29 มี.ค. เวลา 06:35 • ข่าว

สรุปมัดรวม แผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568
จนถึงขณะนี้ ครบ 24 ชั่วโมงแล้ว สรุปข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง
1) จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ อยู่ตอนกลางของประเทศเมียนมาร์ จากรอยเลื่อนสกายที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมาเป็นระยะอยู่ก่อนแล้ว
ศูนย์กลางแผ่นดินไหว เมืองมัณฑะเลย์
2) จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 1000 กิโลเมตร และถ้านับจากชายขอบของแผ่นดินไหวในเมียนมาร์ จะอยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 500 กิโลเมตร
ขอบเขตแผ่นดินไหวครั้งนี้
3) ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นคือเวลา 13:20 น. เป็นต้นไป และติดตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายสิบครั้ง
4) ความรุนแรงสูงสุดของแผ่นดินไหวครั้งนี้คือ 8.2 ริกเตอร์ ซึ่งหน่วยของริกเตอร์นั้น
•ระดับ 7 จะแรงกว่าระดับ 6 อยู่ 10 เท่า
•ระดับ 8 จะแรงกว่าระดับ 7 อยู่ 10 เท่า
•ดังนั้นระดับ 8 ก็จะแรงกว่าระดับ 6 อยู่ 100 เท่า
•ทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศเมียนมาร์จากแผ่นดินไหวครั้งนี้ จำนวนหลายร้อยคน ผู้บาดเจ็บนับพันคน
5) ผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงต่อกรุงเทพฯได้แก่
5.1 อาคาร สตง. : สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างขนาด 30 ชั้น มูลค่า 2100 ล้านบาท ได้พังถล่มลงมาทั้งหลัง
อาคารสตง.ที่พังถล่มลงมา
ทำให้พบผู้เสียชีวิตแล้ว 13 คน บาดเจ็บนับสิบราย และสูญหายกว่า 100 ราย
5.2 เครนก่อสร้างบริเวณอาคารสูงย่านบางโพ หล่นลงมาทับอาคารใกล้เคียง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
5.3 เครนก่อสร้างอาคารริมทางด่วน ได้ล้มลงมาทับด่านทางด่วนดินแดง ทำให้ต้องปิดการจราจรบริเวณด่านทางด่วนดินแดง ส่งผลกระทบกับจราจรในวงกว้างอย่างรุนแรงทันที
5.4 ทางเชื่อมระหว่างตึกของอาคารสูงย่านทองหล่อ ได้แยกออกจากกัน
6) ผลกระทบอื่นๆ
6.1 รถไฟฟ้าโยกคลอนอย่างรุนแรง แต่ไม่มีรายงานข่าวผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ
6.2 มีอาคารสูงจำนวนมาก สั่นไหวตัวจนน้ำบนสระชั้นบนกระฉอกลงมาข้างล่างเหมือนน้ำตก
6.3 มีการขนย้ายผู้ป่วยจำนวนมาก จากอาคารสูงของโรงพยาบาลทุกแห่ง ทำให้เกิดสภาวะที่ยุ่งยากต่อการดูแลรักษาเป็นอย่างยิ่ง
6.4 ความเสียหายเท่าที่มีการรายงานจากคอนโดต่างๆ พบขั้นต้นจำนวน 38 คอนโดในเขตกรุงเทพมหานคร
6.5 เกิดการจราจรที่ติดขัดอย่างรุนแรงทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร ตลอดเย็นจนถึงค่ำ เนื่องจากรถไฟฟ้าต้องปิดให้บริการ และทางด่วนบริเวณด่านดินแดงปิด ส่งผลกระทบไปทั้งระบบของทางด่วน ประชาชนบางส่วนไม่สามารถเดินทางกลับที่อยู่อาศัยของตนเองได้ และบางส่วนต้องใช้เวลายาวนานนับหลายชั่วโมงจึงจะกลับถึงที่พักได้
แผ่นดินไหวในครั้งนี้ แม้เกิดที่ประเทศเมียนมาร์ ห่างจากประเทศไทยหลาย ร้อยกิโลเมตร แต่ก็ยังส่งผลกระทบเข้ามาถึงประเทศไทยได้
จึงมีรายงานการสั่นไหวจนอาคารบ้านเรือน มีภาวะการแตกหรือร้าว จำนวน 28 จังหวัด ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ยกเว้นส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีเลยทีเดียวสำหรับประเทศไทยเรา
สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยยังถือว่าโชคดีมาก ที่ไม่ได้อยู่ในแนวรอยเลื่อนที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงโดยตรง
แม้ในประเทศเพื่อนบ้านจะมีความรุนแรงมากถึงระดับ 8.2 ริกเตอร์ แต่ของเราก็มีผลกระทบน้อยกว่าเมียนมาร์มากทีเดียว
ถ้าไม่นับอาคารขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้าง และเครนที่หล่นลงมา ก็ถือว่าไม่มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวโดยตรง
และจากการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ต้องถือว่าปลอดภัยครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ที่อยู่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตกของประเทศไทย
ระบบรถไฟในต่างจังหวัด
ระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าทั้ง 11 สายของกรุงเทพมหานคร
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทุกแห่งของกรุงเทพฯและปริมณฑล
ทั้งหมดล้วนแต่ยังสามารถรองรับคลื่นแผ่นดินไหวที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พวกเราต้องตระหนักร่วมกันว่า การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การก่อสร้างอาคารสูง ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือสำนักงาน
จำเป็นจะต้องคำนึงถึงการรองรับระดับของแผ่นดินไหวที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย แม้ประเทศประเทศไทยเราเองจะไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวโดยตรงก็ตาม
โฆษณา