27 มี.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Stage Analysis อ่านแนวโน้ม และเข้าใจ วัฏจักรราคาหุ้น ด้วยเส้นค่าเฉลี่ยเส้นเดียว

นอกจากการเลือกหุ้นดีและวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างรอบคอบแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เข้าใจแนวโน้มราคาหุ้น
เพราะต่อให้เลือกหุ้นดี แต่หากเข้าผิดจังหวะ อาจต้องรอนานกว่าราคาจะขยับขึ้น และที่แย่กว่านั้นคือ การถือแล้วไม่ขาย จนกำไรที่เคยมีหายไปหมด
ซึ่งถ้าเราลงทุนแล้วประสบปัญหานี้ ก็มีหนึ่งแนวคิดที่สามารถช่วยให้เรารู้แนวโน้มของหุ้นได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้เพียงเส้นค่าเฉลี่ยเส้นเดียว
ก็สามารถบอกได้แล้วว่า หุ้นอยู่ในช่วงไหนของวัฏจักรราคา เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจว่า เมื่อไรควรซื้อ และเมื่อไรควรขาย
แนวคิดที่ว่านั้นก็คือ “Stage Analysis”
1
แล้วแนวคิดนี้จะช่วยให้เรารู้แนวโน้มหุ้นได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
แนวคิด Stage Analysis พัฒนาโดยคุณ Stan Weinstein นำเสนอผ่านหนังสือ Secrets for Profiting in Bull and Bear Markets ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี 1988
1
แนวคิดนี้มาจากการสังเกตว่าหุ้นและตลาดโดยรวม มีวัฏจักรราคาเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงมีพฤติกรรมเฉพาะตัวที่สามารถใช้เป็นแนวทางกำหนดจังหวะซื้อขายได้
โดย Stage Analysis แบ่งวัฏจักรราคาเป็น 4 ช่วงหลัก
- Stage 1 ช่วงสร้างฐานสะสม
- Stage 2 ช่วงแนวโน้มขาขึ้น
- Stage 3 ช่วงพักตัวหรือจุดสูงสุด
- Stage 4 ช่วงแนวโน้มขาลง
1
โดยการแยกวัฏจักรราคาแต่ละช่วงออกจากกัน คุณ Weinstein จะสังเกตจากเส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์เป็นหลัก
โดยเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ Moving Average (MA) เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคสำคัญที่ใช้วิเคราะห์แนวโน้มราคา
คำนวณง่าย ๆ จากราคาปิดย้อนหลัง นำมาบวกรวมกัน แล้วหารตามจำนวนวันตามช่วงเวลานั้น
เช่น ค่าเฉลี่ย 10 วัน ก็นำราคาปิดย้อนหลัง 10 วัน มารวมกันแล้วหารด้วย 10 จากนั้นนำค่าที่ได้ในแต่ละวัน มาเรียงต่อกันเป็นเส้นกราฟ
โดยการวิเคราะห์ตามแนวคิดนี้จะใช้เส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์เป็นหลัก ซึ่งก็เทียบเท่ากับเส้นค่าเฉลี่ย 150 วัน
เพราะโดยปกติแล้วตลาดจะเปิดซื้อขาย 5 วันทำการต่อสัปดาห์ นั่นเท่ากับว่า 30 สัปดาห์ ตลาดจะเปิดทำการประมาณ 150 วันนั่นเอง
เมื่อเข้าใจพื้นฐานของเส้นค่าเฉลี่ยแล้ว กลับมาที่แนวคิด Stage Analysis กันต่อ เริ่มจาก
- Stage 1 ช่วงสร้างฐานสะสม
เป็นช่วงที่หุ้นเคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทางในกรอบแคบ ๆ ระหว่างแนวรับ-แนวต้าน หรือที่มักเรียกกันว่า Sideways
โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นหลังจากการจบรอบขาลงแล้ว
จุดสังเกตสำคัญของช่วงนี้คือ เส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์ เริ่มแบนราบ ราคาหุ้นเคลื่อนไหวแกว่งไปมา ทั้งเหนือและใต้เส้นค่าเฉลี่ย และมีปริมาณการซื้อขายที่อยู่ในระดับต่ำ
สิ่งที่ควรทำในช่วงนี้คือ ทำการบ้านคัดเลือกหุ้น และสังเกตปริมาณการซื้อขาย
เพราะปริมาณการซื้อขาย มักจะเพิ่มขึ้นก่อนหุ้นปรับตัวทะลุแนวต้านทำจุดสูงสุดใหม่ ซึ่งการที่ราคาหุ้นทะลุแนวต้าน พร้อมปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น ก็คือการ Breakout ที่เทรดเดอร์คุ้นเคยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หากราคาหุ้นทะลุแนวต้าน ด้วยปริมาณการซื้อขายที่น้อย มักจะเป็นสัญญาณหลอก
เพราะแปลว่าไม่มีแรงสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่ หรือนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจซื้อสูงและสามารถผลักดันราคาให้เกิดเป็นแนวโน้มขาขึ้นได้
ตามแนวคิดนี้เราไม่ควรรีบซื้อหุ้นในช่วงนี้ ควรรอซื้อเมื่อเข้าสู่ Stage ต่อไปเท่านั้น
1
- Stage 2 ช่วงแนวโน้มขาขึ้น
เป็นช่วงที่หุ้นเริ่มมีแนวโน้มขาขึ้นอย่างชัดเจน จากการที่
ราคาทะลุแนวต้านด้านบน พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สามารถสังเกตได้จากเส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์เริ่มชันขึ้น และราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญว่าหุ้นกำลังเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้น
นิยามของแนวโน้มขาขึ้นคือ การที่ราคาหุ้นทำจุดสูงสุด ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และตอนปรับตัวลงมา จุดต่ำสุดก็ยกสูงขึ้นด้วย
สิ่งที่ควรทำในช่วงนี้คือ การซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาทะลุแนวต้านขึ้นมาพร้อมปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น และถือไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ราคาหุ้นยังไม่หลุดต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์
อย่างไรก็ตามช่วงปลายของช่วงนี้จะเริ่มเห็นแรงขาย ทำกำไร และราคาหุ้นที่มีความผันผวนสูง
- Stage 3 ช่วงพักตัวหรือจุดสูงสุด
เป็นช่วงที่หุ้นเริ่มแกว่งตัวออกด้านข้าง หลังจากปรับตัวขึ้นมานานในช่วงก่อนหน้า
ราคาหุ้นอาจจะยังปรับตัวขึ้นและทำจุดสูงสุดใหม่ได้ แต่สัญญาณที่ต้องจับตาคือ ปริมาณการซื้อขายที่ลดลง ในวันที่ราคาปรับตัวขึ้น ซึ่งแสดงถึงแรงซื้อที่เริ่มอ่อนแรง
ตรงนี้สามารถสังเกตได้จากเส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์ ที่มีความชันลดลงและเริ่มแบนราบ สะท้อนว่า หุ้นกำลังอยู่ในช่วงพักตัว
อย่างไรก็ตาม ช่วงพักตัวนี้อาจใช้เวลานานเป็นเดือน หรือหลายเดือน ก่อนที่ราคาจะเลือกทาง
สิ่งที่ควรทำในช่วงนี้คือ เฝ้าสังเกตว่า มีสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้มหรือไม่ จาก 2 สัญญาณ
1. มีแรงซื้อเพิ่มเข้ามา ทำให้หุ้นขึ้นเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้น หรือกลับไปเป็น Stage 2 อีกครั้ง
2. มีแรงขายเพิ่มเข้ามา และราคาหุ้นหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์ พร้อมปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น
ตรงนี้เราสามารถใช้จุดนี้เป็นจุดขายทำกำไรได้ หลักการนี้เรียกว่าการทำ Trailing Stop นั่นเอง
เพราะการที่แนวโน้มราคาหุ้นเป็นแบบนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าหุ้นกำลังเข้าสู่ Stage สุดท้าย
- Stage 4 ช่วงแนวโน้มขาลง
เป็นช่วงที่หุ้นเริ่มเข้าสู่ขาลงอย่างชัดเจน ราคาหุ้นปรับตัวลงแรง พร้อมปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น
สามารถสังเกตได้จากเส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์ ที่มีความชันหักหัวลง และถึงแม้ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นหลังจากนั้น แต่ก็จะไม่สามารถกลับไปยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยได้อีก
สิ่งที่ควรทำในช่วงนี้คือ หลีกเลี่ยงการถือหุ้น เพราะราคาหุ้นมักปรับตัวลงแรง และหากยังมีหุ้นอยู่ก็ควรหาจังหวะขาย
เพราะเมื่อเข้าสู่แนวโน้มขาลงแล้ว หุ้นบางตัวอาจใช้เวลา หลายเดือน หรือหลายปีกว่าจะกลับมาเข้าสู่ Stage 1 และเริ่มต้นรอบวัฏจักรใหม่อีกครั้ง
1
อย่างไรก็ตาม หากมีความเชี่ยวชาญในการลงทุน เราสามารถทำกำไรในตลาดขาลง อย่างการ Short Sell ได้ด้วย
โดย Short Sell คือการยืมหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์มาขายก่อน และเมื่อหุ้นที่เราขาย ราคาปรับตัวลงตามที่เราคาดการณ์ ก็ค่อยซื้อหุ้นกลับไปคืนในราคาที่ต่ำกว่า
แล้วทำกำไรจากส่วนต่างราคาระหว่างราคาที่เราขายไปตอนแรก กับราคาที่เราซื้อคืนในภายหลัง
สรุปแนวคิด Stage Analysis สั้น ๆ และแต่ละ Stage เราควรทำอะไรอีกครั้ง
- Stage 1 เส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์เริ่มแบน และราคาหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบ ให้รอดูทิศทางและคัดเลือกหุ้นที่มีโอกาส Breakout
- Stage 2 เส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์ชันขึ้น และราคาหุ้นอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย เป็นช่วงที่ควรซื้อหุ้น และถือจนกว่าจะเปลี่ยนแนวโน้ม
- Stage 3 เส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์เริ่มแบนอีกครั้ง และราคาหุ้นผันผวนมากขึ้น เป็นช่วงเฝ้าระวังแรงขาย และทยอยลดพอร์ต
- Stage 4 เส้นค่าเฉลี่ย 30 สัปดาห์หักหัวลง และราคาหุ้นเคลื่อนไหวใต้เส้นค่าเฉลี่ย เป็นช่วงที่ไม่ควรถือหุ้น
สรุปแล้วเราจะทำการบ้านเมื่อ Stage 1 ซื้อเมื่อหุ้นเข้าสู่ Stage 2 ขายเมื่อ Stage 3 และอยู่เฉย ๆ ใน Stage 4 นั่นเอง
สำหรับใครที่เคยศึกษาการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาบ้าง อาจจะคุ้นเคยกับแนวคิดนี้ เพราะหลักการของ Stage Analysis มีความคล้ายคลึงกับ Dow Theory และ Wyckoff Method
ที่เน้นการอ่านวัฏจักรราคาและพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาด ในแต่ละช่วงเวลา
แม้ว่า Stage Analysis อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จ ที่การันตีผลลัพธ์ 100% แต่หากเราทำการบ้านมาอย่างดี และใช้แนวคิดนี้อย่างเหมาะสม
ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการซื้อผิดจังหวะ ทำให้การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#StageAnalysis
โฆษณา