29 มี.ค. เวลา 03:46 • ไลฟ์สไตล์

แผ่นดินไหว จุดกำเนิดของการไตร่ตรอง

คิดอยู่นานว่าเราควรจะเขียนบันทึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวาน (28 มีนาคม 2568) ในแง่มุมไหนดี แว่บแรกคิดว่าอยากเขียนถึงความรู้สึกที่มีต่อคนที่เรารัก เพราะหลังจากที่ทุกคนผ่านสถานการณ์ที่เราไม่เคยเจอ คลังสมองจะประมวลข้อมูลที่มีแล้วสรุปออกมาตามแต่ประสบการณ์และความรู้ของแต่ละคน ทั้งนี้ในสถานการณ์เช่นแผ่นดินไหวเมื่อวาน การประมวลผลของสมองย่อมเป็นไปในทางเลวร้าย บางคนกลัวมาก บางคนกลัวน้อย แต่แน่นอนว่าทุกคนกลัว
เวลาประมาณ 2 นาทีของความสั่นไหว เรากลัวตาย แต่เมื่อผ่านพ้นจุดนั้นแล้ว เราจะเริ่มกลัวว่าคนที่เรารักปลอดภัยดีหรือไม่ …อันนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับทุกคน
แต่เมื่อคิดแล้วคิดอีก ก็ตัดสินใจว่าอยากบันทึกเรื่องหนึ่งที่เริ่มต้นจากบทสนทนาระหว่างดิฉันกับลูกสาว ด้วยความที่ลูกสาวดิฉันเป็นคนเซนซิทีฟกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อใดก็ตามที่โลกเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น (ตามปกติ) เธอจะรู้สึกกังวลเป็นอย่างมาก และครั้งนี้ก็เช่นกัน ว่ากันว่านี่คือแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 95 ปีที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ดังนั้นคนอายุอย่างเราหรือแม้แต่พ่อแม่ปู่ย่าตายายจึงไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน
ด้วยความกลัวทำให้บทสนทนาของเรานำไปสู่การพูดคุยเรื่องโลกแตก ซึ่งมีหลากหลายทฤษฎีที่คำนวณเวลานับถอยหลังของโลกใบนี้ แม้จะแตกต่างกันในเรื่องเวลา แต่ที่เราต้องยอมรับคือ ทุกคนรับรู้และยอมรับว่าโลกใบนี้มีวันหมดอายุ
ลูกสาววัย 16 ปีของดิฉันพูดว่า “หนูยังมีเรื่องที่อยากทำเยอะเลย” ประโยคนี้ทำให้ดิฉันกลับมาถามตัวเองเช่นกัน ยังมีอะไรที่เราอยากทำ ต้องทำ หรือยังไม่ได้ทำอีกบ้าง อะไรที่สำคัญกับเรา ‘หากไม่มีวันพรุ่งนี้’
การไตร่ตรองความคิดแบบนี้เป็นอะไรที่ดิฉันปฏิเสธอยู่เสมอ เพราะเมื่อคิดว่าตัวเองจะต้องตาย ใจมันสั่นค่ะ แต่ครั้งนี้ดิฉันลองฝืนตัวเองคิดต่อไป ความกลัวตายมากขึ้นตามลำดับ แต่ก็ทำให้สมองได้ตรึกตรองเฟ้นหาสิ่งที่สำคัญในชีวิตได้จริงๆ ใครคือคนที่สำคัญกับเรา เรื่องใดที่สำคัญกับเรา สิ่งใดที่สำคัญกับเรา …สุดท้ายสำหรับดิฉันแล้วการคิดถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เรากลัวตายหรือไม่กลัวตาย แต่ทำให้มองเห็นภาพชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการชัดเจนมากขึ้น
และหวังว่านับจากนี้ตัวเองจะใช้ชีวิตแบบไม่ประมาท จดจำไว้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ ใช้ชีวิตในทุกวันให้คุ้มค่า เหมือนดั่งว่าวันพรุ่งนี้อาจมาไม่ถึง
ปล. ขออนุญาติใช้ภาพประกอบจากหนังสั้นของนักเรียน Open School เรื่อง Behind the film (ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนแต่อย่างใด)
โฆษณา