31 มี.ค. เวลา 14:23 • ไลฟ์สไตล์

คนกำกับปลา ปลากำกับคน

🐟 ผู้ที่มีโอกาสทำบุญ ทำทาน โดยซื้อปลาจากแม่ค้าขายปลาในตลาดสดมาปล่อย หรือที่บางท่านเรียกว่า "ปลาหน้าเขียง" นั้น
อาจจะมีประสบการณ์ตรงในหลาย ๆ เรื่องคล้ายกัน โดยเฉพาะการตัดสินใจจะเลือกซื้อปลาตัวไหนดีให้พอดีกับงบประมาณที่ตั้งไว้ในใจ
เช่น หากมีเงินอยู่ 500 บาท ซึ่งสามารถซื้อปลาดุกตัวงาม ๆ ไปปล่อยได้ประมาณ 3-4 ตัว แต่ในกาละมังมีปลาอยู่ทั้งหมด 7-8 ตัว
จึงเหลือปลาอีก 3-4 ตัว ที่รอลุ้นอย่างระทึกใจว่า จะมีลูกค้ารายถัดมา ซื้อไปปล่อย หรือซื้อไปทำ แกง ทอด ปิ้ง ผัดกิน หรือทำเป็นยำปลาดุกฟู
ปลาที่เหลือมีทางเลือกไม่มาก
ในสถานการณ์เช่นนี้ แม่ค้าอาจจะตั้งคำถามเชิงขอคำตัดสินใจจากเราว่า..
"คุณพี่จะเอากี่ตัวคะ"
"หรือจะเลือกตัวไหน ดีคะ?"
"ตัวมีไข่ก็มีอยู่ 2 ตัว ค่ะ"
ใจเราตอนนั้น อาจตกอยู่ในภาวะที่เลือกยากจัง..สงสารตัวนั้น เสียดายตัวนี้..
แม่ค้ากำลังจับปลาที่ขังไว้
หากเราเลือกที่จะไม่ตัดสินใจ ก็จะปล่อยให้แม่ค้าตัดสินใจเอง หรืออาจจะใช้วิธีเพิ่มงบอีก 400-500 บาท ซื้อปลาที่เหลืออยู่อีก 3-4 ตัว ไปพร้อมกันทั้งหมด
เพื่อแลกกับความสบายใจของเรา
เมื่อมองไปเห็นปลาที่เหลืออยู่ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิต และบางทีก็ตรงกับใจส่วนลึกของแม่ค้าเองที่อยากให้เหมาไปทั้งหมด...
"แม่ค้าเองก็ไม่อยากทุบหัวมันค่ะ"
อย่างไรก็ตาม หากปลาที่เหลืออยู่มีจำนวนมาก เกินกว่างบที่ตั้งไว้แต่แรกรวมกับงบสำรองที่เพิ่มเติมไปด้วยแล้ว
เราอาจต้องปรับใจ และปล่อยวางที่ไม่สามารถซื้อปลาได้ทั้งหมด เพราะเกินจากยอดเงินที่เรากำหนดไว้พอสมควร
ทั้งหมด คือ ภาพกว้างที่อาจเกิดขึ้นโดยทั่วไป ในเวลาที่ตัดสินใจซื้อ "ปลาหน้าเขียง" มาปล่อย
แต่ในบางคราวเราอาจจะเจอกับสถานการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวอย่างที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น ดังเช่น 2 เรื่องราวที่เกิดขึ้น...🫴
🦈เรื่องแรก เกิดขึ้นราว ๆ 5-6 ปี มาแล้ว
ที่ผมนัดเจอกับเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ร้านอาหารริมบึงแห่งหนึ่ง หลังเลิกงาน ย่านเมืองทอง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
บึงใกล้เมืองทอง
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมเดินไปเข้าห้องน้ำชาย พร้อมกับเพื่อนอีกคน และคุยกันไปด้วยในระหว่างที่ทำภารกิจส่วนตัว
หลังเสร็จภารกิจก็เดินออกจากห้องน้ำมาพร้อมกัน...
ทันใดนั้น !...มีปลาสีดำขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง กระโดดออกมาจากถังพลาสติกที่ตั้งอยู่ริมทางเท้าใกล้ห้องน้ำ 🐠
นอนดิ้นต่อหน้าต่อตาเราทั้ง 2 คน ซึ่งกำลังจะเดินผ่านมาพอดี...เหมือนรู้ล่วงหน้าและดักรอเราอยู่
เพื่อนผม และผม ต่างหยุดเดิน แล้วหันมามองหน้ากัน เหมือนต่างจะรู้วาระจิตของกันและกันถึงอาการที่ปลาตัวนี้กระโดดออกมาอยู่ข้างหน้า เราทั้ง 2 คน นั้น...
ไม่มีเหตุผลอื่นใด นอกจากการร้องขอชีวิต...
เราทั้งสองคนจึงตัดสินใจร่วมกันทันที...ควรซื้อปลาตัวนี้ไปปล่อยลงบึงที่ติดอยู่กับร้านอาหาร...
จากนั้น เพื่อนผมก็ให้พนักงานในร้านนำปลาตัวนี้ไปชั่ง น้ำหนัก และคิดราคารวมไปกับค่าอาหารด้วย
โดยทางร้านขอคิดค่าตัวปลา ซึ่งทราบภายหลังว่า เป็น "ปลาคัง" ในราคา 800 กว่าบาท
ส่วนเพื่อนอีก 2-3 คน ซึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะอาหาร พอทราบเรื่อง ต่างเห็นดี เห็นงาม ร่วมกันปล่อยปลาตัวนั้นลงบึงด้วยความดีใจที่ได้ทำบุญ ทำทาน โดยไม่ได้คาดคิดไว้ก่อน
บางร้านขังปลาไว้ที่โอ่ง/ถัง ข้างห้องน้ำ
✍️ ถึงวันนี้ หากปลาตัวนี้ยังมีชีวิตอยู่ และมีความสามารถจดจำได้เช่นเดียวกับคน คงเก็บความทรงจำที่ดี และความเหลือเชื่อจากการตัดสินใจครั้งนี้ แล้วรอดตายไปนานแสนนาน
ด้วยเพราะว่า...การตัดสินใจเลือกกระโดดออกมานั้น มีความเป็นและความตายรออยู่พอ ๆ กัน...
แต่เมื่อคิดไตร่ตรองแล้ว ก็ยังดีกว่าที่จะว่ายวนไปมาอย่างมืดมน ไม่รู้อนาคตตนในถังพลาสติก
ในขณะที่ปลาตัวอื่น ๆ ที่ไม่ได้กระโดดออกจากถังตามมา แล้วเลือกที่จะว่ายอยู่ในถังใบนั้นต่อไป
อาจจะมีเหตุผลเรื่องขีดความสามารถที่จะกระโดดออกมา หรือ เป็นปลาคนละชนิด หรือมีที่มาต่างบ่อเลี้ยงกัน ไม่คุ้นเคย มิใช่พวกเดียวกัน
หรือพร้อมยอมรับในชะตาชีวิตที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองก็เป็นได้
ปลาหลากหลายพันธ์อยู่ร่วมกัน
ทั้งนี้ เมื่อผมหวลกลับไปทบทวนถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นอีกครั้ง ความคิดแทรกก็เกิดขึ้นว่า...
ทำไม เราถึงไม่ช่วยเหลือปลาทั้งหมดในถังออกไปพร้อมกับปลาคังสีดำตัวนั้น ?
แล้วก็ได้คำตอบเลา ๆ ปลอบใจตัวเองว่า...
วันนั้น เราอาจไม่ได้ตั้งใจไปปล่อยปลา และมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงอาจมองไม่รอบด้าน
ในขณะที่ตัวเราเอง ก็ไม่ได้ถูกฝึกให้มีฐานจิตใหญ่เพียงพอที่จะคิดในระดับจิตสาธารณะ ที่พร้อมช่วยเหลือปลาหมู่มากไปด้วยกันทั้งหมด
นั่น คือ เรื่องราวทั้งหมดของเรื่องแรก
เสมือนว่า..."ปลากำลังเล่นบทกำกับคน"
🐬 ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
วันนั้น ผมตั้งใจจะทำบุญทำทานด้วยการปล่อยปลา เพราะเป็นวันพระใหญ่ ขึ้น 15 ค่ำ ในวงเงินที่ตั้งใจไว้ในราว 400-500 บาท
จึงไปเดินหาซื้อ "ปลาหน้าเขียง" ในตลาดสดที่แม่ค้านำปลามาขาย ยามบ่ายสามโมงเย็น ทั้งที่หั่นเป็นชิ้น ๆ ทำเสร็จแล้ว และปลาเป็น ๆ ที่ดิ้นไปดิ้นมาอยู่ในกาละมัง พร้อมขาย
ชั่งปลาช่อนตัวแรก
ช่วงที่ผมเดินเข้าไปพูดคุยกับแม่ค้า ถามไถ่ราคาปลาอยู่นั้น มีปลาช่อนตัวใหญ่ที่พอจะซื้อไปปล่อยได้เหลืออยู่เพียงตัวเดียว ส่วนอีกตัวอยู่ในอาการที่น่าจะไปไม่รอด
ผมจึงซื้อเพียง 1 ตัว ในราคาประมาณ 240 บาท
ในจังหวะที่แม่ค้าเตรียมจะนำปลาใส่ในถุงอยู่นั้น...พ่อค้าปลา ซึ่งเป็นสามีที่คอยช่วยภรรยาขาย พูดขึ้นมาว่า...
"สงสัยไอ้ตัวนี้ ขยับตัว ดิ้นโชว์ว่า ยังไม่ตาย อยากไปกับเพื่อนด้วย ครับ"
อีกตัวที่โชว์ดิ้น
พูดพลาง ชี้ไปพลางที่ปลาช่อนอีกตัว
"จะเอาไปด้วยไหม ครับ"
"เอาไปด้วยเลย มันอยากจะไปด้วยกัน" (โดยที่ยังไม่รู้ว่า หนทางข้างหน้าจะตายหรือรอด)
ผมตอบรับ พร้อมกำชับว่า "เติมน้ำในถุงเพิ่มให้พอหายใจด้วยนะ"
หลังจากพ่อค้าขายปลา คิดราคาปลา 2 ตัว รวมกัน 460 บาท และใส่ลงในถุงพลาสติกแล้ว
เอา 2 ตัว ไปช่างกิโล ร่วมกัน
ผมรีบนำปลาขึ้นมาบนรถทันที แล้วขับมุ่งหน้าไปยังสระน้ำภายในหมู่บ้านที่เคยปล่อยปลาเป็นประจำ ห่างจากตลาด ราว 3 กิโลเมตร
🚙 ระหว่างขับมา ตาก็คอยมองไปที่ปลา 2 ตัวเป็นระยะ ดูเหมือนว่า ปลาตัวที่ 2 จะไม่ค่อยขยับเขยื้อนตัวเท่าใดนัก
ทำให้ผมเริ่งกังวลนิด ๆ ว่า สงสัยตัวนี้ จะไม่รอด..
"อีกแป๊บนึงนะ ใกล้จะถึงแล้ว จะได้ลงไปว่ายในสระด้วยกัน"
ผมคุยกับปลาทั้งที่รู้อยู่กับใจว่า เราอยู่กันคนละโลกของการสื่อสาร
พอจอดรถได้ ผมรีบนำปลาออกจากถุง
ปล่อยลงน้ำ แต่ปลาทั้ง 2 ตัว กลับไม่มีอาการขยับเขยื้อน หรือว่ายเคลื่อนตัว ไปข้างหน้าแต่อย่างใด ต่างไปจากทุกครั้งที่เคยปล่อยมา...
ปล่อยแล้วนิ่ง
ผมลองเอามือช้อนที่กลางตัวเพื่อกระตุ้นให้ปลาเคลื่อนไหวหลายครั้งติดต่อกัน
รวมทั้งจับขยับปาก ยังคงมีอาการนิ่งอยู่เช่นเดิม
จึงเริ่มทำใจ ปล่อยให้ปลา 2 ตัวลอยอยู่ในน้ำเคียงข้างกัน และลูบหัว แผ่เมตตาไปให้ล่วงหน้า
พร้อมกับปรับความคิด มองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นท่วงทำนองของ "โอกาส" แทน ว่า...
แม้ปลาทั้ง 2 ตัว จะตาย แต่ก็ได้ตายในแหล่งน้ำอย่างสงบ มากกว่าจะตายคาเขียง ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด และทรมาน 🏞️
เหนืออื่นใด ยังได้กอดคอตายไปด้วยกันในแบบฉบับของเพื่อนตายที่จะอยู่เคียงข้างกันจนถึงนาทีสุดท้าย...
เช้าวันรุ่งขึ้น ผมไปที่สระน้ำอีกครั้ง เพื่อไปดูให้แน่ใจว่า...มีปลาตายลอยน้ำอยู่ในสระ หรือไม่ ผลปรากฏว่า ไม่มี
และเพื่อให้แน่ใจยิ่งขึ้น ผมจึงถามคนสวนที่ดูแลสระน้ำ และพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ดูแลพื้นที่บริเวณนั้นอีกครั้ง ได้รับคำตอบว่า ไม่มี เช่นเดียวกัน
ผมรู้สึกได้ลุ้น และสบายใจยิ่งขึ้น ต่างไปจากความคิดเดิมที่ว่า ปลาช่อน 2 ตัว น่าจะตายไปแล้ว
สระน้ำที่ปล่อยปลา ร่มรื่น
และภายหลังได้รับทราบข้อมูลจากพี่ที่เคยทำธุรกิจเลี้ยงปลาว่า
ปลาช่อนมีลักษณะเฉพาะตัวที่ อึด ไม่ตายง่าย ๆ ช่วยย้ำให้ผมมีความหวังเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าปลาทั้ง 2 ตัว จะมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว
"เราไม่อาจกำกับให้ปลาเล่นไปตามบทที่เราคาดหวังได้"
แต่ถือว่าปลาทั้งสองได้ให้มุมมองแก่เราถึงคุณค่าความเป็นเพื่อนแท้ ที่พร้อมอยู่เคียงข้าง กอดคอตายไปด้วยกัน🫂
ในขณะที่ปลาคังตัวนั้น ก็สอนให้เรารู้ว่า การไปตายเอาดาบหน้า นั้นมีค่ากว่า รอคอยเวลาไปอย่างไม่รู้จุดหมาย และปลายทาง
สุดท้ายแล้ว ทั้งปลาช่อน และปลาคัง ในฐานะสัตว์ ได้เรียนรู้ร่วมกันว่า...
คนมิได้เป็นผู้คอยบงการ ไล่ล่า เบียดเบียนปลา เสมือน "คนกำกับปลา" แต่เพียงฝ่ายเดียว
เพราะในบางคราว ปลาก็ทำหน้าที่เป็น "ปลากำกับคน" ให้มีจิตใจที่เมตตา อ่อนโยน มีน้ำใจ แบ่งปัน ให้กับสัตว์ร่วมโลก ควบคู่กัน 🌏
"คนกำกับปลา" ได้ "ปลากำกับคน" ได้เช่นกัน...
คนปล่อยปลา และให้อาหารปลา พื้นที่แห่งความเมตตา : เขตอภัยทาน
🙏ขอบคุณมากครับ
มุมชัย นัยสอิ้ง/31 มี.ค.68
โฆษณา