29 มี.ค. เวลา 03:00 • อสังหาริมทรัพย์

ความเสี่ยงกว่าหมื่นตึก กทม. ที่สร้างก่อนปี 2550 เสี่ยงรับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว

โดย ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (บทความเผยแพร่เมื่อ 29 มิ.ย. 2566)
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางที่เมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร วานนี้ (28 มี.ค. 68) ซึ่งหลายพื้นที่ในไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน และตึกสูงสั่นไหว มีการอพยพคนออกจากตึกสูงทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
รวมถึงเหตุสลดเนื่องจากมีเหตุอาคารถล่ม บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร และมีผู้ติดค้างจำนวนมากนั้น
ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร จึงย้อนกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนย้อนอ่านบทความ “แผ่นดินไหว และตึกระฟ้าในกรุงเทพมหานคร” โดย ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (บทความเผยแพร่เมื่อ 29 มิ.ย. 2566) เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
เนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้..
“ประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก ในขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ถึงแม้จะอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวหลายร้อยกิโลเมตร แต่อาจได้รับผลกระทบได้เช่นกัน
เนื่องจากโครงสร้างชั้นดินใต้พื้นที่นี้มีลักษณะเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนหนา ซึ่งมีความสามารถในการขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ไกลจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวก็ตาม
ประเทศไทยมีประกาศกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เมื่อปี พ.ศ. 2550 และมีการปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ.2564
กฎกระทรวงดังกล่าวบังคับให้ผู้ออกแบบ ออกแบบอาคารให้สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้ได้ตามข้อกำหนดและมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 1,569 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าไม่ใหญ่มากเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่น แต่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 5 ล้านคน และยังเป็นพื้นที่ที่มีการรวมธุรกิจประเภทต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ส่งผลให้มูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมีราคาสูงขึ้นตามลำดับ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีราคาสูงนี้ให้มีคุณค่าและมีมูลค่าสูงสุด
นักลงทุนจึงนิยมก่อสร้างอาคารประเภทต่าง ๆ ให้มีลักษะเป็นอาคารที่มีความสูงเป็นพิเศษและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนและดึงดูดลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ เช่น คอนโดมิเนียม โรงแรม อาคารสำนักงาน เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจำนวนอาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีจำนวนอาคารสูงมากกว่า 14,000 หลัง และเป็นอาคารสูงที่ขออนุญาตและก่อสร้างหลังจากกฎกระทรวงปี พ.ศ.2550 ประมาณ 3,000 หลัง
อย่างไรก็ตาม อาคารสูงอีกประมาณ 11,000 หลัง ออกแบบและก่อสร้างก่อนกฎกระทรวงปี พ.ศ.2550 จะประกาศใช้งาน แต่กลุ่มอาคารสูงเหล่านี้ได้มีการพิจารณาผลกระทบจากแผ่นดินไหวในขั้นตอนการออกแบบแล้วในเบื้องต้น แต่อาจไม่เทียบเท่ากับกฎกระทรวงและมาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
แผ่นดินไหวถึงแม้จะมีแหล่งกำเนิดไกลหลายร้อยกิโลเมตรจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่บ่อยครั้งที่ผู้ใช้งานอาคารสูงหลายแห่งในพื้นกรุงเทพมหานครสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นได้ ดังจะเห็นจากสื่อ
เนื่องจากระบบเตือนภัยด้านแผ่นดินไหวล่วงหน้าของประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งไม่ทราบถึงระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีการติดตั้งระบบตรวจวัดการสั่นสะเทือนของอาคารไว้
โฆษณา