28 มี.ค. เวลา 05:47 • สุขภาพ

เข้าใจภาวะซึมเศร้าอย่างรอบด้านด้วยมุมมององค์รวม (Holistic Perspective)

ในบทความที่แล้วผมเปรียบเปรยโรคซึมเศร้า เป็นลูกบอลชายหาดลอยอยู่ในสระน้ำ โดยธรรมชาติ ลูกบอล ต้องการลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ถ้าเราพยายามกดมันลงไปใต้น้ำ ต้องออกแรงกดทับและควบคุมมันตลอดเวลา ยิ่งกดลึกแรงต้านกลับก็จะมากขึ้น และถ้าปล่อยมือเมื่อไหร่ มันก็จะดีดตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
อารมณ์ซึมเศร้าจึงไม่ต่างกับลูกบอลที่ถูกกดอยู่ใต้น้ำ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าต้องใช้พลังงานมหาศาลในการกดอารมณ์ของตัวเองไม่ให้แสดงออกมา หรือไม่ให้ถูกคนรอบข้างมองเห็น ยิ่งพยายามกดมันลงนานเท่าไร ยิ่งรู้สึกเหนื่อยล้า หากพลังงานหมด ไม่สามารถกดทับอารมณ์ไว้ได้อีกต่อไป อาจเกิดภาวะที่อารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ปะทุออกมาอย่างรุนแรงได้
แต่หากผมอธิบายประเด็นนี้ต่อไปก็จะเหมือนกับเอาของเก่ามาเล่าใหม่ สิ่งที่ผมอยากนำเสนอในบทความนี้คือ การเข้าใจภาวะซึมเศร้าอย่างรอบด้านด้วยมุมมององค์รวม หรือที่เราเรียกกันว่า "Holistic Perspective" ด้วยเหตุผลที่ว่าภาวะซึมเศร้ามีที่มาจากปัจจัยที่หลากหลายและเกี่ยวโยงซึ่งกันและกันอย่างแยกไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสังคม ชีวภาพ จิตใจ และสภาพแวดล้อม ซึ่งล้วนส่งผลต่อชีวิตมนุษย์ในทุกมิติ
มุมมององค์รวมคือแนวคิดที่มองปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ในภาพรวมทั้งหมด แทนที่จะพิจารณาเพียงแค่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยเชื่อว่าทุกส่วนย่อยของระบบมีความสัมพันธ์และส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างแยกไม่ออก
องค์การอนามัยโลก ได้อธิบายถึงความซับซ้อนของภาวะซึมเศร้าที่มีปัจจัยร่วมหลายด้าน ทั้งชีวภาพ สังคม เศรษฐกิจ และจิตใจ การบำบัดที่ใช้เพียงยาอาจไม่เพียงพอ หากไม่มีการดูแลในด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การจัดการความเครียด และความหมายของชีวิต ซึ่งเป็นหัวใจของแนวคิดองค์รวม
ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาหรือสร้างความเข้าใจในเรื่องหนึ่ง ๆ เราต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน ทั้งกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน การใช้มุมมองนี้ทำให้เราสามารถวางแผนหรือพัฒนาวิธีการจัดการได้อย่างครอบคลุมและลึกซึ้งมากกว่า การเน้นแก้ปัญหาเฉพาะจุดเพียงจุดเดียว ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับความเป็นจริงของชีวิตมากที่สุด
ในแง่ของจิตใจ ประสบการณ์ที่กระทบกระเทือน เช่น การสูญเสียบุคคลสำคัญ ความเครียดที่เรื้อรัง หรือแม้แต่ลักษณะนิสัยที่มีแนวโน้มคิดลบและโทษตนเอง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถผลักดันให้บุคคลเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยทางสังคม เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เปราะบาง ความกดดันทางเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมที่แข่งขันสูงในสังคมยุคใหม่ ต่างก็มีอิทธิพลเพิ่มระดับความเครียดและความวิตกกังวล ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทุกท่านจะเห็นว่าสาเหตุของโรคซึมเศร้ามีมากมายมหาศาล การดูแลและเยียวยาภาวะซึมเศร้าจึงไม่ควรถูกจำกัดเพียงแค่การใช้ยาเพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมองเท่านั้น แต่ควรหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดแบบองค์รวม โดยมุ่งสร้างระบบสนับสนุนทางสังคมที่เข้มแข็ง การให้คำปรึกษาด้านจิตใจ การปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิตให้สมดุล และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีอย่างรอบด้าน เพื่อช่วยให้บุคคลสามารถรับมือกับปัญหาในชีวิตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
ผมอยากให้ผู้อ่านนึกภาพมนุษย์ที่มีสุขภาพแข็งแรง การจะทำให้เราแข็งแรงได้ไม่ใช่เพียงการออกกำลังกายเป็นนิสัยเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงของหวาน มัน เค็มให้มากที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่แค่นี้ครับ เพราะการที่สุขภาพจะแข็งแรงได้จำเป็นที่เราจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย
สภาพแวดล้อมที่ดีไม่ใช่อากาศที่ดีนะครับ (จริง ๆ แล้วอากาศที่ดีก็ทำให้สุขภาพแข็งแรง) แต่ผมหมายถึงการที่เรามีสังคมที่สนับสนุนให้เรามีสุขภาพที่ดี การที่ตู้เย็นมีของที่มีประโยชน์ การใช้เทคนิคสนับสนุนเพื่อให้เราสามารถควบคุมการรับประทานและออกกำลังกายได้ การมีเพื่อนที่ไม่ชวนเราไปดื่มกินบ่อย ๆ รวมไปถึงการเครียดให้น้อยลงด้วย
ทุกท่านจะเห็นว่ามันจะต้องมีการควบคุมตัวแปรหลากหลายชนิดกว่าที่เราจะมีสุขภาพที่ดี สิ่งนี้เรียกว่า "มุมมององค์รวม" ภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าก็เช่นเดียวกัน การดูแลและเยียวยาผู้มีภาวะซึมเศร้าให้ดีขึ้น ไม่สามารถอาศัยเพียงแค่การปรับสารเคมีในสมอง หรือการพึ่งยาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับทุกแง่มุมของชีวิต
ตั้งแต่การสร้างความเข้มแข็งทางใจ ด้วยการจัดการความคิดและอารมณ์ในเชิงบวก การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและสนับสนุนซึ่งกันและกันในสังคม การมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลาย รวมไปถึงการดูแลร่างกายผ่านการพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เหล่านี้คือส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลฟื้นคืนจากภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากที่สุด
ดังนั้น การเข้าใจและปฏิบัติต่อโรคซึมเศร้าด้วยมุมมององค์รวม จึงเป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงในยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง การเข้าใจภาวะซึมเศร้าอย่างลึกซึ้งจำเป็นต้องมองให้ไกลกว่าสารเคมี และหันมาใส่ใจกับทุกมิติของชีวิตมนุษย์อย่างแท้จริงจึงเป็นทางออกที่สำคัญอย่างมาก
ในหนังสือ The Myth of Normal: Trauma, Illness, and Healing in a Toxic Culture (Maté & Maté, 2022) ผู้เขียนได้เสนอแนวคิดที่ชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมในสังคมปัจจุบันมีความเป็นพิษต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างมาก พวกเขาปฏิเสธมุมมองที่ว่า สารเคมีในสมองเพียงอย่างเดียวเป็นต้นเหตุของโรคหรือภาวะซึมเศร้า แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คัดค้านการใช้ยาในการรักษา
เพราะจริง ๆ แล้ว ในบางสถานการณ์ ยาช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น คำกล่าวในหนังสือที่ว่า “ถ้าคุณไม่ได้ใช้ยาอยู่ คุณก็คงไม่สามารถมานั่งคุยอยู่อย่างตอนนี้ได้ ผมไม่ได้มีปัญหากับแนวทางแพทย์ที่พวกเขาจ่ายยา แต่ปัญหาคือมันมักจะเป็นสิ่งเดียวที่พวกเขาทำ” แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนตระหนักถึงประโยชน์ของยา แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ยาเป็นทางออกเพียงอย่างเดียว
ประเด็นสำคัญที่ผมยกขึ้นมาคือ โลกของเราทุกวันนี้พึ่งพาการใช้ยามากจนเกินไป โดยเฉพาะกับโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น สมาธิสั้น โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือความเครียด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ยาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขต้นตอของปัญหาได้ทั้งหมด เพราะยังมีปัจจัยด้านจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ชีวิตของบุคคลที่ต้องคำนึงถึง
คำอธิบายของผู้เขียนจึงเสนอว่าควรให้การเยียวยาอย่างรอบด้านเพื่อช่วยผู้ป่วยให้ฟื้นฟูตนเองได้อย่างยั่งยืน การรักษาด้วยยาอาจช่วยบรรเทาอาการเฉพาะหน้า แต่จำเป็นต้องควบคู่ไปกับกระบวนการอื่น ๆ เช่น การบำบัดทางจิตใจ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และการจัดการกับสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ
เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นว่าการรักษาใครคนหนึ่งให้ดีขึ้น ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างร่วมกัน เปรียบเสมือน “แพ็กเกจ” ของการเยียวยา ซึ่งครอบคลุมการดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม การส่งเสริมทักษะในการรับมือกับความเครียด การให้คำปรึกษา รวมถึงการสนับสนุนจากครอบครัวและสังคม ล้วนจำเป็นต่อการสร้างความแข็งแกร่งทั้งทางอารมณ์และจิตใจ ไม่ใช่เพียงการรอให้ยาออกฤทธิ์เพียงอย่างเดียว
ด้วยเหตุนี้ การมองโรคซึมเศร้าผ่านแง่มุมที่หลากหลาย และความเข้าใจถึงบทบาทของวัฒนธรรมที่เป็นพิษ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นฟูอย่างแท้จริงและยั่งยืนในระยะยาว
อ้างอิง
Maté, G., & Maté, D. (2022). The myth of normal: Trauma, illness, and healing in a toxic culture. Avery.
World Health Organization. (2021). Depression. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/depression
โฆษณา