16 เม.ย. เวลา 16:00 • สิ่งแวดล้อม

‘ดักจับไอน้ำในอากาศ’ วิธีแก้ปัญหา ‘ขาดแคลนน้ำ’ สำหรับพื้นที่แห้งแล้ง-ไม่มีแหล่งน้ำ

“เครื่องมือดักจับไอน้ำในอากาศ” (Fog Harvesting) เป็นเทคนิครวบรวมละอองน้ำและส่งไปยังแหล่งกักเก็บ โดยการจับความชื้นจากหมอกและไอน้ำที่ผ่านเข้ามา ซึ่งอาจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับพื้นที่ที่แห้งแล้ง และไม่มีแหล่งน้ำสำรอง
ทะเลทรายอาตากามาของชิลีมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่า 5 มิลลิเมตรต่อปี และมีทรัพยากรน้ำจำกัดมาก ทำให้เมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำใต้ดิน เป้าหมายของการวิจัยนี้คือเพื่อดูว่าจะสามารถใช้การเก็บเกี่ยวหมอก ซึ่งเป็นระบบรวบรวมความชื้นในบรรยากาศบนแผงตาข่าย เพื่อช่วยลดความต้องการน้ำของพื้นที่เขตเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้หรือไม่
“เครื่องมือดักจับไอน้ำในอากาศ” มีลักษณะเป็นตาข่ายที่ขึงไว้ระหว่างเสา 2 ต้น เมื่อหมอกลอยเข้ามา ละอองน้ำขนาดเล็กจะเกาะติดกับตาข่าย จากนั้นจะไหลหยดลงไปในรางเก็บและไหลต่อไปยังถังเก็บ เนื่องจากการติดตั้งแบบนี้ไม่ต้องใช้พลังงานภายนอก จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลหรือไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี
1
นักวิจัยประเมินศักยภาพในการเก็บเกี่ยวหมอกในพื้นที่ขนาด 100 ตร.กม.ในเขตพื้นที่สูงได้ราว 0.2- 5 ลิตรต่อตารางเมตรต่อวัน แต่ในช่วงที่มีหมอกหนาแน่น เช่น เดือนสิงหาคมและกันยายน 2024 ผลผลิตที่ได้จะเพิ่มขึ้นถึง 10 ลิตรต่อตารางเมตรต่อวัน
แม้ว่าทีมจะเน้นย้ำว่าการเก็บเกี่ยวหมอกเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อย่างถาวร แต่พวกเขาเชื่อว่าการเก็บเกี่ยวหมอกสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์สำหรับการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของเมือง ร่วมกับวิธีอื่น ๆ
การใช้เครื่องมือดักจับไอน้ำในอากาศจะต้องคำนึกถึงปริมาณหมอกขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่เฉพาะเจาะจงหลายปัจจัย ได้แก่ ความหนาแน่นของหมอก รูปแบบลมที่เหมาะสม และภูมิประเทศที่สูงที่มีทิศทางที่ดี อีกทั้งหลายภูมิภาคยังมีหมอกแค่ตามฤดูกาลอีกด้วย
ปัจจุบัน เทคนิคเครื่องมือดักจับไอน้ำในอากาศถูกใช้ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโมร็อกโก กานา เอริเทรีย เอธิโอเปีย และแอฟริกาใต้ หรือแม้แต่ในแคลิฟอร์เนีย
#กรุงเทพธุรกิจ #InsightforOpportunities #กรุงเทพธุรกิจSustain #กรุงเทพธุรกิจEnvironment
โฆษณา