27 มี.ค. เวลา 08:43 • ธุรกิจ

บทเรียนธุรกิจ ของคุณเบียร์ ใบหยก ทำร้าน PABLO Cheesetart รายได้ วันละล้าน แต่ไม่มีกำไร

-PABLO Cheesetart เป็นแบรนด์ร้านขนมชื่อดังจากญี่ปุ่น โดยคนที่เอาแฟรนไชส์ร้านนี้เข้ามาในไทยในตอนแรก คือ คุณเบียร์ ใบหยก หรือ คุณปิยะเลิศ ใบหยก
-เมื่อวานนี้คุณเบียร์ ได้ออกมาเขียนเล่าในเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยเบื้องหลังการทำธุรกิจขนมหวาน PABLO Cheesetart ที่เคยเอาเข้ามาเปิดในไทย
-ใจความที่น่าสนใจคือ ในช่วงหนึ่ง PABLO Cheesetart สามารถทำรายได้ใน 1 สาขา มากถึงวันละล้าน ซึ่งเป็นยอดขายต่อ 1 สาขาที่เยอะที่สุดในชีวิตของคุณเบียร์
แต่ปัญหาที่เจอคือ ยอดขายเยอะมาก แต่กลับไม่มีกำไรเลย
-ย้อนกลับไปในปี 2554 คุณเบียร์-ปิยะเลิศ ใบหยก ทายาทตระกูลใบหยก ได้ก่อตั้งบริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด (PDS) ขึ้นมา เพื่อดำเนินธุรกิจด้านอาหารและขนมญี่ปุ่น โดยเน้นกลยุทธ์การนำเข้าแฟรนไชส์ชื่อดังเข้ามาเปิดในไทย
-ในปี 2559 คุณเบียร์ ได้เดินทางไปถึงโอซากา เพื่อเจรจากับ CEO ของ PABLO Cheesetart โดยตรง ซึ่งตอนนั้นเป็นหนึ่งในแบรนด์ขนมที่ดังที่สุดของที่นั่น
-หลังจากเซ็นสัญญา คุณเบียร์ ก็เลือกทำเลเปิดร้านแรกที่ Siam Paragon และได้ทำเลที่ดีที่สุดของห้าง นั่นคือ เปิดประตูห้างมาเจอร้าน PABLO Cheesetart ทันที
-แต่กว่าจะเปิดร้านได้ ก็ต้องเจออุปสรรคใหญ่ 2 อย่าง คือ
1. วัตถุดิบแทบทั้งหมดเกือบ 100% ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น เพราะ PABLO Cheesetart สาขาในไทย คือสาขาแรกที่เปิดนอกญี่ปุ่น ทำให้ต้นทุนสูงกว่าที่คาดไว้มาก เลยทำให้ต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะตัดสินใจตั้งราคา
สุดท้ายก็ตั้งราคาทาร์ตขนาดใหญ่ไว้ที่ 370 บาท และขนาดเล็กที่ 75 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาขนมที่ค่อนข้างสูงในตอนนั้น
2. ช่วงก่อนเปิดร้านเพียง 14 วัน เกิดเหตุการณ์สำคัญคือการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ทั้งประเทศอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ ไม่มีใครทำการตลาดหรือโปรโมตอะไรเลย แผนการตลาดทั้งหมดที่วางไว้จึงต้องหยุดชะงักไปหมด
-แต่หลังจากผ่านช่วงเวลานั้นไป คนเริ่มกลับมาใช้งานโซเชียลมีเดียอีกครั้ง
และแบรนด์ PABLO Cheesetart ก็กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์แรก ๆ ที่ดารา เซเลบ และอินฟลูเอนเซอร์ เริ่มกลับมาลงรูปกันเต็มฟีด
-แม้เปิดร้านท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ผลตอบรับกลับถล่มทลาย จนเกิดเป็นกระแสชีสทาร์ตในไทยอยู่ช่วงหนึ่ง
วันแรกขายได้ 600,000 บาท และช่วงพีกที่สุด ขายได้สูงสุดถึง 1.3 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งเป็นยอดขายต่อ 1 สาขา ที่เยอะที่สุดในชีวิตของคุณเบียร์ แต่ปัญหาคือ ไม่มีกำไรเลย
-ที่เป็นแบบนี้ คุณเบียร์เล่าว่า เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบแบบ Air Freight คือขนส่งทางอากาศ เพื่อให้ทันความต้องการ ทำให้ต้นทุนพุ่งกระฉูด
นอกจากนี้ยังมีค่าเช่าร้านที่สูงถึงหลักล้านบาทต่อเดือน บวกกับค่าโอทีของพนักงานที่มีเกือบ 40 คน
รวมไปถึง ค่าก่อสร้างร้าน และอุปกรณ์ในร้าน เช่น เครื่องอบ ที่ราคาแพงกว่ารถ Porsche Cayenne (ประมาณ 7 ล้านบาท+) ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นต้นทุนที่กินส่วนแบ่งจากยอดขาย
-อีกทั้งเงื่อนไขของทางผู้ให้เช่าที่ มีกฎว่าทางศูนย์การค้าจะเป็นผู้เก็บเงินจากลูกค้าก่อนทั้งหมด แล้วค่อยโอนกลับมาให้ร้านในภายหลัง ซึ่งอาจใช้เวลาราว 1 เดือนเต็ม
นั่นหมายความว่า ต้องเตรียมเงินสดไว้หมุนเวียน อย่างน้อย 2 เดือน
1
-สรุปคือขายได้ เกือบ 30 ล้านบาทในเดือนเดียว แต่ไม่เหลือกำไรเลย
-​​หลังจากนั้น คุณเบียร์ จึงเริ่มหาทางจัดการต้นทุนใหม่ เช่น การวางแผนการนำเข้า และการกระจายต้นทุนจากการขยายสาขา จนทำให้ธุรกิจเริ่มมีกำไร
-​​แต่ในที่สุด ปี 2562 คุณเบียร์ ก็ตัดสินใจขายกิจการ PDS Holding ที่เป็นเจ้าของ PABLO Cheesetart ให้กับบริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA
อย่างไรก็ตาม ต่อมา PABLO Cheesetart ก็ปิดกิจการอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
-​​คุณเบียร์ ได้ฝากข้อคิดสำคัญถึงทุกคนที่ทำธุรกิจไว้ว่า “อย่าลงทุนเยอะเกินไป อย่าคิดแต่ในแง่ดี ให้เผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันด้วย ที่สำคัญคือ ต้องมีเงินสดสำรองไว้เสมอ ลงทุนน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อยขยับขยายเมื่อธุรกิจเริ่มไปได้ดี”
-สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจไม่ใช่แค่ยอดขาย แต่ต้องควบคุมต้นทุน และกระแสเงินสด (Cash Flow) ให้ได้ดีด้วย..
โฆษณา