28 มี.ค. เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

TISCO ESU หั่น GDP ไทย เหลือ 2.8% หุ้นกลุ่ม "7 นางฟ้า"กลายเป็นตัวฉุดตลาด

TISCO ESU แนะ นักลงทุนปรับพอร์ต สู้ นโยบายทรัมป์ พร้อมหั่น GDP ไทย เหลือ 2.8% ชี้ ! หากแรงกดดันสงครามการค้าสูง อาจลดเหลือเพียง 2.1% จับตา ! สหรัฐฯ ขึ้นภาษี 2 เม.ย.นี้
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นโลกเผชิญกับแรงขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับลดประมาณ 10% จากจุดสูงสุด นำโดยหุ้นกลุ่ม “7 นางฟ้า” ที่เคยเป็นผู้นำตลาดในช่วงขาขึ้น กลับกลายเป็นตัวฉุดตลาดในรอบนี้ โดยปัจจัยหลักที่กดดันตลาดมาจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้
นอกจากนี้ ความตึงเครียดของสงครามการค้าที่ยังไม่มีข้อยุติ ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับตลาด ซึ่งต้องจับตาการประกาศนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายนนี้ และในภาวะตลาดผันผวนนี้ TISCO ESU แนะนำให้นักลงทุนปรับพอร์ต โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการลดภาษีนิติบุคคล และกลุ่มที่มีรายได้หลักจากตลาดในสหรัฐฯ เพื่อลดความเสี่ยงของการถูกตอบโต้จากสงครามการค้า ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ขยายตัว
และได้รับประโยชน์จากนโยบายลดกฎระเบียบในภาคการเงิน (Bank de-regulation) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และกลุ่มพลังงานในสหรัฐฯ ที่แม้ราคาน้ำมันจะปรับฐานลงจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ แต่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่งในระยะข้างหน้า
ในกรณีเลวร้าย หากสงครามการค้ายกระดับขึ้น และสหรัฐฯ ประกาศใช้อัตราภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ค้าทั่วโลก (Universal Tariff) ที่ระดับ 10% เราประเมินว่า ผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 4-5% แต่มองไปข้างหน้า ตลาดหุ้นยังมีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น ความพยายามในการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% ในปัจจุบันเหลือ 15% ซึ่งหากทำได้จริง จะส่งผลบวกต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ราว 4% และคาดว่าจะช่วยชดเชยผลกระทบเชิงลบจากกำแพงภาษีได้เกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม มองว่า ในช่วงที่ตลาดกำลังจะฟื้น ควรซื้อหุ้นในกลุ่มไหนดีนั้น ก็มองว่าตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จึงแนะนำหุ้น 3 กลุ่ม ที่น่าสนใจ คือ US Financials , US Energy และ Japan Equities
ส่วนการลงทุนทองคำ มองว่า ต้องจับตาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลายก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ราคาทองคำปรับลดลงได้ แต่ปัจจุบันความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างยืดเยื้ออยู่
ด้านนายธนธัช ศรีสวัสดิ์ นักกลยุทธ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกภายใต้ยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งนักวิเคราะห์เรียกข้อตกลงดังกล่าวว่า "Mar-A-Lago Accord" ตามชื่อบ้านพักของทรัมป์ ซึ่งเป็นการรวมแนวคิดทั้งหมดของทรัมป์ไว้ด้วยกัน ได้แก่ การผลักดันยุโรปให้รับภาระด้านความมั่นคงมากขึ้น
การดึงฐานการผลิตกลับประเทศ และการจัดระบบการค้าโลกใหม่เพื่อลดบทบาทของจีนในห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ผลักดันดัชนีความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจโลก (Global Economic Policy Uncertainty Index) ให้พุ่งสูงกว่าช่วงล็อกดาวน์ในปี 2563 สะท้อนถึงความกังวลของตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
ส่วนการลงทุนภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนไป มองว่า ตราสารหนี้โลก (Global Fixed Income) จะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หากลงทุนในตราสารหนี้โลกในช่วงนี้ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนีปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปีแล้ว
ขณะที่ Real Yield ของญี่ปุ่นเองก็เพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่เกือบไม่ติดลบ แม้ยังมีโอกาสปรับขึ้นได้อีกบ้าง แต่ประเมินว่าความเสี่ยงดังกล่าวค่อนข้างจำกัด จึงแนะนำให้นักลงทุนพิจารณาการลงทุนในตราสารหนี้โลกที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งเริ่มเห็นการ Outperformed พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แล้วในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่น่าสนใจ คือ น้ำมันดิบ ซึ่งมีโอกาสได้รับแรงหนุนจากกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการคลัง โดยเฉพาะในยุโรปและจีน ที่มีแนวโน้มต้องนำทรัพยากรการคลังออกมาใช้มากขึ้น เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป แม้ราคาน้ำมันดิบ WTI จะปรับตัวลดลงติดต่อกันนานกว่า 7 สัปดาห์ในช่วงต้นปี แต่ปัจจัยพื้นฐานยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
และตลาดยังซึมซับข่าวลบไปค่อนข้างมากแล้ว ทำให้ TISCO ESU มองว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70 – 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงกลางปีนี้ ตามปัจจัยฤดูกาลที่อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกมักเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน
ขณะที่ นายธนภัทร ธนชาต ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีสัญญาณชะลอตัว แต่ยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะโตที่ 2% ในปี 2568 โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาดส่วนใหญ่เป็นผลจากการตอบแบบสอบถาม เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ปรับตัวลงรุนแรง ขณะที่ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญ เช่น การจ้างงาน รายได้ การใช้จ่ายและการผลิต ยังแข็งแกร่งและไม่มีสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ชัดเจน
ด้านนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ประเมินว่า ในปี 2568 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวมที่ระดับ 0.50% โดยความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ Fed ต้องดำเนินนโยบายการเงินด้วยความระมัดระวัง ขณะเดียวกัน ยังต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านสูง (Upside Risks) ต่ออัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงด้านต่ำ (Downside Risks) ต่อเศรษฐกิจให้ดี ก่อนตัดสินใจปรับเปลี่ยนจุดยืนนโยบายการเงินในอนาคต
ในส่วนมุมมองต่อเศรษฐกิจยุโรป มองว่า ยุโรปมีสัญญาณฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากเยอรมนีมีแผนขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซามานานกว่า 2 ปี และเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลเชิงบวกในช่วงปี 2569-2570
และคาดว่า GDP จะโตอยู่ที่ 1.5% บวกลบ หลังได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย จากขนาดของมาตรการที่ใหญ่ และมีโครงการลงทุนที่หลากหลาย จึงอาจช่วยหนุนให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้ง จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมนี และทั่วทั้งยุโรปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม
การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐอาจใช้เวลานาน ทำให้เศรษฐกิจยุโรปในปี 2568 อาจไม่ได้ขยายตัวมากนัก อีกทั้งเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น จึงต้องติดตามกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณอย่างใกล้ชิด
“ ต้องจับตาการประกาศนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐในวันที่ 2 เมษายนนี้ หากไทยได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยง โดยเฉพาะสินค้าหลักที่ส่ง เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ ยางพารา และยางรถยนต์ ”
นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า จากความเสี่ยงของสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น TISCO ESU ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.0% แต่ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมที่อาจกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า จากสองปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. มาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ (Reciprocal Tariff) ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.35-0.50 ppt. และ 2.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ล่าช้ากว่าคาด
โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมเที่ยวภายในประเทศ และเลือกจุดหมายปลายทางที่ไกลขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.20 ppt. ดังนั้น หากปัจจัยเหล่านี้ยังดำเนินต่อไป เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้เพียง 2.1% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าปี 2567 ที่ขยายตัวได้ 2.5%
ส่วนนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 2.00% ในการประชุมครั้งแรกของปี สวนทางกับท่าทีที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนหน้านี้ โดย กนง. ให้เหตุผลว่าภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่ประเมินไว้ และความเสี่ยงด้านลบเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ยังย้ำว่าเป็นการปรับสมดุลของดอกเบี้ย ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ที่ 2.8% คาดว่า กนง. อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% ตลอดทั้งปี แต่หากได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น มีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกราว 1 – 2 ครั้ง ในปีนี้ หรือลงมาอยู่ที่ 1.50-1.75% ต่อปี โดยขึ้นอยู่กับในระยะข้างหน้าจะมี Negative Shock เข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ โดยต้องจับตารายละเอียดนโยบายสงครามการค้าของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายนนี้
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/245634
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา