Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bangkok Bank SME
•
ติดตาม
29 มี.ค. เวลา 08:00 • ธุรกิจ
How to Handle Family Disputes in Business: แก้ปัญหาขัดแย้งโดยไม่กระทบธุรกิจ
➡️ ความท้าทายของธุรกิจครอบครัว
ธุรกิจครอบครัวถือเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย มีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ มีการกระจายตัวอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ไปจนถึงบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า ประเทศไทยมีธุรกิจครอบครัวที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 1,526 บริษัท คิดเป็น 77.58% ของบริษัททั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจครอบครัวจะมีจำนวนมากในประเทศไทย แต่อัตราความสำเร็จในการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น กลับมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีเพียง 30% ของธุรกิจครอบครัว ที่สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 2 ได้สำเร็จ และสถิติยิ่งลดลงเมื่อพิจารณาการส่งต่อไปยังรุ่นที่ 3 และ 4 โดยมีเพียง 12% และ 3% ตามลำดับ ซึ่งสถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายอย่างมากสำหรับธุรกิจกงสี ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “ฟู่ปู๋กั้วซานไต้” (“富不过三代” ) ซึ่งแปลว่า ความมั่งคั่งมักอยู่ไม่เกิน 3 ชั่วคน
ความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว ถือเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง เนื่องจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจและครอบครัวมักเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก การตัดสินใจทางธุรกิจอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ในทางกลับกัน ปัญหาส่วนตัวก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน อย่างไรก็ตาม ด้วยการวางแผนที่ดีและการใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสม ความขัดแย้งเหล่านี้สามารถถูกจัดการได้ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
➡️ สาเหตุหลักของความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว
การเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งเป็นก้าวแรกในการแก้ไขปัญหา และปัจจัยหลักๆที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวไทย ได้แก่:
🔵 ความแตกต่างของมุมมองและค่านิยมระหว่างรุ่น
สมาชิกครอบครัวต่างรุ่นมักมีมุมมองและวิธีการทำงานแตกต่างกัน โดยผลการศึกษาของ PWC พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของธุรกิจครอบครัวเคยมีการโต้เถียงกันเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของธุรกิจ
🔵 บทบาทและความรับผิดชอบที่ไม่ชัดเจน
ธุรกิจครอบครัวหลายแห่งไม่มีโครงสร้างการบริหาร (Corporate Structure) ที่ชัดเจน ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่สมาชิกในครอบครัวมักมีหลายบทบาทในธุรกิจ—พ่อแม่ พี่น้อง ผู้จัดการ หรือพนักงาน ย่อมทำให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง จนนำไปสู่การแย่งชิงอำนาจในการตัดสินใจ และความรับผิดชอบในที่สุด
https://www.valueaddedcoaching.com/importance-of-family-governance-structure.html
🔵 ข้อขัดแย้งทางการเงินและค่าตอบแทน
ข้อพิพาทเกี่ยวกับเงิน เช่น ค่าตอบแทน การแบ่งปันผลกำไร หรือการกระจายความเป็นเจ้าของ เป็นเรื่องปกติในธุรกิจครอบครัว สมาชิกในครอบครัวอาจรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมสำหรับงานของพวกเขา หรือไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับวิธีการนำผลกำไรกลับมาลงทุนในธุรกิจแทนที่จะกระจายระหว่างเจ้าของ
🔵 ขาดวิธีการจัดการกับความขัดแย้งภายในครอบครัว
ผลการศึกษาของ PWC พบว่า กว่า 70% ของธุรกิจครอบครัว ไม่มีแนวทางในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัวที่ชัดเจน และมักนำมาสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในภายหลัง
https://www.pwc.com/th/en/services/EPB/family-business-survey-2023-th.html
➡️ กลยุทธ์ในการแก้ไขความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว
เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น การเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมจะช่วยบรรเทาปัญหาและป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบ ต่อธุรกิจ ซึ่งมีแนวทางที่ทำได้ดังต่อไปนี้:
1. การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
การสื่อสารที่เปิดกว้างและตรงไปตรงมาเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้ง ธุรกิจครอบครัวควรจัดให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สมาชิกทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและรับฟังมุมมองที่แตกต่าง
2. การกำหนดบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจน
ความไม่ชัดเจนในบทบาทและความรับผิดชอบเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง การกำหนดโครงสร้างองค์กรและคำอธิบายลักษณะงานที่ชัดเจนจะช่วยลดความสับสนและความขัดแย้งได้
3. การใช้ที่ปรึกษาหรือบุคคลที่สามเป็นตัวกลาง
บางครั้งความขัดแย้งอาจรุนแรงเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ภายในครอบครัว การใช้บุคคลภายนอกที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. การกำหนดโครงสร้างธุรกิจและการบริหารที่เป็นระบบ
การมีโครงสร้างการบริหารและกระบวนการตัดสินใจที่ชัดเจน เป็นระบบ จะช่วยลดความขัดแย้งและเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ นอกจากนี้ ธุรกิจครอบครัวยังควรที่จะ พัฒนาระบบการรายงานและการติดตามผลการดำเนินงานที่โปร่งใสและเป็นธรรมอีกด้วย
5. จัดทำธรรมนูญครอบครัว
การจัดทำธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution หรือ Family Charter) ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดกระบวนการจัดการที่เป็นรูปธรรม สร้างความชัดเจนและป้องกันปัญหาในอนาคต โดยธรรมนูญครอบครัวจะครอบคลุมประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ สิทธิและหน้าที่ แผนการสืบทอดธุรกิจ นโยบายการจ้างงาน การจัดสรรผลประโยชน์ ตลอดจนจะต้องมีการอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
https://www.thefbcg.com/resource/getting-on-the-same-page-family-constitution-can-benefit-your-family-enterprise/
➡️ วิธีป้องกันความขัดแย้งในอนาคต
การวางแผนล่วงหน้าและการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งจะช่วยป้องกันความขัดแย้งในอนาคตได้ และต่อไปนี้คือกลยุทธ์ที่ธุรกิจครอบครัวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้:
🔵 การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมความโปร่งใสและเป็นธรรม
ควรจัดให้มีช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง เข้าถึงได้ง่าย และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยไม่เกรงกลัวผลกระทบ
🔵 การกำหนดเป้าหมายและค่านิยมร่วมกันของครอบครัว
ระบุค่านิยมหลักที่ทุกคนในครอบครัวสามารถยึดถือและนำมาใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ และมีการจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจกันในครอบครัว
🔵 การใช้เครื่องมือบริหารความขัดแย้ง
ฝึกอบรมสมาชิกครอบครัวในเรื่องการจัดการความขัดแย้งและการเจรจาต่อรอง เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารและการแก้ไขปัญหา
➡️ กรณีศึกษา: เครือเซ็นทรัลกรุ๊ป
“เครือเซ็นทรัลกรุ๊ป” เป็นตัวอย่างของธุรกิจครอบครัว ที่ประสบความสำเร็จในการสืบทอดธุรกิจข้ามรุ่น โดยผู้บริหารของตระกูล “จิราธิวัฒน์” ยุคปัจจุบันอยู่ในรุ่นที่ 3 กำลังรับช่วงต่อในการขับเคลื่อนอาณาจักรธุรกิจมูลค่าหลายแสนล้านบาท ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และอสังหาริมทรัพย์ ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในปัจจุบัน
🔵 กลยุทธ์ที่นำมาใช้:
1. การแบ่งบทบาทที่ชัดเจน: สมาชิกครอบครัวในรุ่นที่สองและสามได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจในส่วนที่แตกต่างกันตามความสนใจและความเชี่ยวชาญ
2. การจัดตั้งสภาครอบครัว: สภาครอบครัว (Family Council) ถูกใช้เป็นเวทีในการพูดคุยและตัดสินใจในประเด็นสำคัญ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ ดูแลด้านสวัสดิการแก่สมาชิก ตั้งแต่ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปจนถึงจัดกิจกรรมให้สมาชิก มีโอกาสมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอย่างสม่ำเสมอ
https://www.brandbuffet.in.th/2019/09/story-of-family-council-central-group/
3. การสร้าง “ธรรมนูญครอบครัว” (Family Constitution) : ธรรมนูญครอบครัว คือ หลักยึดสำคัญที่สมาชิกทั้ง 5 เจเนอเรชัน กว่า 200 ชีวิต จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากสมาชิกคนใดฝ่าฝืนก็จะถูกตัดสิทธิและไม่ได้รับสวัสดิการของตระกูล
4. การว่าจ้างผู้บริหารมืออาชีพ: นำผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกมาร่วมบริหารงานในตำแหน่งสำคัญ
5. การพัฒนาทายาท: มีการวางแผนและพัฒนาทายาทอย่างเป็นระบบ ให้โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็น นอกจากนี้ ครอบครัวจิราธิวัฒน์ยังมุ่งเน้นการปลูกฝังให้ทายาทมีความรักใคร่สามัคคีกัน ตั้งใจทำงาน และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
➡️ บทเรียนสำหรับ SME:
■
การเตรียมความพร้อม: ไม่ว่าธุรกิจจะมีขนาดเล็กเพียงใด การวางแผนการสืบทอดธุรกิจและการจัดการความขัดแย้งควรเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ
■
สร้างระบบที่ชัดเจน: ควรมีโครงสร้างการบริหารและการตัดสินใจที่ชัดเจน
■
แสวงหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ: อย่าลังเลที่จะขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อน
■
สร้างสมดุลระหว่างครอบครัวและธุรกิจ: ให้ความสำคัญกับทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัวและผลประกอบการทางธุรกิจ
➡️ สรุปและแนวทางการนำไปปฏิบัติ
การรักษาความรัก ความสามัคคีของคนในครอบครัวให้อยู่ยืนยาวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเรื่องธุรกิจ เงินทองและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หากมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถแก้ไขความขัดแย้งและรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกได้
เหนือสิ่งอื่นใด หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวนั้น คือ การสร้างสมดุลที่ดี ระหว่างการรักษาความรักความอบอุ่นของสมาชิก ไปพร้อมๆกับการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ ก็จะช่วยให้การส่งต่อ Legacy ของธุรกิจครอบครัวเป็นไปได้อย่างราบรื่น มีความเป็นมืออาชีพ และมีโอกาสในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป
อ้างอิง
●
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing_trends/2779431
●
https://www.live-platforms.com/th/education/article/308-how-to-write-family-constitution/
●
https://www.pwc.com/m1/en/assets/document/family-business-docs/understanding-family-dynamics-and-family-conflicts.pdf
●
https://www.bangkokbiznews.com/world/1154858
●
https://www.familybusinessusa.com/understanding-conflict-family-businesses/
●
PricewaterhouseCoopers. (2021). Global Family Business Survey 2021: Thailand Report.
https://www.brandbuffet.in.th/2019/09/story-of-family-council-central-group/
ธุรกิจ
เศรษฐกิจ
ความรู้
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย