29 มี.ค. เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เทรนด์แปลงภาพเป็นสไตล์ Studio Ghibli ด้วย AI จุดประเด็นจริยธรรม - ลิขสิทธิ์

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแห่เจนรูปเอไอเป็นสไตล์ ‘Studio Ghibli’ เหล่าศิลปินทวงถามถึงลิขสิทธิ์ ด้าน OpenAI ไม่ตอบคำถามว่าฝึกอบรมเอไอด้วยข้อมูลของจิบลิโดยได้รับอนุญาตหรือไม่ ขณะที่หลายฝ่ายกำลังจับตากฎหมาย AI Act ของสหภาพยุโรป
กระแสการถกเถียงเรื่องบทบาทที่ “เหมาะสม” ของเอไอกับวงการศิลปะกลับมาอีกครั้ง หลังมีผู้ใช้คีย์คำสั่งบน GPT-4o เพื่อสร้างรูปการ์ตูนเลียนแบบลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ยอดนิยมหลายเรื่อง เช่น Spirited Away, My Neighbor Totoro และ The Boy and the Heron
เรื่องราวเริ่มต้นจาก ยานู ลิงเกศวรัน (Janu Lingeswaran) ชายชาวเยอรมัน หนึ่งในผู้ทดลองใช้เครื่องมือสร้างภาพด้วยเอไอ อัปโหลดภาพแมวเปอร์เซียวัย 3 ขวบของเขาชื่อ “มาลี” ลงใน ChatGPT เมื่อวันพุธที่ 26 มี.ค. และป้อนคำสั่งให้แปลงภาพเป็นสไตล์จิบลิ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ภาพแมวลายเส้นแอนิเมชันที่ดูคล้ายคลึงกับตัวละครในจิบลิ เขาบอกว่า “หลงรักผลงานนี้จนคิดจะพิมพ์ใส่กรอบแขวนผนังบ้าน”
ไม่เพียงแต่ภาพสัตว์เลี้ยง ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังทดลองใส่ภาพไอคอนิกต่างๆ เช้น ภาพนักยิงปืนชาวตุรกี “ยูซุฟ ดีเคช (Yusuf Dikec)” ที่กำลังเดินสู่งานโอลิมปิก 2024 ด้วยท่าทางสโลว์โมชัน หรือภาพมีม “Disaster Girl” เด็กหญิงวัย 4 ขวบที่หันมายิ้มลับๆ ขณะบ้านด้านหลังลุกไหม้ กลายเป็นภาพอนิเมะสไตล์จิบลิที่กลายเป็นเทรนด์ในโซเชียลมีเดีย
แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ซีอีโอของ OpenAI แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระแสไวรัลผ่านโพสต์บน X ว่า “ทุ่มเทชีวิตทำงานมาเป็น 10 ปี พยายามสร้างเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาใหญ่ๆ อย่างโรคมะเร็ง ช่วง 7.5 ปีแรก แทบไม่มีใครสนใจผลงานของผมเลย พอเริ่มมีชื่อเสียง 2-3 ปี ก็เจอแต่คนวิจารณ์ แล้ววันหนึ่ง ก็ตื่นมาเจอแต่ข้อความติดๆ กันว่า ‘ดูสิ ฉันเอาหน้าคุณไปวาดเป็นการ์ตูนจิบลิ ฮ่าๆ’” หลังจากนั้น แซมก็เปลี่ยนภาพโปรไฟล์ของตนเป็นภาพตัวเองในสไตล์แอนิเมชันจิบลิ
ขณะนี้สตูดิโอจิบลิยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นใดๆ กับสื่อ แม้สื่อญี่ปุ่นและสหรัฐจะพยายามติดต่อสอบถามแล้วก็ตาม โดยผู้คนแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย บางกลุ่มรู้สึกสนุกสนานกับการสร้างภาพตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ ด้วยลายเส้นจิบลิ ขณะที่อีกกลุ่มตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งระหว่าง “แรงบันดาลใจ” กับ “การลอกเลียนแบบ”
ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ เคยแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อแอนิเมชันที่สร้างโดยเอไอ สามารถรับชมได้ในสารคดี NHK Special: Hayao Miyazaki — The One Who Never Ends หลังจากที่เขาได้ชมการสาธิตแอนิเมชันที่สร้างโดยเอไอ ในลักษณะที่เป็นเหมือนซอมบี้ รูปร่างบิดเบี้ยว แม้จะเป็นคำพูดเมื่อปี 2559 หากแต่ประโยคของเขาก็เป็นเหมือนคำสาป
“พอเห็นภาพสิ่งมีชีวิตประหลาดๆ แบบนี้ ผมนึกถึงเพื่อนคนหนึ่ง เขาพิการมากจนแม้แต่การจับมือไฮไฟว์ยังทำไม่ได้ พอคิดถึงเขา ผมรู้สึกเฉยไม่ได้เลย คนที่งานพวกนี้คงไม่เคยรู้จักความเจ็บปวดจริงๆ ถ้าใครอยากทำอะไรน่าสยองก็ทำไปเถอะ แต่ผมจะไม่มีวันเอาเทคโนโลยีแบบนี้มาใช้ในงานของผมเด็ดขาด ดูเหมือนเราใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของยุคสมัย มนุษย์กำลังสูญเสียศรัทธาในตัวเอง”
จอช ไวเกนส์เบิร์ก (Josh Weigensberg) ทนายความด้านลิขสิทธิ์จาก Pryor Cashman ชี้ว่า แม้โดยหลักกฎหมาย “สไตล์ศิลปะ” ไม่สามารถเป็นลิขสิทธิ์ได้ แต่หากเอไอสร้างภาพที่มีองค์ประกอบเฉพาะตัวเหมือนฉากใน “Howl’s Moving Castle” หรือ “Spirited Away” อย่างเห็นได้ชัด อาจถือเป็นการละเมิดได้ เขากล่าวว่า “การอ้างว่าแค่เลียนแบบสไตล์ไม่ผิด คงไม่เพียงพอ”
ด้าน คาร์ลา ออร์ติซ (Karla Ortiz) ศิลปินผู้ฟ้องร้องบริษัทสร้างภาพเอไอหลายแห่งในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ กล่าวถึง OpenAI ว่า “ใช้ชื่อเสียงของจิบลิโปรโมตผลิตภัณฑ์โดยไม่สนใจจิตวิญญาณของศิลปิน” เธอโกรธจัดเมื่อเห็นบัญชี X ของทำเนียบขาวโพสต์ภาพสไตล์จิบลิที่ล้อเลียนหญิงชาวโดมินิกัน ซึ่งถูกจับกุมโดยตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เธอโพสต์ข้อความว่า “นี่คือการทำลายสิ่งที่งดงาม” พร้อมเรียกร้องให้สตูดิโอจิบลิฟ้อง OpenAI
ขณะที่ OpenAI ยังไม่ตอบคำถามว่าฝึกอบรมเอไอด้วยข้อมูลของจิบลิโดยได้รับอนุญาตหรือไม่ หลายฝ่ายกำลังจับตากฎหมาย AI Act ของสหภาพยุโรปซึ่งแบ่งระดับความเสี่ยงของเอไอและเน้นการทำงานร่วมกับมนุษย์มากกว่าทดแทน เหตุการณ์นี้สะท้อนความขัดแย้งระหว่างนวัตกรรมไร้พรมแดนกับจริยธรรม ในยุคที่เอไอก้าวเข้ามาสัมผัสพื้นที่ละเอียดอ่อนที่สุดของมนุษย์อย่าง “ความคิดสร้างสรรค์”
โฆษณา