ไม่ใช่วิถีของยักษ์ใหญ่ เป็นได้แค่ปลาใหญ่ที่ไม่น่าเคารพ
โฆษณา