28 มี.ค. เวลา 05:20 • การเมือง

ระบบราชการที่ล้าหลัง อุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ

ระบบราชการถือเป็นกลไกสำคัญในการบริหารประเทศ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและให้บริการประชาชน แต่ด้วยโครงสร้างของระบบ กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติ รวมถึงประสิทธิภาพและศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ล้าหลัง จึงทำให้ระบบราชการของไทยกลายเป็นอุปสรรคแทนการเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศ
ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น
1) โครงสร้างที่ล้าหลัง
โลกได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มตัวพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว แต่ระบบราชการไทยกลับยังคงยึดติดกับโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และพัฒนาอย่างเชื่องช้าตลอดศตวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการปฏิรูประบบราชการหลายครั้ง แต่โครงสร้างยังคงรวมศูนย์อำนาจไว้กับส่วนกลาง ขาดความคล่องตัว และเต็มไปด้วยลำดับชั้นที่ซับซ้อน
หน่วยงานภูมิภาคทำหน้าที่เป็นเพียงแขนขาของส่วนกลางและรับฟังคำสั่งจากส่วนกลางมากกว่าการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่ การทำงานของหน่วยงานส่วนภูมิภาคจึงไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่เป็นการขยายอำนาจจากส่วนกลางแต่ละกระทรวงให้ครอบคลุมไปทุกพื้นที่ของประเทศอย่างทั่วถึงโดยมีผู้ว่าราชการเป็นเพียงผู้ประสานการทำงานของทุกกระทรวงแต่ไม่มีอำนาจในการสั่งการได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ส่วนภูมิภาคยังกลายเป็นเพียงหน่วยงานเพื่อการเติบโตของข้าราชการ เรามักพบว่าจังหวัดขนาดเล็กเป็นที่ฝึกงานของผู้ว่าฯ ใหม่ หรือหัวหน้าหน่วยงานใหม่ ก่อนย้ายไปจังหวัดใหญ่กว่าเพื่อให้อยู่ในเส้นทางที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งอธิบดีในระดับกรมและกระทรวงต่อไป และเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับจังหวัดขนาดใหญ่เนื่องจากเป็นสนามทดสอบผู้ว่าฯ ก่อนเข้ารับตำแหน่งสำคัญในกระทรวงฯ ผู้ว่าฯ และหัวหน้าหน่วยงานจึงให้น้ำหนักกับการทำงานตามที่กระทรวงมอบหมายมากกว่างานที่แก้ปัญหาให้กับจังหวัดในระยะยาว
แต่จังหวัดใหญ่จะมีปัจจัยอื่นเข้ามาช่วยมาก จึงไม่ถูกกระทบจากการย้ายของผู้ว่าฯ และหัวหน้าหน่วยงานมากเท่าจังหวัดเล็ก แม้ผู้ว่าฯ หรือหัวหน้าหน่วยงาน บางรายอาจจะต้องการอยู่ในจังหวัดต่อเนื่อง แต่ก็ยาก เนื่องจากกระทรวงต้องขยับให้คนอื่นเข้ามาแทน เพื่อเป็นเส้นทางเติบโตให้กับคนอื่น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การบริหารงานทำได้อย่างไม่ต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิภาพ
จังหวัดเล็ก นอกจากจะเป็นที่ฝึกงานให้กับผู้ว่าใหม่ที่จะเติบโตในหน้าที่การงานต่อไปแล้ว ยังกลายเป็นพื้นที่ให้ reward กับข้าราชการบางคนได้มีตำแหน่งผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ หรือ หน.หน่วยงาน ก่อนเกษียณ ซึ่งจะไม่ค่อยกล้าทำอะไร เพราะไม่คุ้มเสี่ยง
1
ด้วยเหตุนี้ ต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเล็กจึงพัฒนายากมากเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดเป้าหมายเช่น EEC
แม้จะมีการกระจายอำนาจไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น อบจ. เทศบาล อบต. แต่ในทางปฏิบัติ อำนาจและงบประมาณยังคงถูกควบคุมจากรัฐบาลกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางยังมีอำนาจบางอย่างที่ทับซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้พบความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดกับผู้นำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับ อบจ. และเทศบาลเมืองใหญ่
การขออนุมัติโครงการสำคัญของท้องถิ่นยังต้องผ่านหลายขั้นตอนจากส่วนกลาง รวมถึงงบประมาณของท้องถิ่นต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลกลางเป็นหลัก ในขณะที่อำนาจของท้องถิ่นก็มีจำกัด ต้องให้ส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติ ทำให้ท้องถิ่นขาดอิสระในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง
นอกจากนี้ การแบ่งท้องถิ่นออกเป็นขนาดเล็กจำนวนมาก ใน 1 จังหวัด ไม่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวดังเช่นกรุงเทพมหานคร ทำให้งบประมาณและอำนาจหน้าที่ถูกกระจาย และการมีท้องถิ่นขนาดเล็กจำนวนมากยังทำให้ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากไปกับการจ้างข้าราชการหรือพนักงานที่หากรวมกันแล้วสามารถลดจำนวนตำแหน่งและงบประมาณที่ซ้ำซ้อนลงได้เป็นจำนวนมาก
การทำงานภายใต้ระบบที่ล้าหลังนี้ไม่เพียงส่งผลให้การดำเนินนโยบายของรัฐเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่มีประสิทธิภาพ แต่ยังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในยุคที่ความสามารถในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็น คำถามสำคัญคือ เหตุใดโครงสร้างราชการไทยจึงยังคงติดอยู่กับอดีต และเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้อย่างไร
หากประเทศไทยยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ปัญหานี้ได้ รวมถึงยังมีความพยายามจากกลุ่มอำนาจบางกลุ่มที่ขัดขวางการปรับโครงสร้างของระบบราชการไทยอย่างถึงที่สุด ประเทศไทยก็อาจต้องติดกับดักและอยู่ในวิกฤตกบต้มไปจนกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังไปในที่สุด
2) กฎเกณฑ์ที่ล้าหลัง
นอกจากโครงสร้างที่รวมศูนย์และลำดับชั้นที่ซับซ้อน ระบบราชการไทยยังเผชิญกับปัญหาด้าน กฎเกณฑ์และระเบียบราชการที่ล้าหลัง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพและความสามารถในการปรับตัวต่อโลกยุคใหม่ ตัวอย่างเช่น
 
- ระบบระเบียบราชการที่เน้น "กระบวนการ" มากกว่า "ผลลัพธ์" เน้นการทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด มากกว่าการคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยมีสาเหตุสำคัญคือกลัวการถูกกล่าวหาว่าทุจริตผิดวินัย หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด ตัวอย่างเช่น
• การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องดำเนินการผ่าน พัสดุภาครัฐ (e-GP) ที่มีกระบวนการซับซ้อน ใช้เวลานาน และขาดความยืดหยุ่น
• การอนุมัติโครงการต้องผ่านหลายชั้นของการพิจารณา แม้โครงการจะมีความสำคัญและเร่งด่วน
• แม้ว่าจะพบปัญหาหรือข้อผิดพลาด แต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด
- ระบบงบประมาณที่แข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น เช่น
• รัฐกำหนดให้แต่ละหน่วยงานต้องใช้เงินตามที่ได้รับจัดสรร หากใช้ไม่หมดก็ต้องคืน และปีถัดไปอาจได้รับงบประมาณลดลง ส่งผลให้เกิดการเร่งใช้งบประมาณช่วงปลายปี ("เร่งเบิกงบ") โดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพของโครงการ
• หน่วยงานไม่สามารถปรับงบประมาณได้ง่าย แม้จะพบว่าส่วนใดควรได้รับเงินมากกว่ากัน
• กำหนดให้งบการพัฒนามนุษย์เป็นงบใช้จ่าย พร้อมๆ กับจำกัดงบใช้จ่ายเนื่องจากมองเป็นงบที่ใช้แล้วหมดไป กลายเป็นข้อจำกัดของการใช้งบเพื่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์
- ระบบเอกสารที่ยุ่งยากและใช้กระดาษจำนวนมาก แม้ว่าประเทศไทยจะมีโครงการ e-Government มาหลายปี แต่หน่วยงานรัฐหลายแห่งยังคงใช้ระบบเอกสารกระดาษเป็นหลัก ตัวอย่างที่พบบ่อยเช่น
• การทำธุรกรรมกับภาครัฐมักต้องใช้เอกสารหลายชุด เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ฯลฯ
• หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้ ทำให้ประชาชนต้องยื่นเอกสารเดิมซ้ำหลายครั้ง
• บางหน่วยงานใช้เทคโนโลยี แต่เป็นการใช้แบบ "ซ้อนทับ" เช่น กรอกข้อมูลออนไลน์แล้วต้องพิมพ์ออกมาเซ็นชื่ออีก
3) กระบวนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาที่ล้าหลัง
สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อมีการวางแผนพัฒนาแผนใดแผนหนึ่ง แผนนั้นจะต้องถูกคิดโดยละเอียดให้ถึงระดับ action plan แล้วนำเสนอต่อผู้บริหารประเทศเพื่อขับเคลื่อนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำตามแผนในระดับ action plan นั้น ซึ่งก็จะทำให้ทุกหน่วยงานทำงานเสมือนวงดนตรีที่เล่นเพลงเดียวกันภายใต้การควบคุมของ conductor เพียงคนเดียว
แต่สำหรับประเทศไทย สภาพัฒน์ซึ่งเป็นหน่วยงานแผนที่สำคัญของประเทศทำแผนในระดับที่บอกว่าต้องการเห็นอะไร แล้วก็ไปบอกแต่ละกระทรวงให้ใส่รายละเอียดของโครงการตามที่กระทรวงเห็นควร และหวังว่าเมื่อแต่ละกระทรวงทำโครงการส่วนของตนเองแล้วจะนำไปสู่ภาพที่สภาพัฒน์อยากเห็น
กระทรวงเมื่อรับคำสั่งมา ก็มาสั่งต่อให้กรมคิดโครงการ กรมเมื่อรับคำสั่งมาก็มาสั่งต่อให้หน่วยงานในสังกัดทั้งที่อยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคคิดโครงการ โครงการที่ได้จึงเป็นโครงการแบบเล็กๆ น้อยๆ ที่คิดจากข้าราชการระดับล่าง ที่แม้จะมีจำนวนมากก็ไม่มีทางส่งผลให้ได้ภาพใหญ่ตามที่สภาพัฒน์ต้องการและกลายเป็นโครงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปจนหมด บ่อยครั้งที่พบว่า ข้าราชการระดับล่างทำโครงการโดยไม่เข้าใจเป้าประสงค์เริ่มต้นของสภาพัฒน์ แม้ว่าสภาพัฒน์จะนำเสนอให้หน่วยงานทราบแล้วก็ตาม
จริงอยู่อาจจะมีโครงการใหญ่ๆ บ้าง เช่น โครงการทางด่วน โครงการรถไฟความเร็วสูง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย ไม่ใช่รายละเอียดของภาพทั้งหมด และด้วยวิธีปฏิบัติแบบนี้ เราจึงเห็นได้ว่าประเทศนี้เต็มไปด้วยโครงการใหญ่ๆ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน EEC หรือแม้แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสภาพัฒน์เอง ที่มีแต่แนวคิด แต่ไม่มีความคืบหน้าที่เป็นมรรคเป็นผล
4) ประสิทธิภาพและศักยภาพของคนทำงานที่ล้าหลัง
เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีประสิทธิภาพและศักยภาพการทำงานต่ำกว่าพนักงานของเอกชน โดยมีประเด็นหลักที่เป็นที่ยอมรับกันในเชิงประจักษ์เช่น
- ขาดความคล่องตัวและความสามารถในการปรับตัว
เนื่องจากต้องทำงานภายใต้ระบบที่เน้นระเบียบแบบแผนและกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ทำให้การทำงานมีความล่าช้า ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และไม่กล้าเปลี่ยนแปลงเพราะกลัวความผิด เมื่อทำต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ความคิดสร้างสรรค์ก็จะหายไป และกลายเป็นเครื่องจักรกระบวนการที่ทำงานได้อย่างไม่มีผลิตภาพ
- ระบบอาวุโสเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคนเก่ง
แม้ว่าปัจจุบัน ระบบนี้จะเริ่มถูกแทนที่ด้วยระบบความสามารถมากขึ้น แต่การเลื่อนตำแหน่งจำนวนมากยังคงยึดโยงกับอายุงานและลำดับอาวุโส ทำให้บุคลากรที่มีศักยภาพสูงแต่มีอายุน้อยไม่สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทได้อย่างเต็มที่
- การแต่งตั้งบุคคลจากนักการเมืองด้วยกระบวนการที่ไม่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคนเก่ง
ข้าราชการจำนวนมากถูกแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้นจากการวิ่งเต้นและใช้เส้นสายทางการเมือง ทำให้ผู้ที่ไม่มีเส้นสายเสียเปรียบและกลายเป็นสาเหตุสำคัญในการบั่นทอนกำลังใจในการปฏิบัติงาน
- แรงจูงใจในการทำงานต่ำ
ระบบการประเมินผลไม่สะท้อนประสิทธิภาพการทำงานที่แท้จริง ทำให้ข้าราชการจำนวนมากไม่มีแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- ปัญหาการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน
แม้ว่าข้าราชการส่วนใหญ่จะมีความซื่อสัตย์ แต่ข้าราชการอีกจำนวนมากก็ยังใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์และเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง
นอกจากนี้ รูปแบบการจ้างงานและสวัสดิการของรัฐ ยังนำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพ ล้าหลัง และสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการกับประชาชนทั่วไป
- แรงจูงใจในการได้เงินบำนาญและการรักษาพยาบาลที่มีสิทธิเหนือกว่าประชาชนทั่วไปหลังเกษียณอายุทำให้ข้าราชการจำนวนมากที่แม้จะไม่ชอบงานที่ทำก็จะฝืนทำเพื่อหวังได้เงินเกษียณเลี้ยงชีพและสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีไปตลอดชีวิต ไม่อยากทำอะไรที่เสี่ยงต่อการผิดระเบียบและถูกกล่าวหาเพราะจะกระทบกับรายได้และสวัสดิการที่จะได้หลังเกษียณ เราจะได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ ว่างานหลายงานต้องชะงักไปเพราะข้าราชการที่ใกล้เกษียณไม่ยอมทำงาน ทำให้ประเทศต้องจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าผลของงานจากข้าราชการจำนวนมากนี้
- มีการแต่งตั้งเพื่อให้ได้ตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นรางวัลก่อนเกษียณ แม้จะมีความสามารถน้อยกว่าคนอื่น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของทั้งหน่วยงาน และยังทำให้ประเทศต้องจ่ายเงินมากขึ้นให้กับข้าราชการกลุ่มนี้ไปตลอดชีวิต
- ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมาก เลือกทำงานราชการเพื่อรับเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีในขณะทำงาน โดยเงินเกษียณและสวัสดิการที่ดีเป็นเพียงรายได้ส่วนหนึ่งแต่เป็นรายได้และสวัสดิการที่ประกันความมั่นคงไปตลอดชีวิต แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของตนไปทำงานอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มและให้ความสำคัญกับงานอื่นมากกว่างานราชการ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเท่าที่คิดออกและเรียบเรียงได้ในเวลาสั้นๆ ที่จริงยังมีมากกว่านี้อีกมาก แต่ประเทศนี้ ไม่มีผู้นำคนใดหรือแม้แต่พรรคการเมืองใดที่จะกล้าออกมาบอกว่า ต้องการปฏิรูประบบราชการเพื่อไม่ให้ระบบราชการกลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศอีกต่อไป (เคยมีแต่ก็ต้องถูกปฏิวัติออกไป)
โฆษณา