26 มี.ค. เวลา 00:38 • ท่องเที่ยว

26 มีนาคม วันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติและที่มาของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นั้นเป็นมาอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ‘พระเกี้ยว’ ‘สีชมพู’ และ ‘ต้นจามจุรี
พระเกี้ยว
พระเกี้ยวเป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์
สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยที่ได้รับพระราชทานเพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งได้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ประจำรัชกาลของพระองค์ และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนมหาดเล็กอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียน และต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน จนกระทั่งได้สถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสืบต่อมา
สีชมพู
เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว .. ครั้นเมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งแรกระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2477 ..
.. คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ จึงเสนอและพิจารณาสีที่ใช้ในการแข่งขันเป็นสีชมพู ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร จึงได้อัญเชิญสีประจำพระองค์เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยตลอดมา
ต้นจามจุรี
ต้นจามจุรี มีความผูกพันกับชาวจุฬาฯ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยวัฏจักรของมันที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจุฬาฯ ในระบบไตรภาค
กล่าวคือในภาคต้นของการศึกษา จะมีสีเขียวชอุ่มสดชื่น เสมือนนิสิตปี 1 ที่เริงร่าสนุกสนานกับการเป็นน้องใหม่
เมื่อเวลาผ่านไปในภาคกลาง จามจุรีจะออกดอกสีชมพู ซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย พร้อมกับเป็นช่วงเวลาที่นิสิตจัดกิจกรรมสร้างเสริมความสามัคคีหลายอย่าง
และช่วงเวลาที่ทั้งใบและฝักแก่ร่วงหล่นเมื่อเข้าภาคเรียนที่สาม จึงเป็นการย้ำเตือนให้นิสิตเตรียมตัวในการสอบประจำปี
ชาวจุฬาฯ จึงยึดถือต้นจามจุรีเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยและเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมักเรียกกันว่าจามจุรีสีชมพู หรือจามจุรีศรีจุฬาฯ
credit : ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “พระเกี้ยว” คู่มือทำความรู้จักจุฬาฯ มีให้บริการอยู่ที่ห้องเอกสารจดหมายเหตุ ชั้น 15 อาคารบรมราชกุมารี
โฆษณา