29 มี.ค. เวลา 15:57 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] MAYHEM - Lady Gaga >>> เริงระบำวันมืดมน

-หลังฟังจบ รู้สึกดีใจและเกินคาดที่เจ๊กาก้าสามารถ throwback ไปสู่ยุค The Fame ที่ผมเคยตื่นเต้นและเป็น first impression ให้กับผมและใครหลายคน แต่มันก็มีเงื่อนไขแห่งข้อจำกัดของอายุ เทรนด์ electro/synth-pop ที่ตอนนี้ไม่ล้ำเหมือนแต่ก่อน และ Lady Gaga ก็ไม่ใช่ศิลปินที่ถูกจดจำในฐานะคน set trend ได้เหมือนแต่ก่อนแล้ว
-ตอนแรกผมแทบไม่คาดหวังอะไรจากเจ๊เลยครับ เพราะสามอัลบั้มก่อน Artpop, Joanna และ Chromatica อยู่ในทรงไม่ว้าวเท่า The Fame และ Born This Way ดีบ้าง งั้นๆบ้างผสมปนเป เลยทำให้ไม่เห็นแววที่เจ๊จะสามารถกลับไปสู่โหมดแดนซ์ชิคๆแบบ The Fame ได้อีกต่อไป
-แรกเริ่มการมาของซิงเกิ้ลแรก Disease ก็ทำให้ผมไม่ตื่นเต้นมากนัก Abracadabra ก็ไม่คิดจะฟัง เห็นหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เจ๊แกกลับมาแล้ว ผมก็ยังกั๊กไม่รีบฟัง หนักกว่านั้นคือ จำไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่า อัลบั้มปล่อยตอนไหน รู้ตัวอีกที อ้าวเห้ย ! ชนกับงานเดี่ยว Jennie หรอวะเนี่ย แต่สิ่งนึงที่ทำให้ผมสนใจอัลบั้มนี้กลับกลายเป็นปกอัลบั้ม เท่านั้นเลย สนใจเพราะรูปโฉมมากกว่าเนื้องานอย่างที่ควรจะเป็น และการถูกดึงดูดด้วยปกอัลบั้มกลับกลายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องโดยที่ได้รับความเอ็นจอยกลับไป
-เจ๊แกทำได้ในแบบที่ไม่รู้สึกว่ากำลัง redo The Fame ให้เราจับไต๋ได้ ด้วยวิทยาการอันล้ำสมัยกลับมีผงชู industrial มาเป็น base หลักให้เพลงเหล่านั้นมีทั้งการหวนรำลึกถึง vibe ที่คุ้นเคยที่เพิ่มเติมด้วยพลังงานกระหึ่มกว่าที่เคย มันเลยทำให้สุ้มเสียงดั้งเดิมที่เจ๊แกเคยมีไม่ได้ล้าสมัยจนตกขบวน
-ยังคง relevant ด้วยการเรียนรู้ที่หยิบจับเทรนด์ป็อปในช่วงหลังโควิดและป็อปรุ่นป้ารุ่นลุงมาผสมปนเปบ้าง ปรับค่าไม่ให้โฉ่งฉ่างเกินไปเพื่อคงคาแรคเตอร์พี่กะเทยสุด freak อันแสนคุ้นเคยก็ยังไม่ให้จางหาย ซึ่งเจ๊แกก็ยอมรับเลยว่า นี่คืองานที่อนุญาตให้ตัวเองได้ซึมซับอิทธิพลรอบด้านเข้ามาบ้าง แทนที่จะทำให้ Mayhem เป็นชุดโฉมใหม่ไปเลย
-ความไม่น่าเชื่อเริ่มต้นตั้งแต่แทร็คแรกเพลงเดียวกับเพลงที่ผมรู้สึกเฉยๆตั้งแต่ตอนเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วย Disease ด้วยความ rage และ dark pop ที่ไม่ได้ใหม่ก็จริง แต่กลับกลายเป็นความเหมาะเหม็งที่สร้างความเร่งเร้าได้ดีพอที่จะปูทางสู่พลังงานด้านมืดบางอย่าง
เจ๊ต้องการจะเล่าเรื่องการเต้นรำกับ inner demons ความขมขื่นในชีวิตชื่อเสียง และด้านมืดของตัวแกเอง แลดูเป็นขั้วตรงข้ามกับเพลง The Cure (ที่เป็นซิงเกิ้ลแยกในปี 2017 ไม่เกี่ยวกับวงร็อค) แต่อันที่จริง Disease เหมือนโดนโรครุมเร้าจากการยิ่งหนียิ่งเจอ เพราะมันคือความเจ็บป่วยทางใจที่เป็นส่วนนึงของเธอไปแล้ว นั่นคือสิ่งเราจะได้เจอใน MAYHEM ต่อจากนี้
-หากแปลคำว่า MAYHEM ตามพจนานุกรมก็คือ ความโกลาหล ประทุษร้าย ซึ่งดูรุนแรงและอันตราย แต่ vibe ที่นำเสนออกมาค่อนข้างสนุกสนาน hopeful ไม่น่ากลัวถึงขั้น aggressive รุนแรงตามชื่อเรื่อง เจตนารมย์แห่งการเต้นรำไปกับพลังงานลบจากภายในและภายนอกจึงไม่เกิดความรู้สึกขมขื่นจนห่อเหี่ยวตาม ถ้า Disease คือการเปิดอัลบั้มด้วยความรู้สึกแข็งขัน เพลงต่อจากนี้แทบจะเริงร่าให้ย้อนแย้งไปเลย
-Abracadabra ซิงเกิ้ลลำดับถัดมาที่เมื่อได้ฟังรู้สึกเห็นพ้องต้องกันกับคนที่รู้สึกว้าวเมื่อตอนปล่อยแรกๆ ถึงจะเป็นบทท่องมนต์ที่ถูกศิลปินอื่นใช้เป็นชื่อเพลงและแทรกในเนื้อเพลงเยอะซะเหลือเกินในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ในเวอร์ชั่นของเจ๊กาก้ายังคงเล่นจังหวะจะโคนแบบ break dance ที่นอกจากจะเต้นหุ่นยนต์ตามได้แล้ว ยังชวนให้ฮัมตามได้โดยอัตโนมัติ ตอกย้ำสกิล earworm ที่ยังคงไม่จางหาย
ความ weird แห่งการท่องมนต์โอมมะลึกกึ๊กกึ๋ยเต้นสะบัดท่ามกลางซาตานชุดแดงที่แลดูเฮฮาและเฟรนด์ลี่เหลือเกิน ซิงเกิ้ลนี้ถือเป็นตัวชูโรงที่สอดรับกับอัลบั้มด้วยคำถาม dance or die ไปกับคลื่นชีวิตในเวลาเดียวกัน
-Garden of Eden แค่ชื่อเพลงรู้เลยทันทีว่าต้องเล่นเรื่องอะไร สวนสวรรค์ Eden ที่มีกฏเหล็กอยู่ข้อนึง ห้ามแดกแอปเปิ้ลจากต้นไม้แห่งความดีและชั่วร้ายเป็นอันขาด ซึ่งเพลงนี้ก็คงหนีไม่พ้นการโดนสิ่งยั่วยุที่นำพาไปสู่ความชิบหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นความบาปที่มาในแนวทางเต้นยั่วๆบดๆซุกซนในผับแสงสี พร้อมทั้งตบบีทจัดเต็มในช่วง Outro ด้วย
-Perfect Celebrity เริ่มเข้าสู่โหมดประชดประชันแห่งการพยายามบาลานซ์ความหลากหลายในตัวตนเซเลปของเธอที่บางครั้งก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศสมบูรณ์แบบ แต่ในขณะเดียวกันการได้เป็นเครื่องมือของอุตสาหกรรมวงการบันเทิงยิ่งกัดกร่อนความเป็นมนุษย์ในตัวเธอเช่นกัน
ด้วยความหวือหวาของชื่อเสียงนำมาซึ่งดาบสองคมที่มีทั้งคนชอบและเกลียดพอๆกัน นี่ถือเป็นหัวใจหลักของความเป็น MAYHEM ความโกลาหลย้อนแย้งภายในตัวเองตามที่เจ๊ต้องการจะดีลกับมันอยู่ตลอด โทนเพลง electro-grunge สุดเร่งเร้าที่เฟียสและเข้มข้นตามอารมณ์โกรธที่คุกกรุ่นในมุมของคนสาธารณะที่ถูกมองว่าเป็นตุ๊กตายางมาโดยตลอด
-Vanish Into You เป็นเพลงใจสลายก็จริง แต่โทนเพลงโคตรจะ hopeful สวนทางความเฮิร์ทหลังการจากลา แต่ผมโคตรชอบเอามากๆ โดยเฉพาะ vocal การลากเสียงเว้าวอนในท่อนฮุกและเป็นบัลลาดที่ไม่ได้มาตามสูตรมิติเดียว verse ก็ถูกแปลงค่าการเอื้อนเอ่ยให้เอคโค่ ประหนึ่งเล่าเรื่องของคนที่ลืมคนรักเก่าไม่ได้จนอยากจะไปสิงสู่คนๆนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปเลย ฟังดูแอบโรคจิต แต่ความติดหูของการเว้าวอนที่ผมชอบนักชอบหนากลับทำให้เพลงที่จงใจให้หลอนกลายเป็นซาบซึ้งกินใจ ลดความโศกไปได้
มีคนสันนิษฐานด้วยว่า เจ๊แอบอุทิศเพลงนี้ให้กับปู่ Tony Bennett ที่เคยร่วมงานด้วยกันเต็มๆถึง 2 คอลแลปอัลบั้ม และได้จากโลกนี้เมื่อปี 2023 โดยเฉพาะประโยคในท่อนฮุก We were happy just to be alive บอกเป็นนัยยะแห่งความปิติยินดีที่เจ๊ได้มีโอกาสร่วมงาน และได้วนเวียนอยู่กับปู่ Tony ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่
-สำหรับเพลง Zombieboy ชัดเจนว่า เธอต้องการอุทิศให้หนุ่มรอยสักฉายาเดียวกันกับชื่อเพลงอย่าง Rick Genest ที่เคยร่วมงานในเอ็มวี Born This Way อันสุดกระฉ่อน (ในแบบที่เมื่อทำเพลงนี้ก็นึกถึง Rick อยู่ตลอดเวลา) ซึ่งเพลงนี้ก็เป็นการพร่ำบ่นถึงชีวิตหลังเฉลิมฉลองที่เริ่มจะห่อเหี่ยวเหมือนซอมบี้ ทั้งๆที่เมื่อคืนที่ผ่านมายังสามารถปาร์ตี้มีความสนุกกันอย่างสุดเหวี่ยงอยู่เลย vibe มาแนวเฉลิมฉลองฉาบด้วยดิสโก้ชวนให้ปรบมือพลัน
-Killah ฟังแล้วตบเข่าฉาด นี่มัน Prince ชัดๆ โดยเฉพาะสำเนียงเสียงร้องสุดกรีดกรายจิกกัดตวาดๆ รู้เลยว่าได้อิทธิพลบุรุษสีม่วงผู้ล่วงลับมาเต็มๆ Gesaffelstein ดีเจและโปรดิวซ์เซอร์สาย EDM ดันได้มาเป็น featuring ด้วยบทบาทสำคัญในการสับบีทยับๆในท่อนโซโล่ เป็นความต่างที่พอจะหลบเลี่ยงการโดนข้อครหาความเหมือนไปได้โดยสนิทใจ
-LoveDrug และ How Bad Do U Want Me เป็นการตอกย้ำเซนส์ป็อปที่น่าจะซื้อใจคนฟังได้อย่างต่อเนื่อง LoveDrug คือการตกหลุมพรางเสพติดความรักเสียจนกลัวที่จะโดดเดี่ยว Verse ปูทางมาด้วยบีทที่หนักแน่นแข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเจอท่อน Hook ที่โชว์พลังเสียงแบบโอเปร่าและ punchline ก็เด็ดซื่อตรงสุดๆ “ไม่เอาหรอกความเศร้า ชั้นขอเต้นไปเรื่อยๆจนกว่าจะโอเค แต่ชั้นก็อยากได้ยาแห่งความรักมาฮีลใจจะได้ไหม?” เป็นยาขมที่ติดงอมแงมแน่นอน
-ในขณะที่ How Bad Do U Want Me กดสูตร mid-tempo synth pop (โคตรจะ Taylor Swift) แต่ก็สามารถเน้นความไดนามิคได้ไหลลื่น พร้อมกับตั้งคำถาม self-identity ในความสัมพันธ์ที่ต้องอยู่บนความคาดหวังว่าต้องเป็น Good Girl ในสายตาของหนุ่มๆเสมอ เพราะใครๆก็ชอบ Good Girl ในเมื่อความเป็นสาวแสบที่อาจไม่ดีพอ มันเลยเป็นความน้อยใจที่ถูกตีตกด้วยการโดนเปรียบเทียบอยู่ร่ำไป
ตอนแรกที่เจ๊แกลังเลจะไม่รวมเพลงนี้ในอัลบั้มเนื่องจากป็อปเกินไป ขัดตีมดำมืดที่ควรจะเป็น แต่เผอิญว่าคู่หมั้น Michael Polansky (ผู้ซึ่งมีเครดิท co-writer ทั้งสิ้น 7 เพลง) ดันชอบที่เจ๊แกดันฮัมเพลงนี้ในครัว เมื่อได้ดูบริบทแล้ว การตัดสินใจที่เอาเพลงนี้เข้ามารวมจนได้ก็เป็นความเหมาะเหม็งในการตอบโจทย์การเล่นประเด็นดีลความยุ่งเหยิงภายในใจได้เหมือนกัน
-Don’t Call Tonight ก็มาแนวทาง europop ใกล้เคียงกับ Dua Lipa ในยุค Future Nostalgia ริทึ่มคึกคัก แต่คอนเทนท์เล่าเรื่อง toxic relationship ที่อีกฝ่ายจ้องอยากจะมีอะไรตลอดเลย ทั้งๆที่นั่นคือการยัดเยียดมากกว่าให้ความรักกันจริงๆ
-Shadow Of A Man ใครชอบ Madonna, Kylie Minogue น่าจะชอบจริตสำเนียง disco pop ลักษณะนี้ และชูความ feminine แห่งการดิ้นรนภายใต้แรงกดดันและเงาแห่งสังคมปิตาธิปไตย (โดยเฉพาะโลกอุตสาหกรรมบันเทิง) ที่บางครั้งเราต้องปลงเพื่อที่จะได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำต่อไป ไม่น่าจะมีใครชนะได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ด้วยความที่อัลบั้มนี้คือการซึมซับอิทธิพลจากคนอื่น มันก็มีบ้างที่เธอซึมซับอิทธิพลของบุรุษผู้มาก่อนกาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฉกเช่นการได้รับอิทธิพลของ David Bowie ที่เธอเคยทำการแสดงเพื่อ tribute และเพลงที่ผมแอบแซวก่อนหน้านั้นอย่าง Killah ที่ดัดสำเนียงแบบ Prince มันก็เลยเชื่อมโยงกับสิ่งที่ต้องการสื่อใน Shadow Of A Man ที่ไม่อยากให้มองว่าเป็นสิ่งที่ผิด การอยู่ใต้ร่มเงาไม่ใช่กรงขังที่จำกัดการแสดงออกของตัวเองเสียทีเดียว อยากจะโอบรับก็ทำไปเถอะ
-The Beast ทุกคนต่างมี “สัตว์ประหลาด” ที่ซุกซ่อนเป็นธาตุแท้ของตัวเอง เปรียบเปรยนิทานมนุษย์หมาป่ากับชีวิตจริงในฐานะ Lady Gaga ที่ใครๆก็ต่างรับรู้ถึงคาแรคเตอร์แปลกประหลาดที่อาจไม่น่ารักหรือพึงประสงค์ต่อใครหลายคน แต่โปรดแยกแยะว่า นี่คือการแสดงออกทางศิลปะก็เท่านั้น เป็นอีกหนึ่งความไม่มั่นใจที่มีต่อคู่หมั้นคนปัจจุบันเพราะกลัวเข้าใจผิดเสียก่อน จังหวะดุ่มๆค่อนข้าง contrast กับท่อนฮุกที่ระเบิดพลังเสียงเต็มที่ไปพร้อมๆกับรีฟกีตาร์จัดจ้าน
-Blade of Grass ถือเป็น ballad minimal pop ที่ back to basic สุดๆ ลูกเล่นไม่ซับซ้อนเหมือนเพลงอื่นๆ และยังเป็นเพลงที่หวานแหววสุดๆเลยครับ ที่มาที่ไปก็ยังคงเกี่ยวกับคู่หมั้นคนปัจจุบัน Michael Polansky ที่ตั้งคำถามอย่างซื่อๆเลยว่า จะขอหมั้นด้วยวิธีไหนดี? เจ๊ก็เลยตอบไปว่า งั้นไปเอาหญ้าที่สวนหลังบ้านมาร้อยวงแหวนเลยก็ได้นะ
สุดท้ายไมเคิลก็ขอหมั้นด้วยการร้อยหญ้าเป็นแหวนให้เธอ ณ สวนหลังบ้านจริงๆ ซึ่งก็ตรงกับวัน April Fool’s Day จนเจ๊แกนึกว่าจ้อจี้ แต่ขอจริงนั่นแหละ เป็นความโรแมนติกที่เรียบง่ายทั้งท่วงทำนองและสตอรี่ที่ต้องมีพิธีรีตรองให้อลังการมาก โดยภายหลังไมเคิลก็ให้แหวนหมั้นสั่งทำสี rose gold 18 กะรัตไปตามระเบียบ
-จากเพลงที่ว่าด้วยการถูกขอหมั้นหมาย สู่การปิดท้ายด้วย Die With A Smile ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมถึงเลือกเพลงนี้ ผมไม่เถียงในเรื่องความไพเราะ ฮิตแบบไม่แปลกใจ แต่ด้วยความที่ MAYHEM ถูกปูทางด้วยเรื่องราวที่ส่วนตัวและ individual ของ Lady Gaga เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การมาของ Bruno Mars จึงไม่จักสำคัญต่อการรับเชิญเป็นบุคคลที่สองในท้องเรื่องอีกต่อไป ดูยังไงก็ bonus track เซอร์วิสแฟนอยู่ดีครับ
-ใครจะหาว่าเว่อร์ก็ช่างแม่งมัน ส่วนตัวผมยกให้ MAYHEM เป็น Top 3 ของเจ๊กาก้าไปเลย ยิ่งช่วงนี้ผู้เขียนคือนักฟังจำพวกติดแก่นิดนึง โหยหาอะไรที่ catchy ฟังง่าย ศัพท์แสงไม่ติด singer-songwriter ต้องใช้เวลามากมาย และที่สำคัญต้องเอ็นจอยแบบไม่จืดชืด ซึ่งการกลับมาในรอบเกือบ 5 ปีทำเอาผมยิ้มตั้งแต่แรกฟังเลยครับ
-แน่นอนว่ายังไม่มีอะไรใหม่และก็ไม่ได้ทำให้เจ๊กลับไปสู่สถานะของศิลปินผู้ set trend ได้อีกครั้ง ด้วยการมาของยุคสมัย Taylor Swift, Dua Lipa หรือแม้กระทั่ง Charli xcx ที่ได้สร้างแรงกระเพื่อม BRAT summer เมื่อปีที่ผ่านมา ปีนี้อาจจะไม่ใช่ปีของกระแส MAYHEM อย่างตูมตาม แต่สิ่งที่น่าจะซื้อใจคอเพลงป็อปก็คือ lyrics สุด catchy และภาคโปรดักชั่นที่โคตรแข็งแรงอันเป็นหัวใจขั้นต้นที่ป็อปสตาร์หลายท่านอาจมองข้ามไป
-การเลือกที่จะไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วและยอมให้ร่มเงาแห่งอิทธิพลเข้ามามีบทบาททางความคิดสร้างสรรค์ย่อมเกิดความ diversity ที่น่าสนใจอยู่บ้าง แต่มันอาจจะไร้ความหมายเลยถ้าหัวใจของมันไร้ซึ่งความบันเทิงอย่าง ซึ่ง MAYHEM เต็มเปี่ยมด้วยสิ่งพึงมีเหล่านี้ ภายใต้เมฆหมอกแห่ง dark gothic ที่ปกคลุมในอัลบั้มนี้ก็ไม่มีผลต่อการลดทอนความอร่อยของรสบันเทิงไม่ให้เกิดความขมปี๋จนเกินเหตุ
-การที่เจ๊ตอกย้ำอุดมการณ์ที่ไม่เลือกจะทำอัลบั้มนี้ในลักษณะการครีเอท outfit ชุดโฉมใหม่ขึ้นมา อย่างน้อยการลดความติดแกลมดังกล่าวก็นำมาซึ่งการฟังเสียงหัวใจตัวเองและใส่ความรู้สึกนึกคิดเพื่อเยียวยาตัวเองไปในตัว ในฐานะศิลปินสาวที่ผ่านความหวือหวาทางชื่อเสียงมากที่สุดคนนึง นั่นก็ relate กับแฟนเพลงผู้อยู่นอกซีนที่รับรู้ถึงความเป็นไปในชีวิตเธอไม่มากก็น้อย
-ถึงผมจะชอบอัลบั้มนี้ด้วยความเอ็นจอยตามที่บรรยายข้างต้น มันก็มีจุดที่น่าเสียดายบางอย่างที่แอบติดอยู่ในใจก็คงจะเป็นการที่อัลบั้มนี้หาทางจบอัลบั้มได้ไม่แนบเนียนก็เท่านั้น การเลือกจบด้วย Die With A Smile คงเป็นจุดที่คนฟังอัลบั้ม complain ในความเหมาะเหม็งในฐานะซิงเกิ้ลฮิตที่ทำหน้าที่แยกเป็นเอกเทศจาก MAYHEM ชัดเจนเกินไป
-ถ้าหากปิดท้ายด้วย Blade of Grass ก็คงจะไม่ใช่เพลงขมวดปมของ MAYHEM ที่หนักแน่นดีพอมากนัก ด้วยความรวบรัดที่เหมือนหนังที่จบง่ายไปนิดนึง ทั้งๆที่ปมการดีลกับความซับซ้อนในจิตใจที่ถูกปูทางมาอย่างดีและดูเหมือนว่ามันจะเป็น endless pain ที่หาทางขมวดปมได้ยากพอสมควร เราเลยได้เห็นการสรุปอัลบั้มด้วยความหวานชื่นในชีวิตรักปัจจุบันแทน
-ต่อให้ไม่สมบูรณ์แบบด้วยความแผ่วปลาย แต่นั่นก็เป็นแค่ปลายหางส่วนน้อยเท่านั้น ไม่มีผลมากนักต่อการกด skip ระหว่างทาง MAYHEM จึงเป็นความโกลาหลที่ใจชื้นกับการกลับมาที่ทำให้รู้ว่า Lady Gaga ยังคงฆ่าไม่ตายได้โดยง่าย รู้จักปรับตัวภายใต้พายุแห่งกระแสที่ผู้แข่งขันหลากหลายและสงครามการตลาดที่เข้มข้นเกินกว่าเนื้องาน แต่สิ่งที่แตกต่างคือความเข้มข้นของเจตจำนงที่เป็นตัวพิสูจน์ได้ว่า อะไรที่ทำให้ Lady Gaga เคยผ่านจุดสูงสุดของอาชีพมาแล้ว
จุดสูงสุดก็แค่แป๊บเดียว ที่เหลือคือการปรับตัวเท่านั้น
Top Tracks : Disease, Abracadabra, Garden of Eden, Perfect Celebrity, Vanish into You, Zombieboy, LoveDrug, How Bad Do U Want Me, Shadow of a Man
Give 8/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา