Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คาลอส บุญสุภา
•
ติดตาม
27 มี.ค. เวลา 08:32 • ปรัชญา
อารมณ์ไม่ได้หายไปไหน แค่รอวันที่จะระเบิด: ทำความเข้าใจและยอมรับอารมณ์ให้ได้ทั้งหมด
ตลอดชีวิตของผมเจอผู้คนมากมายที่ยิ้มแย้ม หัวเราะง่าย อารมณ์ดี แต่ก็มีอีกภาพหนึ่งที่ซึมเศร้า นิ่งเฉย จนกระทั่งระเบิดออกมาเป็นอารมณ์โกรธออกมาแบบแปลกประหลาด ในช่วงเวลานั้นผมสับสนกับสิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่ในวันนี้มีประสบการณ์ชีวิตและความรู้ในระดับหนึ่งที่พอจะเข้าใจว่า "อารมณ์ไม่มีทางถูกเก็บไว้ได้ ยิ่งเก็บเอาไว้ มันจะพยายามหาทางออกมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง"
เพราะอารมณ์ที่เราเก็บซ่อนไว้แท้จริงแล้วมักไม่หายไปตามกาลเวลายิ่งนานเข้ายิ่งเป็นภาระต่อจิตใจและอาจจะระเบิดออกมาได้ เมื่อถูกกระตุ้นหรือมีการแสดงออกทางปฏิกิริยาของร่างกาย เพียงความเครียดปวดท้องเวียนหัวหรืออื่นที่เลวร้ายกว่านั้น นี้แหละคือการแสดงออกของมัน
ผมจะขออธิบายกลไกของมันอีกเล็กน้อย อารมณ์ด้านลบที่ถูกซ่อนไว้เป็นเวลานาน ไม่ได้หายไปเหมือนการปล่อยควันกลางอากาศ ตรงกันข้ามมันมักแปรสภาพเป็นภาระทางจิตใจที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ หากเปรียบเทียบกับลูกบอลชายหาด เมื่อเรากดมันไว้ใต้น้ำ มันยิ่งสร้างแรงต้าน หากเราปล่อยมันเมื่อไหร่ ลูกบอลก็จะดีดตัวขึ้นมาอย่างรุนแรง
อารมณ์ด้านลบที่ถูกกดไว้ก็คล้าย ๆ กัน คืออาจระเบิดออกมาเมื่อถูกกระตุ้นด้วยเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจ หรือแสดงออกมาในรูปของความเครียด ปวดท้อง เวียนศีรษะ หรือแม้แต่อาการที่เลวร้ายกว่านั้น
ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เรากำลังนั่งทานข้าวกับคนที่มาเดท แต่เขากลับเล่นมือถือโดยไม่สนใจเรา เหมือนทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีตัวตน หรือถูกมองข้าม ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจเป็นความน้อยใจ ผิดหวัง โกรธ หรือเสียความรู้สึก หากเราไม่แสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกในขณะนั้น ความอึดอัดหรือความโกรธอาจถูกกดทับไว้ และเมื่อเวลาผ่านไป สภาวะนี้อาจปะทุออกมาในรูปแบบที่รุนแรงจนอีกฝ่ายตกใจ หรือกลายเป็นปัญหาใหญ่กว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม เรามีสิทธิ์ที่จะรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจเมื่อเราถูกปฏิบัติอย่างไม่เคารพ (สิทธิ์ในอารมณ์ของเรา คือการยอมรับว่า "ฉันโกรธได้ และมันไม่ผิด") สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารอย่างเหมาะสม กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการเคารพทั้งตัวเองและอีกฝ่ายหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องเก็บหรือกดอารมณ์ไว้จนกระทั่ง "ระเบิด" และกลายเป็นปัญหาบานปลาย
ดังนั้นอุดมคติก็คือเราควรจะยอมรับอารมณ์ให้ได้ทั้งหมดภาษาอังกฤษเรียกว่า "Radical Acceptence" หมายถึงการยอมรับได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเรื่องดี เรื่องร้าย หรือเรื่องอะไรก็ตาม เราก็ยอมรับว่ามันก็แค่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น ในชีวิตของเราย่อมเจอเหตุการณ์ที่รบกวนจิตใจ ไม่อยากที่จะยอมรับมัน และอยากที่จะปฏิเสธสิ่งนั้น หากเราไม่ยอมรับเหตุการณ์ในฐานะคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะหาวิธีเดินต่อไปข้างหน้าได้การยอมรับความจริงจึงเป็นจุดเริ่มต้นของหนทางที่จะก้าวเดินต่อไป
ในกรณีของตัวอย่างก็คือ การยอมรับอารมณ์ของตนเอง และสื่อสารออกไปแบบตรงไปตรงมาว่า "คุณไม่ควรเล่นมือถือใรขณะนี้นะ" หรืออาจจะใช้ศิลปะในการสื่อสารเพิ่มเติมเช่น "ถ้าคุณลดการเล่นมือถือ คุณจะเหลือแบตเอาไว้นะ" มันจะดีเสียกว่าการอดกลั้นอารมณ์ของตนเองเอาไว้ และหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาออกไป
ในมุมมองของ Radical Acceptance หรือ การยอมรับทุกอย่างอย่างสุดขั้ว ซึ่งมักถูกกล่าวถึงในแนวปฏิบัติทางจิตบำบัดสมัยใหม่ เช่น Dialectical Behavior Therapy – DBT การยอมรับว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้น “เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้น” โดยไม่พยายามปฏิเสธหรือกดทับ เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้คนเราหาวิธีแก้ปัญหาและเดินหน้าต่อไปได้ เพราะเมื่อเรามองเห็นและยอมรับสภาพความเป็นจริงเช่นนั้นแล้ว สมองก็จะหันไปหาวิธีปรับตัวหรือเยียวยาตนเองแทนที่จะหมดพลังงานไปกับการต่อต้านหรือฝืนความจริง
การยอมรับทุกอย่างอย่างสุดขั้ว (Radical Acceptance) ไม่ได้หมายถึงการยอมแพ้หรือปล่อยตัวปล่อยใจให้จมอยู่กับความทุกข์ แต่เป็นการ “เปิดใจยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริง” เพื่อจะได้มีจุดเริ่มต้นในการหาทางแก้ไขหรือพัฒนาตนเอง
หากเรายังไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจริง เราก็จะยึดติดอยู่กับความคับข้องใจหรือความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถก้าวต่อไปสู่การแก้ไขสถานการณ์ได้ เมื่อยอมรับ เราจะเริ่มเห็นขอบเขตของปัญหา และสามารถวางแผนจัดการกับอารมณ์หรือตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ
อ้างอิง
Hayes, S. C., Strosahl, K. D., & Wilson, K. G. (1999). Acceptance and commitment therapy. The Guilford Press.
Maté, G., & Maté, D. (2022). The myth of normal: Trauma, illness, and healing in a toxic culture. Avery.
พัฒนาตัวเอง
แนวคิด
ปรัชญา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย