27 มี.ค. เวลา 01:00 • ข่าว

เปิดงบคนไทยรักษาพยาบาลผ่านสิทธิ์ไหน?

ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและสังคมสูงวัย ประเทศไทยกำลังเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในการบริหารจัดการ “งบประมาณสุขภาพ” ที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทยที่มี “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการวางรากฐาน “ความยั่งยืน” ให้กับระบบสุขภาพของประเทศ
ข้อมูลเชิงลึกบ่งชี้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทย มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% ต่อปี ขณะที่ GDP เติบโตเฉลี่ยไม่ถึง 3 % ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการทบทวนและปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการงบประมาณสุขภาพอย่างเร่งด่วน
โดยจะมีการพิจารณาระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลไปพร้อมกันทั้ง 6 ระบบ คือ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจริงๆต้องรวมรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ เพื่อปรับปรุงระบบค่ารักษาพยาบาลให้มีความมั่นคงยั่งยืนสอดคล้องกับกับมาตรฐานสากล
1
ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลสูงกว่าGDP
"นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะเลขานุการร่วมคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุขและสํานักงานประกันสังคม ให้สัมภาษณ์“กรุงเทพธุรกิจ” ว่า
คณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกันโดยไม่ได้มองแค่การลดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมองถึงการสร้างความมั่นคนทางด้านสุขภาพ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศ
อย่างไรก็ตาม เรายอมรับว่าการเติบโตของค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า GDP เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ภาพรวมงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในปี 2567 รัฐบาลใช้งบประมาณไป 3.4 แสนล้านบาทคิดเป็นประมาณ 10% ของงบประมาณทั้งหมด กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง)ปี2568 งบ 236,386.5211ล้านบาท ดูแล 47.157 ล้านคนเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 3,856.08 บาท เพิ่มขึ้น 383.84 บาท จากปี2567 ขณะที่ประกันสังคมกว่า 12 ล้านคน 4,900 บาทต่อคนต่อปี สิทธิข้าราชการ เหมาจ่ายรายหัว 18,000 บาทต่อคนต่อปี สิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12,000 บาทต่อคนต่อปี
1
"จริงๆแล้วยังมีระบบของรัฐวิสาหกิจ 52 รัฐวิสาหกิจ มีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 15,359 ล้านบาทและองค์การมหาชน ที่ต้องพิจารณาค่าสวัสดิการรักษาพยาบาลด้วย เพื่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งงบประมาณครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ถูกนำมาใช้ในการซื้อยา โดยสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 เป็นการซื้อยาตามชื่อทางการค้า หากมีการปรับใช้ชื่อสามัญทั้งระบบ ลดการซื้อยาตามชื่อทางการค้าได้ประมาณ 20% ก็จะช่วยประหยัดงบได้ถึง 2-5 พันล้านบาท "เลขาธิการ สปสช. กล่าว
1
📌 ปัจจัย“ลบ”ต่อความยั่งยืนระบบสุขภาพ
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร(Aging Population) ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว (Complete Aged Society) โดยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลุ่มนี้มักป่วยด้วยโรคเรื้อรังและต้องการการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์(Medical Advancements)การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในระบบสุขภาพ ทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลดีขึ้นแต่ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูง
3.โรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อ(Chronic and Non-communicable Diseases: NCDs)โรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคหัวใจ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งต้องการการรักษาระยะยาว เพิ่มต้นทุนการดูแลสุขภาพอย่างมาก
4.การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์(Pharmaceutical and Supply Costs)โดยเฉพาะยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
5. การขยายสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ(Expansion of Health Coverage) รัฐบาลมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ครอบคลุมมากขึ้น แม้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต อาจเกิดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น(Overutilization)
6. ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานด้านการแพทย์(Healthcare Supply-Demand Imbalance) จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์และทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ
7. การเลือกใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนสิทธิการรักษาพยาบาลบางอย่างให้สิทธิกับประชาชนสามารถใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้ ซึ่งมีแนวโน้มเลือกใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนที่มีเทคโนโลยีสูง ทำให้รัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในบางกรณี
1
8. ความไม่เพียงพอของมาตรการป้องกันโรคและการให้ความรู้ด้านสุขภาพยังไม่เพียงพอทำให้ประชากรเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่สามารถป้องกันได้
9. บริการสาธารณสุขที่มีคุณค่าต่ำในระบบสุขภาพ(Low value care in Healthcare system) เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น พบว่าบางหัตถการ/การให้บริการสาธารณสุขที่มีอยู่ในระบบไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือเกิดประโยชน์เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ไม่มีความคุ้มค่าต่อค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป
1
📌 “ฮับไบโอเทค”สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นนอกเหนือจากการควบคุมค่าใช้จ่ายทางด้านยาแล้ว ยังต้องมองไปถึงการวางรากฐาน “ความยั่งยืน” ให้กับระบบสุขภาพของประเทศ และโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค โดยมีเป้าหมายในการดึงดูดบริษัทต่างชาติให้มาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศไทย และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการไทยอีกด้วย
1
ขณะเดียวกันรัฐบาลควรมีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์และยา เพื่อสร้างนวัตกรรมและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค สร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
“จริงๆแล้วรัฐบาลไม่ได้มองแค่การลดค่าใช้จ่าย แต่มองถึงการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆการพัฒนาอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค เมื่อมีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศได้”
ชง 8 มาตรการเข้าครม.
โดยเร็วนี้ๆ คณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย จะเสนอแนวทางการสร้าง
ความยั่งยืนของระบบสุขภาพให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และมีมติให้ดำเนินการ ใน 8 มาตรการหลัก ได้แก่
  • ปรับปรุงระบบงบประมาณ: วางแผนงบประมาณให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และควบคุมการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรร โดยที่ไม่ต้องของบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมภายหลัง
  • ส่งเสริมการใช้ยาสามัญ: ลดการใช้ยาแบรนด์เนม และส่งเสริมการใช้ยาสามัญที่มีคุณภาพ
1
  • เจรจาต่อรองราคายา: เจรจาต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์กับบริษัทยา เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม
  • ส่งเสริมการผลิตยาในประเทศ: ลดการนำเข้ายา และส่งเสริมการผลิตยาในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางยา ด้วยการดึงบริษัทยาในต่างประเทศมาตั้งโรงงานผลิตในเมืองไทยแล้วให้ transfer technology ให้ด้วย
  • ปรับปรุงระบบสวัสดิการ: ปรับรูปแบบสวัสดิการให้ตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่นข้าราชการยุคใหม่อาจจะไม่อยากได้เงินค่ารักษาพยาบาล อยากได้เงินเดือนสูงขึ้น หรืออยากได้สวัสดิการด้านสุขภาพ เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพ และลดค่าใช้จ่ายรักษาด้านการรักษาพยาบาลลงได้ในอนาคต
  • ใช้มาตรการภาษี: ใช้มาตรการภาษีเพื่อควบคุมพฤติกรรมการบริโภคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่นเก็บภาษีสินค้าสุขภาพช่วยทำให้คนบริโภคลดลง
  • ส่งเสริมการป้องกันโรค: ลงทุนในการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ เพื่อลดการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล “P&P (Prevention and Promotion) เช่นอาจจะทำเหมือนในสิงคโปร์ เแจกนาฬิกาให้นับก้าว เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพ เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา
  • สร้างกลไกความร่วมมือ: สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ส่งเสริมให้ดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืนจะนำไปสู่การลดรายจ่ายทางด้านสุขภาพลงได้
1
โฆษณา