Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
26 มี.ค. เวลา 23:54 • ท่องเที่ยว
ตึกบัญชาการจุฬาฯ ที่ไม่ได้สร้าง
ในโอกาสวันนี้ เป็นวันดี 108 ปี Happy Birthday 9 รอบนักษัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่รัก เลยมาชวนดูแบบสถาปัตยกรรมกันเล่น ๆ เป็นของแปลกแต่สนุก คือ แบบตึกบัญชาการ อาคารแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไทย ที่ทำโดยช่างฝรั่ง
ตึกบัญชาการ (ถ้าใครเคยมา คือ ตึกมหาจุฬาลงกรณ์ ตั้งอยู่ด้านหลังหอประชุม) เป็นอาคารที่ทำการหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งความเป็นมาคร่าว ๆ คณะกรรมการอำนวยการฯ ในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้สถาปนิกฝรั่ง สองคนออกแบบประกวดกัย คือ นายคาร์ล ดอห์ริ่ง (Karl Döhring) ชาวเยอรมัน สังกัดกระทรวงมหาดไทย (ผลงานเช่น วังบ้านปืน วังบางขุนพรหม ฯลฯ) และ นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey) สังกัดกระทรวงธรรมการ (ผลงานเช่น หอสวดวชิราวุธ สยามสมาคม ฯลฯ)
ซึ่งเรื่องราวมันก็จะมีอยู่ว่า ตอนแรกสองคนก็ทำเป็นแบบฝรั่ง ตอนหลังก็โปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นแบบไทย ให้สองคนไปเที่ยวสุโขทัย เที่ยวโบราณสถานดูตัวอย่าง ฯลฯ และสุดท้าย แบบของเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ ชนะ และเป็นแบบที่ทุกคนน่าจะคุ้นตา คือแบบที่มีหอระฆังแบบวัดพระแก้ว และเป็นแบบที่ถูกสร้างดังปรากฏในปัจจุบัน
ซึ่งเราจะไม่พูดถึงวันนี้ เพราะมีการกล่าวถึง จัดนิทรรศการ ทำหนังสือต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยอย่างมากมายแล้ว ครั้งนี้เราจึงมาชวนชม แบบไทยอีกแบบ ของ คาร์ล ดอห์ริ่งกัน ซึ่งที่ผ่านมาน่าจะเคยเห็นผ่านตาแบบเป็นภาพเล็กๆ เป็นปรางค์สามยอด พอดีว่า เมื่อปี 2563 หอประวัติจุฬา ได้นำต้นฉบับมาจัดแสดง ซึ่งแอดมินก็ได้ถ่ายรูปแบบชัด ๆ เต็มตา ไว้ วันนี้จึงนำมาให้ชม และชวนดูรายละเอียดการออกแบบที่น่าสนุก ๆ กัน
คาร์ล ดอห์ริ่ง เป็นสถาปนิกชาวเยอรมัน ที่น่าสนใจคนนึงเลย เพราะเขามีงานเขียน ที่เป็นการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมไทยไว้ด้วย โดยเขาทำการศึกษาทั้ง อุโบสถ วิหาร เจดีย์ ส่วนนี้เลยอาจจะทำให้เขามีความหลากในการออกแบบตึกบัญชาการครั้งนี้มาก
.. แบบสถาปัตยกรรม มีอยู่ 2 แผ่น เป็นรูปด้านหน้า และรูปตัด เป็นปรางค์สามยอด ซึ่งพอเทียบดูขนาดคือ บอกได้ว่าใหญ่มากก (ข้อมูลจากรูปตัด คือ ฐานสูง 1.5 เมตร ตึกชั้น 1 สูง 5.25 เมตร ชั้น 2 ระเบียง สูง 4.5 เมตร ห้องข้างใน สูง 6.25 เมตร รวม 2 ชั้น คือ 9 - 10 เมตร ปรางค์ยอดกลาง เทียบประมาณการเบาๆ ก็สูงสัก 72 - 73 เมตร ยอดข้าง 50 เมตร อาคารยาวประมาณ 200 เมตร แบบสุดจัด เมกะโปรเจกต์มาก เทียบพระที่นั่งอนันตสมาคม สูง 49.50 เมตร)
ส่วนการใช้สอย สันนิษฐานประกอบกับแบบตะวันตกที่เคยออกแบบก่อนหน้า เข้าใจว่า ปรางค์ยอดกลางนี้น่าจะเป็น หอประชุมของมหาวิทยาลัย ทางซ้ายและขวามีอาคารอีกสองกลุ่ม มียอดปรางค์รองลงมา เหมือนกันอยู่ซ้ายขวา น่าจะเป็นห้องทำงาน และห้องบรรยายต่าง ๆ
ยอดกลาง ดอห์ริ่ง ออกแบบเป็นอาคารจตุรมุขยอดปรางค์ ขนาดใหญ่มาก ๆ ความเก๋แรก คือ เป็นจั่วเปิด แต่ตรงกลางมีซุ้มประตูยอดปราสาท ที่ขนาดใหญ่มาก เท่าตึก 8 ชั้น (ซุ้มนี้ วัดเทียบสเกลแล้ว สูงประมาณ 25 เมตร) ข้างในช่องประตูนี้
ดอห์ริ่งเลยต้องมาแบ่งออกเป็น 2 ช่อง ภายในแบบอาคารตะวันตก (เป็น 'Gigantic order' ซุ้มปราสาทยอด) ช่องบนทำเหมือนเป็นกระจก ส่วนช่องล่างเป็นประตูเข้าชั้น 1 (แอดว่า ปริมาตรฟีลทำนองวัดสระบัว ซุ้มประตูใหญ่ๆ แต่ X100 ไปเลย) ส่วนประตูข้างที่แคบลง ดอห์ริ่งเลยคัด ยกเอามาแต่ส่วนองค์ระฆังลอย ๆ ซึ่งก็เป็นของแปลก ดูใกล้ ๆ รูปแบบคล้ายเจดีย์ทรงเครื่อง เหนือกรอบประตู ช่องทุกช่องในมุขประธานนี้ ดอห์ริ่งใส่สาหร่ายรวงผึ้งหมดทุกช่องเลย (ซึ่งปกติ ไทยส่วนใหญ่จะใส่กับช่องกลางเท่านั้น)
ด้านบนยอดปรางค์ก็แปลกอีก ดอห์ริ่งทำปรางค์ที่รองรับด้วย 'หลังคา 8 เหลี่ยม' มิติพิศวงมาก แต่ถ้าดูการเขียนแบบ (ดูตรงการจบหลังคา) จะทราบว่านี้คือ 8 เหลี่ยมแน่ ๆ แล้วใต้ช่องหน้าต่าง ดอห์ริ่งก็ทำเหมือนค้ำยันของระเบียงฝรั่ง มารับซุ้มบัญชรไทยอีกด้วย ส่วนด้านบนก็เป็นปรางค์ไทยประเพณีปรกติ (ไม่แน่การทำทรงแปดเหลี่ยม อาจจะสัมพันธ์กับฟังก์ชั่นภายใน ซึ่ง ดอห์ริ่งออกแบบหอประชุมเป็นวงกลม (ในแบบครั้งที่ 1 ก่อนหน้า)
ยอดข้าง ๆ เสียดายเราไม่มีแบบด้านข้าง จึงเห็นแต่ยอดบนสุด ซึ่งก็แปลกเหมือนยอดกลางเลย แต่ลดสเกลลง คือ ก็รองรับด้วยหลังคา 8 เหลี่ยม เหมือนกัน (นึกภาพ หลังคาป้อมพระสุเมรุ ป้อมมหากาฬก็ได้ แล้วต่อด้วยยอดปรางค์) มิติพิศวงอีกแล้ว
ส่วนอื่นๆนั้น รูปแบบก็คล้ายแบบของฮีลี่ย์เลย คือ เป็นอาคารไทย 2 ชั้น ส่วนองค์ประกอบผังบริเวณ ดอห์ริ่งใช้องค์ประกอบหลากมากอีกเช่นกัน ทั้ง สิงโตจีน พนมหมาก แบบฐานไพทีปราสาทพระเทพบิดร และหัวเม็ดรูปซ้อน ๆ ซึ่งพบในบางวัดในกรุงรัตนโกสินทร์ (ถ้าสร้างจริง บัณฑิตจุฬาฯ จะมี landmark ถ่ายรูปที่มากกว่าพญานาคเยอะเลยทีนี้)
สุดท้าย กล่าวถึงการออกแบบโจทย์นี้ก็ไม่ใช่โจทย์ง่าย เพราะการทำอาคารขนาดใหญ่ขนาดนี้ รวมถึงการใช้สอย ในรูปแบบ มหาวิทยาลัย ก็ไม่ใช่รูปแบบที่มีมาก่อนของไทย สถาปนิกจึงต้องงัดความคิดสร้างสรรค์ออกมาเพื่อตอบโจทย์ใหม่ๆ
สำหรับดอห์ริ่ง ซึ่งคร่ำหวอดในการศึกษา เที่ยวดูวัดในประเทศไทย จึงมีผลงานออกมาเป็นลูกผสมที่หลากมาก และแปลกไปจากขนบช่างไทย พอสมควร ถ้าสร้างจริง อาคารนี้คงเป็นอาคารใหญ่หลังนึงของประวัติศาสตร์ไทยเลย อย่างไรก็ตาม แบบนี้เป็นแบบในฝัน และมีแค่ 2 แผ่นนี้ การศึกษา สันนิษฐานรูปแบบจึงทำได้ยากอยู่ เลยนำมาฝากกันสนุก ๆ เป็นของขวัญในวันเกิดมหาลัยปีนี้ครับ (ในอนาคตหากมีโอกาส แอดมินอาจจะขึ้น 3D สันนิษฐานอาคารหลังนี้ มาให้ชมกัน)
ทีมแอดมิน
เม้าตึก THE REVIVAL
Ref :
https://m.facebook.com/groups/429224380754014/permalink/2519373565072408/
?
บันทึก
4
1
1
4
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย