26 มี.ค. เวลา 02:40 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

I Am Not Madame Bovary (อย่าคิดหลอกเจ้)

โชคดีที่ราชินีผมขาวไม่มา ว่าด้วยศิลปะการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
เชื่อว่าหลายคนดูหนังเรื่องนี้แล้ว สำหรับผมแล้วมันคือหนังที่ชอบที่สุดของเฝิง เสี่ยวกัง ผู้กำกับรุ่นที่ 6 (ที่ปัจจุบันไม่มีรุ่นแล้ว) ซึ่งน่าเสียดายที่ว่าทั้งฟาน ปิง ปิง และเฝิง เสี่ยวกังโดนพิษคดีหนีภาษีทำให้เงียบหายไปนาน แม้ว่าปีที่ผ่านมา ฟานปิง ปิง จะกลับคืนจอเงินด้วยการไปเล่นหนังในมาเลเซียก็ตาม ส่วนเฝิง เสี่ยวกังก็ยังไม่มีงานใหม่ออกมาเลย นอกจากไปเล่นหนังฮาจิโกะที่ดัดแปลงมาจากเจ้าหมากตัญญูของญี่ปุ่น โดยแกเล่นเป็นศาสตราจารย์เจ้าของหมา
I Am Not Madame Bovary เป็นงานที่ดูแล้วลืมไม่ลง มีแง่มุมให้คิด ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นความเฉียบ ของทั้งเรื่องและฝีมือกำกับ โดยที่นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่งที่พยายามทวงคืนความยุติธรรมหลังจากถูกระบบและบุคคลรอบข้างทำลายชีวิต แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ จาก"มุมมอง" คนนอก แต่สำหรับเธอ มันใหญ่ยิ่ง และสะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องของระบบทางการในประเทศจีน
เรื่องราวเริ่มต้นจากการที่นางหลี สั่วเหลียนและสามีตกลงที่จะหย่ากันเพียงเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น การได้อพาร์ทเมนต์ใหม่ โดยถือว่าเป็นการหย่าที่ "เก๊ๆ" หรือหย่าที่ไม่ได้จริงจัง แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็คือสามีของเธอกลับไปหย่าจริง ๆ และแต่งงานใหม่ ซึ่งทำให้นางหลี สั่วเหลียนต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายที่ซับซ้อน การฟ้องร้องเพื่อขอให้ศาลยืนยันว่าการหย่า คือ การหย่าแบบหลอกลวงจึงเริ่มต้นขึ้น
ปัญหาคือทุกหลักฐานที่เกี่ยวกับการหย่าคือของจริง จึงไม่สามารถทำอะไรได้ตามกฎหมาย นางหลี สั่วเหลียนจึงต้องออกเดินทางจากอำเภอไปยังมณฑล เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่กลับพบว่าทุกคนที่เธอพบต่างไม่สามารถช่วยอะไรได้ ความรู้สึกของเธอที่ถูกทอดทิ้งและถูกปฏิเสธจากระบบทำให้เรื่องเล็ก ๆ กลายเป็นความยิ่งใหญ่ และเธอตัดสินใจที่จะไปฟ้องร้องถึงพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่ง เพื่อหวังจะหาความยุติธรรม
I Am Not Madame Bovary จึงเป็นการเปิดเผยถึงความไม่เป็นธรรมของระบบราชการจีน นี่คือการสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างคนธรรมดากับระบบที่ไร้มนุษยธรรม ซึ่งไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์และความถูกต้อง
ในหนังมีฉากหนึ่งที่เด่นมากๆ คือ บรรดาข้าราชการมีนายก นายอำเภอ หัวหน้าศาลมาปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดีไม่ให้นางหลี สั่วเหลียนฟ้องร้องอีก ไม่เช่นนั้นแล้วขาเก้าอี้พวกเขาหลุดกระเด็นแน่ๆ แล้วก็เปรียบเปรยว่าแค่รับมือหลี สั่วเหลียนคนเดียวก็แย่แล้ว แต่นี่มันเหมือนต้องรับมือกับ พานจินเหลียน รวมกับโต่วเอ๋ออีกด้วย ซึ่งทั้งสองตัวนี่คือตัวละครในวรรณกรรมและนิทานพื้นบ้านของจีน
จากการเสียดสีระบบราชการและการเปรียบเทียบกับตัวละครในวรรณกรรมจีน เช่น พานจินเหลียนและโต่วเอ๋อ ที่ถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรมในสังคมก็สะท้อนถึงการเป็น "เหยื่อ" ของระบบที่ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นผู้ร้ายไปในที่สุด แทนที่จะได้รับการช่วยเหลือหรือการแก้ไขจากระบบที่ควรจะปกป้องสิทธิ์ของประชาชน
การพูดถึง "พานจินเหลียน"และ "โต่วเอ๋อ" จึงไม่ใช่แค่การอ้างอิงถึงตัวละครในนิทานหรือวรรณกรรมจีนเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสียดสีและเปรียบเปรยถึงการต่อสู้ของนางเอกในเรื่องกับระบบราชการที่ทุจริตและไม่ยุติธรรม
พานจินเหลียนเป็นตัวละครจากวรรณกรรมจีนคลาสสิกเรื่อง Water Margin (ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน) ซึ่งเป็นหญิงสาวที่ถูกมองว่าเป็นผู้หญิงชั่วร้ายจากการที่เธอมีความสัมพันธ์กับชายอื่นและวางยาฆ่าสามีของตัวเอง ตัวละครนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของหญิงที่ถูกตราหน้าว่า "ชั่วร้าย" ในวัฒนธรรมจีน เป็นเรื่องของระบบความคิดของจีนที่ใช้แทนสตรีที่มีเรื่องอื้อฉาวสองใจ เหมือนนางวันทองของไทย ในมุมหนึ่งพานจินเหลียนไม่ใช่คนดีก็จริง แต่การเอาชื่อเธอไปเหมารวมแทนชื่อเรียกขานผู้หญิงแบบนี้ มันก็เหมือนเธอเป็นผู้ถูกกระทำเช่นกัน
การกระทำของนางหลี สั่วเหลียนที่ต้องการความยุติธรรมและการฟ้องร้องขอคืนศักดิ์ศรีจากการหย่าร้างที่ถูกโกหกและทำลายชีวิตของเธอ การตราหน้าว่าเธอคือพานจินเหลียนราวกับว่าเธอเป็นผู้ที่กระทำผิดทั้งที่ความจริงเป็นเพียงการต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง จึงกลายเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ระบบกล่าวหาว่าเป็น "ตัวร้าย" เพียงเพราะต้องการทวงคืนความยุติธรรม
ในขณะที่พานจินเหลียนถูกมองเป็น "หญิงชั่ว" ในมุมมองของสังคม โต่วเอ๋อ (จากนิทานพื้นบ้านจีน) เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน และเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับการกดขี่จากระบบข้าราชการที่ทุจริตในสังคม ในเรื่องของโต่วเอ๋อ แม้เธอจะไม่ได้กระทำผิดใด ๆ แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งและถูกจับไปสารภาพในสิ่งที่เธอไม่ได้ทำ ในขณะที่ก่อนตายเธอก็ได้กล่าวคำอาฆาตและขอให้หิมะตกกลางฤดูร้อน ซึ่งหิมะก็ตกจริง ๆ หลังจากที่เธอเสียชีวิต
ตัวละครของหลีสั่วเหลียนก็มีลักษณะคล้ายกับโต่วเอ๋อ ทั้งการต่อสู้กับระบบที่ไม่ยุติธรรมและการพยายามทวงคืนสิทธิของตนเองจากความโหดร้ายของการทำลายชีวิตจากการหย่าร้างแบบเก๊ ๆ ซึ่งคล้ายกับการถูกกลั่นแกล้งในกรณีของโต่วเอ๋อ เรื่องของเธอจึงกลายเป็นความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่ระหว่างปัจเจกกับระบบ
ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงธีมหลักของหนังที่เกี่ยวกับการต่อสู้ของปัจเจกกับระบบที่ไร้มนุษยธรรม และการที่ผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายเพียงเพราะการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
และในฉากเดียวกันในกลุ่มข้าราชการที่มาสุมหัวกันนั้นมีคนหนึ่งพูดออกมาว่า ว่า ดีนะที่นางพญาผมขาวไม่มาด้วย
ฉากนี้เล่นเอาผมกลั้นหัวเราะไม่ได้เลย แต่ฉากนี้โคตรคมคาย เพราะใช้วัฒนธรรมมาเล่าเพื่อเสียดสีว่าระบบทำร้ายคนได้อย่างแนบเนียนด้วยกลไกอะไร
ฉากที่พูดถึง "ดีนะที่นางพญาผมขาวไม่มาด้วย" มันอาจจะมองเป็นแค่การเล่นมุกขำ ๆ ที่เน้นความเกินจริง แต่บริบทของเรื่องราวคือ นางหลี สั่วเหลียนกำลังจะทำให้ระบบราชการเดือดร้อน เพราะแค่พานจินเหลียนและโต่วเอ๋อก็ยากรับมือแล้ว ซึ่งเป็นตัวละครในนิทานที่มีชื่อเสียงเรื่องความยากลำบากและการแก้แค้น และบอกว่าถ้าเกิดนางพญาผมขาวมาด้วยล่ะก็ หมายถึงพวกเขาคงจะต้องรับมือกับเรื่องที่หนักกว่าเดิม
การกล่าวถึง "นางพญาผมขาว" จึงเป็นการพูดถึงตัวละครที่มีความยิ่งใหญ่และสามารถสร้างปัญหาที่ยากจะรับมือได้มากกว่าพานจินเหลียนและโต่วเอ๋อรวมกัน เพราะนางพญาผมขาวเป็นสัญลักษณ์ของ ผู้หญิงที่ถูกระบบกดขี่จนกลายเป็นคนโหดเหี้ยม (ผมขาวจากความแค้น)
ในบริบทของหนังการพูดถึงเธอเป็นการเปรียบเปรยว่า "หากผู้หญิงที่ถูกระบบข่มเหงจนสุดโต่งแบบนี้ เรื่องจะยิ่งยุ่งยากไปใหญ่"
ในบริบทนี้ บทสนทนาที่บอกว่าโชคดีที่ราชินีผมขาวไม่มา เป็นการแสดงความ โล่งใจที่ปัญหาไม่ลุกลามไปถึงขั้นวิกฤต เป็นการเสียดสีว่า ระบบราชการมักแก้ปัญหาโดย
"กลัวผลกระทบ" มากกว่า "แก้ที่ต้นเหตุ"
โฆษณา