26 มี.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุป 6 ข้อ วิเคราะห์บริษัท LTMH เจ้าของเพจลงทุนแมน ในมุมของ MONEY LAB

ในอีกไม่กี่วัน เรากำลังจะได้เห็นบริษัทหนึ่งเข้าตลาดหุ้นไทย โดยบริษัทนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจาก
“การเขียนบทความสนุก ๆ ลงบนเพจ Facebook”
บริษัทแห่งนี้เริ่มต้นเมื่อ 8 ปีก่อน จากความหลงใหลของชายหนุ่ม วัย 32 ปีคนหนึ่ง ที่หลงรักในการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกการลงทุน
เขาคนนี้ เริ่มจากการสร้างเพจ Facebook เล็ก ๆ ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน โดยมีบทความแรกเกี่ยวกับ หุ้นอาฟเตอร์ ยู
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เพจนี้ก็มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้ ยอดผู้ติดตามสูงกว่า 2,500,000 คนแล้ว..
เพจที่ว่า ก็คือ “ลงทุนแมน”
และบริษัทเจ้าของเพจนี้ ก็คือ บริษัท แอลทีเอ็มเอช จำกัด (มหาชน) หรือ LTMH
หากสงสัยว่า บริษัท LTMH ทำธุรกิจอะไร และผลประกอบการของบริษัท มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
บริษัท LTMH ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดย คุณธณัฐ เตชะเลิศ เป็นผู้มีความคลั่งไคล้ในเรื่องการลงทุนเป็นอย่างมาก
ปัจจุบัน LTMH เป็นเจ้าของเพจ Facebook ที่ทำคอนเทนต์ทั้งในสายการเงิน การตลาดและไลฟ์สไตล์ ชื่อดัง 6 เพจ ประกอบด้วย
- ลงทุนแมน
- MarketThink
- ลงทุนเกิร์ล
- BrandCase
- MONEY LAB
- Mao-Investor
1
และล่าสุดในปี 2567 ทุกเพจในเครือ มีจำนวนผู้ติดตาม ในทุกช่องทาง เช่น Facebook, YouTube, Instagram, X, TikTok และ Blockdit อยู่ที่ประมาณ 8.32 ล้านคน
สำหรับตอนนี้ LTMH ยังมีธุรกิจหลักอยู่ 2 ประเภท คือ
- ธุรกิจสื่อและแพลตฟอร์มสื่อ (ออนไลน์) ประกอบด้วย ธุรกิจสื่อออนไลน์, ธุรกิจแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ คือ “Blockdit” และธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์แบบครบวงจร ภายใต้แบรนด์ “LTMH Rocket”
- ธุรกิจออฟไลน์ ประกอบด้วย ธุรกิจจัดงานอิเวนต์ และธุรกิจการจำหน่ายหนังสือ
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้มีแผนการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ด้วยการผันตัว เข้าไปทำธุรกิจด้านการลงทุนและบริหารความมั่งคั่งแล้ว นั่นคือ
- เข้าไปลงทุนถือหุ้นใน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส หรือ บลจ.ทาลิส ที่มีธุรกิจจัดการลงทุน กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนรวม ในสัดส่วน 25%
- เริ่มทำธุรกิจเทคโนโลยีบริหารความมั่งคั่ง โดยได้จัดตั้งบริษัทใหม่ 2 บริษัทขึ้น คือ บริษัท เวลท์เอกซ์ แมเนจเมนต์ จำกัด และ บริษัท หลักทรัพย์ เวลท์เอกซ์ จำกัด
ทีนี้เราลองมาดูกันที่ตัวเลขผลประกอบการของ LTMH กันบ้างดีกว่า ว่ามีตรงไหนน่าสนใจบ้าง
1. การเติบโตของรายได้และกำไร
จากผลประกอบการของบริษัท งบเฉพาะกิจการ ในช่วง 3 ปีนี้ พบว่า LTMH มีรายได้และกำไร เติบโตขึ้นมาตลอด
ปี 2565 รายได้ 173 ล้านบาท กำไร 31 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 225 ล้านบาท กำไร 37 ล้านบาท
ปี 2567 รายได้ 232 ล้านบาท กำไร 40 ล้านบาท
(งบการเงินรวมปี 2567 กำไร 35 ล้านบาท)
2. อัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin
Gross Profit Margin หรือเรียกย่อ ๆ ว่า GPM เป็นสิ่งที่จะช่วยบอกเราว่า บริษัทมีความสามารถควบคุมต้นทุนในการทำธุรกิจ ได้ดีแค่ไหน
ถ้าอัตรากำไรขั้นต้น มีความสม่ำเสมอ หรือเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ก็หมายความว่า บริษัทควบคุมต้นทุนได้ดี
คำนวณหาโดย
[(รายได้จากการขาย - ต้นทุนการขาย) / รายได้] x 100%
ปี 2565 มี GPM 40.16%
ปี 2566 มี GPM 41.93%
ปี 2567 มี GPM 50.55%
หากสังเกตให้ดี ก็จะพบว่า 3 ปีที่ผ่านมา LTMH มีอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นมาตลอด
หมายความว่า บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนในการทำธุรกิจ ได้เป็นอย่างดี เมื่อรายได้เติบโตขึ้น แต่ต้นทุนกลับเติบโตขึ้นไม่มากนัก
3. หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ IBD/E
IBD/E คือเครื่องมือที่จะช่วยบอกเราว่า บริษัทมีความเสี่ยงในด้านหนี้สินมากแค่ไหน
โดยจะเป็นการดูเปรียบเทียบว่า บริษัทมีหนี้สินประเภทหนี้เงินกู้ อยู่มากแค่ไหน เมื่อเทียบกับ เงินในส่วนของผู้ถือหุ้น
บริษัทที่มีหนี้เงินกู้เยอะ เมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น จะถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่า บริษัทที่มีหนี้เงินกู้น้อย
คำนวณหาโดย
หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ปี 2565 มี IBD/E 0 เท่า
ปี 2566 มี IBD/E 0 เท่า
ปี 2567 มี IBD/E 0.2 เท่า
IBD/E เท่ากับ 0 เท่า หมายความว่า บริษัท LTMH ไม่มีหนี้สินประเภทเงินกู้เลย เพราะหนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทจะมาจากเจ้าหนี้การค้า และหนี้สินสัญญาเช่า
แต่ในปี 2567 ที่ IBD/E เพิ่มขึ้นมาเป็น 0.2 เท่า ก็เพราะว่า บริษัทได้มีหนี้สินเงินกู้ 28 ล้านบาท ซึ่งมาจากการที่บริษัทไปกู้เงินมา เพื่อเอามาลงทุนถือหุ้นใน บลจ.ทาลิส ในสัดส่วน 25%
4. วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle
คือสิ่งที่ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า บริษัทมีความสามารถในการบริหารสภาพคล่องการหมุนเวียนของเงินสด ดีหรือไม่
คำนวณหาโดย
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย + ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย - ระยะเวลาชำระคืนเจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย
ถ้าวงจรเงินสดของบริษัทสั้น ก็หมายความว่า สภาพคล่องของบริษัทดีมาก เพราะทำธุรกิจไปแล้ว เก็บเงินได้รวดเร็ว
ปี 2565 มี Cash Cycle เท่ากับ 17.86 วัน
ปี 2566 มี Cash Cycle เท่ากับ 5.04 วัน
ปี 2567 มี Cash Cycle เท่ากับ 12.44 วัน
ที่บริษัท LTMH มีวงจรเงินสดสั้นแบบนี้ เพราะธุรกิจของบริษัท คือการให้บริการโฆษณากับลูกค้า โดย LTMH เป็นเจ้าของเพจชื่อดัง ที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า
เมื่อลูกค้ามีความมั่นใจในบริการของบริษัทมาก จึงทำให้บริษัทใช้เวลาในการขายสินค้าให้กับลูกค้าไม่นานนัก
โดยในส่วนของระยะเวลาเรียกเก็บเงินจากลูกค้า บริษัท LTMH ก็ใช้เวลาแค่เพียงประมาณ 43 วัน ซึ่งถือว่าสั้นมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม
และพอมาดูในส่วนของระยะเวลาในการจ่ายคืนหนี้ คือค่าใช้จ่ายจำพวกซอฟต์แวร์ ที่บริษัทต้องจ่ายให้กับคู่ค้าซึ่งมีระยะเวลาการจ่ายหนี้เฉลี่ย นานกว่าระยะเวลาเก็บหนี้จากลูกหนี้
พอเป็นแบบนี้ ก็เลยทำให้วงจรเงินสดของบริษัทสั้น นั่นเอง
5. กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow
กระแสเงินสดอิสระ คือเงินสดที่คงเหลืออยู่ในบริษัท หลังจากที่ได้หักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำธุรกิจ ทุกอย่างไปหมดแล้ว
เงินสดเหล่านี้ บริษัทสามารถนำไปจ่ายเงินคืนหนี้เงินกู้, จ่ายเป็นปันผล หรือซื้อหุ้นคืนก็ได้
ถ้ากระแสเงินสดอิสระ เป็นบวกอย่างสม่ำเสมอ ก็เปรียบเสมือนว่า ธุรกิจของบริษัทเป็นเครื่องผลิตเงินสด ให้กับผู้ถือหุ้น
คำนวณหาโดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ปี 2565 มีกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน เท่ากับ 47 ล้านบาท
ปี 2566 มีกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน เท่ากับ 38 ล้านบาท
ปี 2567 มีกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน เท่ากับ 62 ล้านบาท
ปี 2565 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 40 ล้านบาท
ปี 2566 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 2 ล้านบาท
ปี 2567 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 16 ล้านบาท
ที่ผ่านมา LTMH มีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกตลอด โดยบางปี บริษัทอาจจะมีกระแสเงินสดอิสระ ลดน้อยลงมาบ้าง
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะว่า แม้เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท จะมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ในช่วง 2 ปีหลังสุด บริษัทมีรายจ่ายในการลงทุน เพื่อการเติบโตอยู่ จึงทำให้กระแสเงินสดอิสระที่บริษัททำได้ ดูน้อยลง
แต่หากว่า การลงทุนของบริษัท เป็นการลงทุนที่ถูกต้องจริง ๆ ในระยะยาว การลงทุนนี้ก็จะออกดอกออกผล ช่วยทำให้กระแสเงินสดอิสระในอนาคต เติบโตแบบก้าวกระโดดได้
6. CFROI
และสุดท้ายก็คือ CFROI หรือ Cash Flow Return on Investment เป็นสิ่งที่จะช่วยบอกเราว่า
จากเงินลงทุนทุกบาท ที่บริษัทจ่ายออกไป สุดท้ายแล้ว จะสร้างเป็นกระแสเงินสดกลับมา ได้คุ้มค่าหรือไม่
ถ้ามากกว่า 15% ถือว่าคุ้มค่า
แต่ถ้าน้อยกว่า 15% ก็ถือว่ายังไม่คุ้มค่า
คำนวณหาโดย
(เงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน / Invested Capital) x 100%
ปี 2565 มี CFROI เท่ากับ 310.15%
ปี 2566 มี CFROI เท่ากับ 74.27%
ปี 2567 มี CFROI เท่ากับ 43.63%
ที่ผ่านมา LTMH มี CFROI สูงมาก หมายความว่า ทุกบาททุกสตางค์ที่บริษัทจ่ายออกไป สามารถสร้างกระแสเงินสดกลับมา ได้คุ้มค่าเป็นอย่างมาก
นั่นเป็นเพราะ ธุรกิจหลักของ LTMH เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนในการทำธุรกิจมากนัก แต่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้เยอะ จึงทำให้บริษัทมี CFROI สูงมาก
แต่เราก็อาจจะตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมในปี 2566 และ 2567 บริษัทมี CFROI ลดน้อยลง ?
ที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะว่า ตัว Invested Capital ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น
โดย Invested Capital คำนวณหาจาก
ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด
ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ Invested Capital เพิ่มสูงขึ้น ก็มาจาก ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทได้มีการเพิ่มทุน ก่อนที่จะระดมทุนเข้าตลาดหุ้น
อีกทั้ง บริษัทได้เริ่มมีหนี้สินเงินกู้ เพื่อนำมาลงทุนถือหุ้นใน บลจ.ทาลิส และเงินสดของบริษัทก็ลดลงเล็กน้อย จากการที่บริษัทได้เริ่มมีการนำเงินไปลงทุนเพื่อการเติบโต
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราน่าจะเข้าใจที่มาที่ไป และความน่าสนใจของผลประกอบการ ของบริษัท LTMH กันดีขึ้นบ้างแล้ว
จากความหลงใหลในการเล่าเรื่องธุรกิจ ของคุณธณัฐ เตชะเลิศ จนได้สร้างเพจ “ลงทุนแมน” ขึ้น
จากเพจ “ลงทุนแมน” ก็มีเพจอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา จนทำให้เนื้อหาคอนเทนต์โดยรวมของทุกเพจในเครือ ครอบคลุมเรื่องราวทุกมิติ ในโลกธุรกิจได้
จากเพจเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นจากคนติดตามไม่มาก มาวันนี้ทุกเพจในเครือ มีคนติดตามรวมกันทุกช่องทาง มากกว่า 8.32 ล้านคน
กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ก็เชื่อว่า หนทางคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ บริษัท LTMH คงได้เจอบททดสอบมามากมาย ทั้งหนักและเบา
ในอีกแค่ไม่กี่วัน บริษัท LTMH ก็กำลังจะเข้าตลาดหุ้นไทย หากให้ลองคิดอีกมุมดู การได้เข้าตลาดหุ้นไทย อาจจะไม่ใช่จุดสูงสุดของบริษัท แต่อาจจะเป็นการเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ ที่มีจุดหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมก็ได้
ก็เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า หลังจากนี้ เมื่อ LTMH ได้เข้าตลาดหุ้นไทยแล้ว จะมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง
ความฝัน และความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้า ของบริษัทนี้ จะพาให้บริษัทกลายเป็นบริษัทแบบไหน ในอนาคต..
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#LTMH
References
- ไฟลิ่ง บริษัท แอลทีเอ็มเอช จำกัด (มหาชน)
- งบการเงิน บริษัท แอลทีเอ็มเอช จำกัด (มหาชน) ปี 2565-2567
โฆษณา