28 มี.ค. เวลา 06:06

100 ปี ชาตกาล ท่านกูฏ ศิลปินชั้นครูผู้บุกเบิกจิตรกรรมฝาผนังไทยร่วมสมัยในวัด วัง โรงแรม

“เสาต้นนี้สะท้อนการทำงานของพ่อ การทำให้ภาพมีชีวิตชีวาและมีมิติ การผูกรอยต่อระหว่างจิตรกรรมไทยประเพณีและร่วมสมัย และการใช้สีแบบอิมเพรสชันนิสม์”
ในโอกาส 100 ปีชาตกาล ของ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ (1 ตุลาคม 2468 - 20 ตุลาคม 2525) หรือที่รู้จักกันในนาม ท่านกูฏ ศิลปินชั้นครูผู้บุกเบิกจิตรกรรมฝาผนังไทยร่วมสมัย ทายาทจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง โครงการสืบสานผลงานของท่านกูฏ นับตั้งแต่การสานต่อจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเทพพล ย่านตลิ่งชัน ที่ท่านเขียนค้างไว้ก่อนเสียชีวิตให้เสร็จสมบูรณ์
การร่วมบูรณะงานจิตรกรรมบนเสาปูน 2 ต้นที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ การถอดชิ้นงานจิตรกรรมบนฝาผนังปูนที่ร้านศรีวิวัฒน์ไก่ย่างย่านราชดำเนิน เพื่อนำไปอนุรักษ์ รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลงานจิตรกรรมที่ท่านกูฏเขียนไว้ตามที่ต่างๆ เช่น พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ โรงแรมมณเฑียร และโรงแรมอนันตรา สยาม เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลออนไลน์เผยแพร่แก่สาธารณชนให้ได้เรียนรู้ผลงาน การทำงาน และแนวคิดของบรมครูผู้ล่วงลับ
หนึ่งในสถานที่ที่ผู้สนใจสามารถดูผลงานของท่านกูฏได้อย่างใกล้ชิดคือ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่มีการปรับโฉมใหม่และได้นำเสาปูนขนาดใหญ่สองต้น น้ำหนักต้นละ 5 ตัน ที่ท่านกูฏได้เขียนภาพจิตรกรรมไว้เมื่อ พ.ศ.2513 และเคยอยู่ในห้องอาหารไทย เบญจรงค์ มาอนุรักษ์และนำมาประดับเป็นส่วนหนึ่งของล็อบบี้ใหม่
โดยทางโรงแรมได้ร่วมมือกับทายาทนำโดยลูกสาวสองคนของท่านกูฏ ภาพตะวัน และ กาพย์แก้ว สุวรรณกูฏ ดำเนินการบูรณะงานจิตรกรรมบนเสาตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม ถึงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2568 และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าชมขั้นตอนการบูรณะได้ ณ ใจกลางล็อบบี
ขั้นตอนการบูรณะงานจิตรกรรมบนเสาขนาดใหญ่เริ่มจากเก็บลวดลายต้นฉบับของเดิมด้วยการลอกลายเพื่อนำไปทำเป็นภาพพิมพ์ลายฉลุ หลังจากนั้นขัดผิวผนังด้านนอกของเสาออกเพื่อเตรียมพื้นผิวให้พร้อมจึงเริ่มลงลายเส้นผ่านภาพพิมพ์ลายฉลุบนเสา ลงสี และเก็บรายละเอียดทั้งหมดให้ใกล้เคียงกับงานต้นฉบับมากที่สุด การบูรณะจะทำเฉพาะส่วนล่างของต้นเสาที่เรียกว่าลายเชิงเท่านั้น เพราะเป็นส่วนที่เคยมีการซ่อมและลงสีทับผิดไปจากต้นฉบับ ส่วนภาพที่อยู่ช่วงบนของเสานั้นยังคงสภาพดีจึงเพียงแค่ทำความสะอาดเท่านั้น
“พ่อมีความเป็นศิลปินมาก ผลงานมีชีวิตชีวาและใช้อารมณ์ความรู้สึกในงานอย่างตรงไปตรงมา เป็นแบบออร์แกนิกที่ลื่นไหลอย่างงดงาม มีความสนุกของการใช้สีอย่างลงตัวเหมือนงานอิมเพรสชันนิสม์ ใช้สีเหมือนรุ้ง แต่ไม่สด เรียกว่าซัดสีเต็มที่ ใช้คู่สีตรงข้ามได้อย่างสนุก
เช่น ส้ม-เขียว น้ำเงิน-ชมพู เหลือง-ม่วง ลายด้านบนของเสาจะเป็นเหมือนกำไลซ้อนกันเรียกว่าลายแก้วชิงดวง และมีการผสมลายประจำยามและกนก ส่วนตรงลายเชิงจะมีการผูกลายผสมผสาน เช่น ลายประจำยาม ลายก้ามปู ลายกรวยเชิง ลายกระจัง และลายพิกุล เพื่อให้รูปทรงและพื้นที่ลงตัวไหลลื่นต่อเนื่อง”
โฆษณา