26 มี.ค. เวลา 12:00 • คริปโทเคอร์เรนซี

Bitcoin กำลังจะเป็น ‘ทองคำดิจิทัล’ หรือแค่กระแสที่น่าตื่นเต้นบนโซเชียลมีเดีย

ข้อสรุปที่มาจากเนื้อหาจริงของรายงาน BPM7
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ มีข่าวว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เพิ่ม Bitcoin ในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ผลิตขึ้นโดยผ่านมติการประชุมจาก 160 ประเทศทั่วโลก และได้ระบุไว้ในคู่มือดุลการชำระเงินฉบับใหม่ (BPM7) ทำให้เกิดกระแสฮือฮาและทำ Bitcoin ขยับขึ้นมานิดนึงจากฐาน 85,000 USD/BTC
Max Keiser นักลงทุนและผู้สนับสนุน Bitcoin ตัวยงก็ร่วมให้ความเห็นผ่าน X โดยระบุว่า “IMF เพิ่งยอมรับ Bitcoin เป็นทองคำดิจิทัลโดยพฤตินัย แหล่งข่าวยืนยันว่า IMF กำลังเพิ่ม Bitcoin เข้าไปในทุนสำรอง และจะรวม BTC ไว้ในตะกร้า SDR ในเร็ว ๆ นี้”
หรือบางคนก็เฮ ว่า Bitcoin กำลังจะกลายมาเป็น “ทองคำดิจิทัลหรือเปล่า” แต่เดี๋ยวก่อน…
Bitcoinist ระบุว่า “หากพิจารณารายงานความยาว 1,076 หน้าอย่างละเอียด จะพบว่าการกล่าวอ้างเหล่านี้มาจากการตีความถ้อยคำของ IMF ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสินทรัพย์คริปโตฯ
ตามคำกล่าวของ Dennis Porter ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Satoshi Act Fund ข่าวลือเหล่านี้เกิดจากข้อความที่อธิบายถึง “สินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน หรือทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บมูลค่า”
Porter ชี้ว่าเป็น “การตีความนี้เกินจริงอย่างมาก – ผมได้ตรวจสอบแล้วว่าทำไมคนถึงบอกว่า IMF กล่าวว่า Bitcoin เป็นทองคำดิจิทัล […] แต่นี่เป็นการตีความที่ก้าวกระโดดเกินไป คำสำคัญคือ ‘ถูกออกแบบมาเพื่อเป็น.. (designed to be)’ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า IMF กำลังตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการรับรอง Bitcoin ในฐานะทองคำดิจิทัล” Porter เขียนบน X
อีกทั้งคำว่า Bitcoin ถูกกล่าวถึงเพียง 5 ครั้งในรายงานทั้งหมด โดยคู่มือ BPM7 ระบุว่า
“สินทรัพย์คริปโตฯ เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีภาระหนี้สินผูกพัน (without counterpart liability) และถูกออกแบบมาเพื่อเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน เช่น Bitcoin จะถูกจัดเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต และบันทึกแยกในบัญชีทุน (capital account) ส่วนสินทรัพย์ที่มีหนี้สินตรงกันจะถูกจัดเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน”
กล่าวคือ การจัดหมวดหมู่นี้ทำให้ Bitcoin ถูกพิจารณาให้เป็นทรัพย์สินหรือสินค้าโภคภัณฑ์ มากกว่าที่จะถูกมองว่าเป็นทองคำดิจิทัล รายงานยังกล่าวถึง Bitcoin ควบคู่ไปกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น เช่น Stablecoins และ NFTs เพื่ออธิบายวิธีการบันทึกและติดตามสินทรัพย์เหล่านี้ในบัญชีระหว่างประเทศ
ส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า “Bitcoin หนึ่งเหรียญเท่ากับ Bitcoin อีกเหรียญ และสามารถแบ่งออกเป็นหน่วยย่อยได้เท่า ๆ กัน” ซึ่งเน้นไปที่คุณสมบัติของ Bitcoin ในแง่ของความสามารถในการแลกเปลี่ยน (fungibility) มากกว่าที่จะเปรียบเป็นโลหะมีค่า
อีกช่วงหนึ่งของรายงานชี้ว่า “สินทรัพย์ดิจิทัลใหม่อาจถูกใช้เป็นวิธีการชำระเงินหรือเป็นแหล่งเก็บมูลค่า” แต่ไม่ได้ยกระดับ Bitcoin ให้เป็นสินทรัพย์สำรองทางการเงินอย่างเป็นทางการ และที่สำคัญ ไม่มีส่วนใดในรายงานที่ระบุว่า IMF จะเพิ่ม Bitcoin เข้าไปในทุนสำรองหรือในตะกร้า SDR
IMF แค่จัดประเภท ไม่ใช่การให้การรับรอง
แนวทางใหม่ของ IMF สะท้อนถึงความจำเป็นที่ต้องจัดประเภทและบันทึกการไหลเวียนของคริปโตข้ามพรมแดนอย่างแม่นยำมากขึ้น โดยเน้นว่า Bitcoin เป็น "สินทรัพย์ที่ไม่ได้ผลิตขึ้นและไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน" หรือ Non-produced Non Financial Assets คู่มือฉบับนี้จึงยอมรับถึงบทบาทที่เป็นเอกลักษณ์ของสกุลเงินดิจิทัลแบบกระจายอำนาจ รวมถึงความสำคัญของการติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจของมัน
1
อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างว่า IMF ได้ยก Bitcoin ให้เป็น “ทองคำดิจิทัล” ดูเหมือนจะเป็นเพียงกระแสตื่นเต้นบนโซเชียลมีเดีย มากกว่าข้อสรุปที่มาจากเนื้อหาจริงของรายงาน
⚠️ ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาความเสี่ยงก่อนลงทุน
#aomMONEY #Bitcoin #IMF #ข่าว #คริปโต
โฆษณา