🛎️ ภาวะผู้ตามกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ 🚪🗝️

เมื่อพูดถึงการทำงาน หลายคนมักให้ความสำคัญกับ “ภาวะผู้นำ” แต่รู้หรือไม่ว่า “ภาวะผู้ตาม” (Followership) ก็เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จในองค์กรเช่นกัน!
ผู้ตาม คือ ผู้ที่แสดงบทบาทเป็นผู้ปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ขององค์กร และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของผู้นำและองค์กร
ภาวะผู้ตาม คือ ภาวะที่บุคคลมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความมีประสิทธิภาพในการทำงาน มีความกระตือรือร้น มีความคิดสร้างสรรค์ มีความทะเยอทะยาน และพึ่งพาตนเองได้
..
🔎 ผู้ตามที่มีคุณภาพ คือ ผู้ที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนผู้นำ และส่งเสริมความสำเร็จขององค์กร โดย โรเบิร์ต เคลลี่ (Robert Kelley, 1992) ได้แบ่งลักษณะของผู้ตามออกเป็น 5 แบบ
1️⃣ แบบปรปักษ์ : ผู้ตามที่มีความเป็นอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์สูง แต่มีพฤติกรรมที่เฉยเมย ห่างเหิน ส่วนใหญ่เป็นผู้ตามที่มีประสิทธิผล มีประสบการณ์ มีความสามารถมองเห็นปัญหาหรือจุดบกพร่องที่ตนสามารถแก้ไขได้ แต่ก็จะไม่ยอมเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหานั้น จึงมีแนวโน้มที่ผู้ตามแบบนี้จะถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง
2️⃣ แบบปรับตาม : ผู้ตามที่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน แต่จะไม่โต้แย้งกับผู้นำ ยอมทำตามคำสั่งโดยไม่คำนึงถึงว่างานนั้นจะเป็นอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
3️⃣ แบบเฉื่อยชา : ผู้ตามที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำงานหรือเรียกอีกแบบหนึ่งว่าผู้ตามแบบแกะ (Sheep) มีความเชื่องช้า ต้องมีผู้คอยตรวจสอบและควบคุมความก้าวหน้าของงานตลอดเวลา ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำงานตามคำแนะนำของผู้อื่นไม่พยายามที่จะพึ่งพาตนเอง ไม่มีความกระตือรือร้น
4️⃣ แบบมีประสิทธิผล : ผู้ตามแบบนี้เป็นผู้ตามที่มีประสิทธิภาพ กระตือรือร้น คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ตนเอง กล้าแสดงออก มีความสามารถในงาน พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีความภักดี ให้ความร่วมมือ มีความคิดสร้างสรรค์และมีความคิดริเริ่มสูง มีความสามารถในการบริหารจัดการตนเองและแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น
5️⃣ แบบเอาตัวรอด : ผู้ตามที่มีลักษณะโดยรวมของผู้ตามทั้ง 4 แบบ คือมีลักษณะของผู้ตามแบบปรปักษ์ แบบปรับตาม แบบเฉื่อยชา และแบบมีประสิทธิผล โดยจะแสดงพฤติกรรมแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่ารูปแบบใดจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ผู้ตามแบบนี้จึงไม่มีเป้าหมายที่แน่นอน แต่จะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมเพื่อความอยู่รอดของตนเอง
คุณลักษณะภาวะผู้ตามมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการปฎิบัติงาน ทั้งในด้านปริมาณงาน ด้านเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงาน และด้านคุณภาพของงาน
✨ พัฒนาภาวะผู้ตามให้แข็งแกร่ง เพราะ “ผู้นำที่ดี มาจากการเป็นผู้ตามที่ดี” แล้วคุณล่ะ เป็นผู้ตามแบบไหน?
📌 คอลัมน์หน้ามาพบกับ “ทักษะผู้ตามที่ดี” กดติดตามไว้เลย!
—————————
Create by aj.ying
โฆษณา