31 มี.ค. เวลา 04:00 • ธุรกิจ

อะไรคือ เส้นแบ่งบาง ๆ ที่กั้นระหว่าง การวางแผนภาษี กับการหลบหลีกภาษี

“รู้ทันภาษี ≠ หนีภาษี”
แน่นอนว่าการหนีภาษีนั้น ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ที่ถ้าถูกจับได้ก็จะทำให้สูญเสียทั้งเงินทอง และชื่อเสียงที่สั่งสมมา จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
อีกอย่างทางกรมสรรพากรก็เปิดช่องทาง ให้ประชาชนคนทั่วไปเสียภาษีน้อยลง ด้วยการมีเหล่าค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่ทำให้เราสามารถวางแผนภาษี เพื่อให้เสียภาษีน้อยลงอย่างถูกกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ยังมีช่องโหว่ ที่ทำให้หลายคนที่มองเห็นช่องทางนี้ ใช้วิธีที่ไม่ได้มีบอกไว้อย่างชัดเจน ในการหลีกเลี่ยงภาษี ให้ตัวเองเสียภาษีน้อยลง
จนนำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า การวางแผนภาษี (Tax Planning) และการหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) แตกต่างกันตรงไหน ?
เพราะทั้ง 2 อย่าง ก็ดูเหมือนไม่ผิดกฎหมาย และก็มีจุดมุ่งหมายเหมือนกันคือ การเสียภาษีให้น้อยที่สุด
แล้วเส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
การวางแผนภาษี (Tax Planning) คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และใช้สิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
1
ภาษีที่เราต้องเสียจะคำนวณมาจากเงินได้สุทธิ
โดยเงินได้สุทธิ = เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
จากสูตรนี้ เราจึงสามารถเห็นแนวทางในการลดภาษีได้
3 วิธีหลัก นั่นคือ
3
- การลดเงินได้พึงประเมิน คือการกระจายหน่วยภาษี
เช่น สามีภรรยาเลือกยื่นแบบรวมกันหรือแยกกัน หรือแบ่งสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ
- การเพิ่มค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักภาษีได้
นั่นคือ เราสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หรือแบบตามจริงก็ได้เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง
- การใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บิดามารดา
รวมถึงประกันชีวิต ประกันบำนาญ ประกันสุขภาพ กองทุนรวม RMF, Thai ESG รวมถึง Thai ESGX ที่ออกมาล่าสุด และค่าลดหย่อนอื่น ๆ
ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ ทางกรมสรรพากรได้เปิดให้ใช้ได้อย่างถูกต้อง เป็นการวางแผนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ในขณะที่การหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) เป็นการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้เสียภาษีน้อยลง โดยมักอาศัยการตีความกฎหมายแบบเข้าข้างตนเอง
แต่ถึงแม้การหลบหลีกภาษี จะไม่ใช่การหนีภาษี (Tax Evasion) ที่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้แปลว่า จะทำให้เราปลอดภัยจากการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง และทำได้ตลอดไป
เพราะสุดท้ายแล้ว การจะมองว่าการกระทำไหนเป็นการหลบหลีกภาษีหรือหนีภาษี ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของกรมสรรพากร
ตรงนี้หากเรากับกรมสรรพากรตีความเหมือนกันก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากกรมสรรพากรตีความไม่เหมือนกับเรา ทางกรมสรรพากรก็มีอำนาจในการเรียกเราไปเสียภาษี พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
และหากเราไม่เห็นด้วยกับการประเมินนั้น เราก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ซึ่งหากยังไม่เห็นด้วยอีก ก็จะเข้าสู่ศาลภาษีอากร ต่อด้วยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และสิ้นสุดที่ศาลฎีกา
อีกทั้งถ้าหากกรมสรรพากรเห็นว่าช่องโหว่แบบนี้ ทำให้รัฐเสียรายได้ที่ควรจะเก็บภาษีได้ มากจนเกินไป ก็จะออกกฎหมายใหม่ ๆ มาปิดช่องโหว่นี้อยู่ดี ในอนาคต
เพราะฉะนั้น แม้การหลบหลีกภาษีจะมีความใกล้เคียงกับ การวางแผนภาษี เพราะทั้ง 2 อย่างต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน
นั่นก็คือ การจ่ายภาษีให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้ภายใต้กรอบกฎหมาย
เพียงแต่ทั้ง 2 อย่างนี้ มีกระบวนการใช้ที่แตกต่างกัน
- การวางแผนภาษี จะเน้นที่ความถูกต้อง ครบถ้วน โดยใช้สิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- การหลบหลีกภาษี จะเน้นที่ผลลัพธ์เป็นหลัก โดยใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เสียภาษีให้น้อยที่สุด และให้ความสำคัญกับความถูกต้องตามกฎหมายเป็นเรื่องรอง
ดังนั้น หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ การวางแผนภาษีก็คือสีขาว การหนีภาษีคือสีดำ ส่วนการหลบหลีกภาษีก็คือสีเทา นั่นเอง
มาลองดูตัวอย่างกันว่า มีเทคนิคอะไรบ้าง ที่หลายคนใช้กันเพื่อทำให้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งก็มีทั้งที่ยังใช้ได้อยู่ และปัจจุบันนี้ใช้ไม่ได้ผลเหมือนเดิมแล้ว
1. การจัดตั้งคณะบุคคล
ในอดีตคนที่มีรายได้สูง อย่างเช่น แพทย์ ดารา วิศวกร นิยมตั้งคณะบุคคล เพื่อเป็นการกระจายรายได้ ช่วยลดฐานภาษีที่ต้องจ่าย
1
คณะบุคคล คือ กลุ่มคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงทำกิจการร่วมกัน แต่ไม่ต้องการแบ่งกำไรกัน
วิธีการก็คือ แทนที่เงินจะรวมอยู่กับเราในหน่วยภาษีเดียว ทำให้เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น
ก็จัดตั้งคณะบุคคลเพื่อกระจายรายได้ ออกเป็นหลาย ๆ กลุ่ม บางคนถึงกับตั้งคณะบุคคลเป็นสิบกลุ่ม ทำให้แต่ละกลุ่มมีฐานภาษีต่ำลง ส่งผลให้ภาษีรวมที่ต้องจ่ายน้อยลง
เมื่อมีการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายอย่างแพร่หลาย กรมสรรพากรจึงมีการแก้ไขประมวลรัษฎากร โดยบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558
ใจความคือ เมื่อคณะบุคคลมีการแบ่งรายได้ จะต้องเสียภาษี 2 รอบ คือในนามคณะบุคคล และผู้รับส่วนแบ่งต้องนำรายได้นั้น มาคำนวณรวมกับเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้ง
ซึ่งทำให้การจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อประหยัดภาษีแบบเดิม แทบไม่เหลือประโยชน์อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ คณะบุคคลก็ยังพอใช้บริหารภาษีได้บ้าง โดยการให้คณะบุคคลรับเงินไว้ แล้วค่อยทยอยแบ่งรายได้ออกมาให้เรา ในปีภาษีที่เรามีรายได้น้อย
2. การบริหารเงินได้จากต่างประเทศ
1
หลักการภาษีของบ้านเรา คือ หากรายได้เกิดขึ้นในไทย เราก็ต้องเสียภาษีในไทย
แต่ในกรณีที่มีรายได้จากต่างประเทศ จะเสียภาษี เมื่อเข้าเงื่อนไข 2 ข้อพร้อมกัน
- อยู่ในไทยเกิน 180 วัน ในปีภาษีนั้น
- นำรายได้เข้ามาในไทย ภายในปีภาษีเดียวกัน
นั่นหมายความว่า ถ้าเราอยู่ในไทย 180 วัน ในปี 2565 และมีรายได้จากต่างประเทศในปี 2565 แต่โอนเงินเข้ามาเป็นปี 2566
เราก็จะไม่เสียภาษี เพราะไม่เข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อ
ซึ่งเทคนิคนี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จนกระทั่งล่าสุด กรมสรรพากรจึงได้ออกหลักเกณฑ์ใหม่ บังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567
ที่มีใจความสำคัญก็คือ หากมีรายได้จากต่างประเทศ และปีนั้นอยู่ในไทยเกิน 180 วัน ถ้านำเงินกลับเข้ามาในไทยปีภาษีใด ให้เสียภาษีปีนั้น
ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือ อาจจะเลือกโอนเงินนั้น กลับเข้ามาในปีที่มีรายได้น้อย หรือตอนเกษียณ เพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง
หรืออีกวิธีคือ ปีที่มีรายได้จากต่างประเทศ ปีนั้นเราต้องอยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วัน เมื่อโอนเงินกลับเข้ามา เราจึงจะไม่เสียภาษี
มาต่อกันที่ส่วนเทคนิคอื่น ๆ ที่หลายคนใช้กันอยู่ คือ
- พิจารณาเปลี่ยนรายได้ที่เป็นเงินเดือนที่เสียภาษีบางส่วน ไปเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้น
อย่างค่าเบี้ยเลี้ยง ค่ารักษาพยาบาล รถประจำตำแหน่ง และอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ควรดูรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างรอบคอบ
- การแปลงเงินได้ สำหรับคนที่มีรายได้ที่สามารถแปลงได้ เช่น
หากมีรายได้จากการจ้างงานหรือเงินเดือน ประเภทที่ 1 แปลงไปเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ ประเภทที่ 6
ซึ่งกลุ่มที่สามารถทำได้คือ แพทย์ ทนายความ นักบัญชี วิศวกร และสถาปนิก
หากมีรายได้จากการรับจ้างหรือฟรีแลนซ์ ประเภทที่ 2 แปลงไปเป็นเงินได้จากธุรกิจอื่น ประเภทที่ 8
ซึ่งอยู่ในรูปแบบการประกอบธุรกิจ ที่มีลูกจ้าง มีค่าใช้จ่ายเยอะ และมีสำนักงาน
การแปลงประเภทเงินได้จะช่วยให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ส่งผลให้เสียภาษีน้อยลงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ต้องทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสอดคล้องกับลักษณะการทำงานจริงด้วย
- กำหนดเวลารับเงิน
การทำแบบนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากเกณฑ์เงินสด โดยหลักการสำคัญของเกณฑ์เงินสดก็คือ รับเงินปีภาษีใด ให้นับเป็นรายได้ของปีภาษีนั้น
ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ หากปีนี้เรามีรายได้สูง ก็เลื่อนการรับเงินบางส่วนไปปีถัดไป เพื่อให้นับเป็นรายได้ปีถัดไป
ในทางกลับกัน หากเราคาดว่าปีหน้าจะมีรายได้สูงกว่าปีนี้ ก็อาจจะพิจารณาเร่งรับเงินในปีปัจจุบันแทน
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า เส้นแบ่งระหว่างการวางแผนภาษี กับการหลบหลีกภาษี ไม่ได้อยู่ที่ความถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย
1
แต่อยู่ที่เจตนา ข้อเท็จจริง และความสอดคล้องระหว่าง รูปแบบกับเนื้อหาด้วย
เพราะฉะนั้น พื้นที่โซนสีเทา ๆ อย่างการหลบหลีกภาษีนี้ จึงขึ้นอยู่กับสายตาของกรมสรรพากร และดุลยพินิจของศาล
ซึ่งต่างอย่างสิ้นเชิงกับการหนีภาษี ที่ผิดกฎหมายชัดเจน อย่างการปลอมแปลงเอกสาร การแจ้งรายจ่ายเท็จ หรือการทำบัญชี 2 เล่ม
การวางแผนภาษีจึงไม่ใช่การหนีภาษี แต่คือการรู้จักสิทธิของตัวเองตามกฎหมาย และใช้สิทธินั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เพราะแม้เราจะมีหน้าที่เสียภาษีในฐานะพลเมือง แต่การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อไม่ให้เราต้องเสียภาษีมากเกินกว่าที่ควร ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำเช่นกัน..
#วางแผนการเงิน
#หลักการวางแผนการเงิน
#วางแผนภาษี
References
-Q&A คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566
-หนังสือ รู้อะไรไม่สู้รู้จักวางแผนภาษี โดย คุณสาธิต บวรสันติสุทธิ์
โฆษณา