28 มี.ค. เวลา 10:41 • ข่าว

ตึกถล่มบางซื่อดับ 3 ราย เร่งค้นหา 67 ชีวิตติดในซากอาคาร

สุดโศก! เด็ก 1 เดือน ป่วยวิกฤตเสียชีวิตช่วงอพยพ
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน  (EOC) เหตุแผ่นดินไหวเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ จนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
ทั้งนี้ นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผอ.กองสาธารณสุขฉุกเฉิน รายงานสถานการณ์ผลกระทบสรุปเมื่อเวลา 16.00 น. ได้รับผลกระทบ 17 จังหวัด รวม กทม. โดย กทม.ถือว่าหนักสุด โดยเฉพาะกรณีอาคารที่กำลังก่อสร้างคือ สำนักงานของ สตง.ถล่ม มีทีมกู้ชีพเข้าไปประจำใกล้จุดเกิดเหตุ สิ่งที่ต้องการสนับสนุนมากที่สุดคือน้ำเกลือ ซึ่งมีการระดมเข้าไปช่วยเหลือแล้ว
ส่วนผลกระทบในต่างจังหวัด คือ เขตสุขภาพที่ 1 ได้รับผลกระทบทั้งหมด 8 จังหวัด คือเชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำพูน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ส่วนใหญ่เป็นตึกร้าว บางส่วนผนังร้าว ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย
เขตฯ 2 ได้รับผลกระทบที่จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ มีปัญหาตึกร้าว
เขตฯ 3 ชัยนาท ตึกรพ.ชัยนาทนเรนทร ร้าว
เขตฯ 4 นนทบุรี อาคารรพ.บางกรวย และรพ.บางใหญ่ มีรอยร้าว
เขตฯ 5 รพ.ศูนย์นครปฐม และรพ.บ้านแพ้ว สมุทรสาคร ร้าว
เขตฯ 7 รพ.มหาสารคาม มีรอยร้าวเล็กน้อย
เขตฯ 8 รพ.เลย อาคารร้าว
ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ว่าที่เลขาธิการ สพฉ.คนใหม่ รายงานว่า ได้ประสานศูนย์เอราวัณ และศูนย์รับแจ้งเหตุทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ ขณะนี้ทางศูนย์การแพทย์นเรนทร ได้ส่งทีมเข้าไปให้การช่วยเหลือในการค้นหาผู้ที่ติดในซากอาคารย่านจตุจักรที่ถล่มลงมา พร้อมบุคลากรเข้าไปช่วยเหลือในการประสานงานทีมกู้ชีพ และการส่งต่อผู้ได้รับผลกระทบไปยังโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงนำรถสื่อสารเข้าไปอำนวยความสะดวกในพื้นที่เรื่องจากมีปัญหาเรื่องสัญญาณโทรศัพท์มือถือค่อนข้างหนาแน่น ทำให้ประงานลำบาก
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีเหตุตึกถล่มบริเวณบางซื่อหลังได้รับผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหว เบื้องต้นมีรายงานคนงานก่อสร้างประมาณ 407 คน ขณะนี้มีการมารายงานตัวแล้ว 340 คน สูญหาย 67 คน ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย นำส่ง รพ.สีกัน 2 ราย รพ.วิมุต 1 ราย และ รพ.พญาไท 2 ราย ส่วนอีก 3 ราย อาการเล็กน้อยได้กลับบ้านแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตมีจำนวน 3 ราย
มีการจัดทีมกู้ชีพกู้ภัยในการเข้าช่วยเหลือผู้ติดค้างแล้ว โดยมีทีมของ รพ.พระมงกุฎเกล้า เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีศูนย์เอราวัณประสานในการส่งตัวผู้บาดเจ็บไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งในส่วนของสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขพร้อมประสานในการรับดูแลผู้บาดเจ็บ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมทีมพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลในการชันสูตรผู้เสียชีวิตด้วย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
ทั้งนี้ได้มีข้อสั่งการดังนี้ คือ 1.ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา 2.สำรวจประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งอาคาร อุปกรณ์ ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และคนไข้ โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเตรียมประเมินความเสียหายโครงสร้าง 3.กรณีหมดเหตุอาฟเตอร์ช็อกแล้ว หากอาคารไม่ร้าว หรือเห็นว่ามีความปลอดภัย ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตัดสินใจในการทำแผนนำคนไข้กลับเข้าที่เดิม
4.เตรียมความพร้อมทีมแพทย์ออกไปดูแลประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บตามที่ร้องขอ  5.เตรียมพร้อมโรงพยาบาล บุคลากร เครื่องมือ เวชภัณฑ์ให้มีความพร้อมมากขึ้น  6.จัดทีมประสานงานอำนวยการสั่งการและทีมสื่อสาร โดยมอบหมาย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นโฆษกสื่อสาร  7.เตรียมระบบชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต 8.จัดเตรียมทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ทั้งจากกรมสุขภาพจิต 1,000 คน และจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ดูแล
ด้าน นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ที่เสียหายค่อนข้างมากคือ รพ.เลิดสิน พบว่าอาคารร้าว ทางเชื่อมตึกยุบตัวลง แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ สำหรับคนไข้หนักก็มีการส่งต่อออกมาหมดเรียบร้อยแล้ว เคสที่ต้องผ่าตัดก็ผ่าตัดเรียบร้อย โดยสรุปเคสผู้ป่วยต่างๆ ของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ เราสามารถจัดการได้เรียบร้อย
นพ.สกานต์ บุนนาค
ได้รับรายงานว่า ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) มีเด็กเสียชีวิต 1 ราย อายุ 1 เดือน โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกในสมอง อาการค่อนข้างวิกฤต และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือร่วมกับญาติคนไข้ตั้งแต่แรกแล้วว่า เป็นรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว และกำลังย้ายออกจากไอซียู เด็กหัวใจหยุดเต้น 1 ครั้ง และปั๊มหัวใจขึ้นมา แล้วก็หยุดเต้นอีก โดยบุคลากรได้พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว
โฆษณา