30 มี.ค. เวลา 01:12 • ไลฟ์สไตล์

ทำไมคนญี่ปุ่น​ไม่ตกใจเวลาเกิดแผ่นดินไหว

หากดูข่าวแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นภาพคนญี่ปุ่นเข้าแถวรับอาหารบ้าง หรืออยู่ในที่พักชั่วคราวอย่างสงบเงียบ ไม่มีการแตกตื่นหรือแย่งของแต่อย่างใด
ทำไมคนญี่ปุ่นถึงสงบนิ่งได้ขนาดนี้….
ดิฉันคิดว่ามี 5 เหตุผลหลักๆ ที่เกี่ยวข้องค่ะ
1. เจอแผ่นดินไหวบ่อยมาก
ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวญี่ปุ่นประกาศว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน (2016) มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้วกว่า 822 ครั้ง เอาแค่ความรุนแรงระดับ 4 คือ ระดับบ้านสั่นไหวขึ้นไปก็เกิดขึ้นแล้วกว่า 84 ครั้ง เกิดระดับ 5 (ของในบ้านเริ่มแกว่งไกว) อีก 10 ครั้ง …นี่แค่ในช่วง 4 เดือนนะคะ
หากดูข้อมูลตลอด 26 ปี (ตั้งแต่ม.ค. 1990 – เม.ย. 2016) เกิดแผ่นดินไหวบนเกาะญี่ปุ่นแล้วกว่า 69,772 ครั้ง (อ้างอิง: http://jisin.jpn.org/index.html ) จับหารเลขง่ายๆ แล้วนี่ เรียกได้ว่าญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวเฉลี่ยปีละสองพันกว่าครั้งเลยทีเดียว เรียกว่าเจอกันจนชินค่ะ
(คนญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าว่า ตอนเกิดแผ่นดินไหวที่โตเกียว ตัวเองอยู่ชินจูกุ ยืนกินไอติมอยู่ ฝรั่งอเมริกาวิ่งด้วยสีหน้าแตกตื่นมา แล้วมองหน้าเขาด้วยสีหน้าที่เหลือเชื่อประมาณว่า แผ่นดินไหวขนาดนี้ แกยังยืนเลียไอติมสบายใจอยู่ได้อย่างไร แต่สำหรับคนญี่ปุ่นคนนั้น มันแค่แผ่นดินไหวระดับ 3 สั่นนิดๆ พอเร้าใจ…มองต่างกันจริงๆ)
2. มีระบบการแจ้งข้อมูลต่างๆ
พอเกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ ญี่ปุ่นจึงมีระบบดูแลความปลอดภัยและระบบข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวให้ประชาชนญี่ปุ่นดีมากๆ สมัยอยู่ญี่ปุ่นเวลาดิฉันดูๆ รายการโทรทัศน์อยู่ (ส่วนใหญ่เป็นรายการตลก) จู่ๆ ก็จะมีตัวอักษรกระพริบๆ ขึ้นมาว่า “คำเตือน ขณะนี้ ที่….. เกิดแผ่นดินไหวระดับ …..”
หากเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณที่เราอยู่ ระบบโทรศัพท์มือถือก็จะส่งข้อความเตือนสั้นๆ มาแจ้งล่วงหน้า (ประมาณ 3 วินาที….) ด้วยค่ะ
พอเห็นข้อมูลทั้งในชีวิตประจำวัน และจากโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ เข้า เราก็จะชินนะคะ หากเกิดแผ่นดินไหวไม่แรงจริง ก็แค่นั่งนิ่งๆ รอให้มันหยุด แค่นั้นเอง (เปรียบเหมือนคนไทยไม่พกร่ม เวลาฝนตกก็แค่ยืนหลบฝนตามป้ายรถเมล์ รอให้ฝนหยุดตก …. อะไรประมาณนั้นมั้งคะ)
3. ฝึกซ้อมมาดี
คุณผู้อ่านเคยซ้อมหนีไฟอะไรบ้างไหมคะ ดิฉันจำได้อย่างเลือนรางมากๆ ว่า เคยอยู่ครั้งหนึ่งสมัยประถม จำได้แค่ว่าเสียงกริ่งดังนานมาก แล้วก็จำไม่ค่อยได้ว่า เราถูกสอนให้ทำอะไรบ้าง จำได้แต่กริ่ง ….. 555
1
คนญี่ปุ่นจะมีการซ้อมหนีไฟ ซ้อมเวลาเกิดแผ่นดินไหว ฯลฯ ต่างๆ บ่อยมากกกกกค่ะ ขอยกตัวอย่างบทสนทนาหนึ่งนะคะ
เกตุวดี: ที่ผ่านมา เคยซ้อมหนีภัยกี่ครั้งคะ
N ซัง: ทั้งชีวิตก็ซัก……………….50 ครั้งขึ้นไปมั้งครับ
เอ่อ…คือ…N ซังอายุแค่ 38 ปี แกบอกว่าซ้อมมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาไฟไหม้จะไปเอาถังน้ำที่ไหน ต้องทำยังไงเวลาเกิดแผ่นดินไหว ต้องหลบใต้โต๊ะ หรือหากเกิดภัยพิบัติบ้านพังถล่มทลาย พลัดพรากกับพ่อแม่ จะไปเจอกันที่ไหน ซ้อมกันหมดค่ะ พอเริ่มทำงานที่บริษัท บริษัทก็อบรมอีก แต่ของบริษัทจะแตกต่างอีกนิดหนึ่ง คือ มีการวางแผนด้วยว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ใครจะรับผิดชอบหน้าที่อะไร แล้วลองซ้อมตามแผนนั้น
ส่วนหน่วยงานราชการ ก็จะมีการซ้อมทำอาหารเลี้ยงคนช่วงภัยพิบัติ (ภาษาญี่ปุ่นคือ Takidashi) เพราะเวลาเกิดแผ่นดินไหว น้ำไฟจะถูกตัด คนญี่ปุ่นจึงต้องฝึกทำอาหารในสภาพที่ไม่มีน้ำประปาหรือไฟฟ้า เช่น หุงข้าวในหม้อ หรือต้มซุปหม้อใหญ่ๆ อย่างไร
เมืองโกเบที่ดิฉันเคยอยู่ถึงกับมีการจัดงาน Takidashi Day เหมือนเป็นเทศกาลเล็กๆ เพื่อระลึกถึงตอนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 1995 โดยหน่วยงานราชการและ NGO จะช่วยกันนำหม้อใบใหญ่ๆ มา และร่วมกันทำอาหาร แล้วก็ขายคนในท้องถิ่นค่ะ
เพราะฉะนั้นเวลาเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจริงๆ คนญี่ปุ่นก็รู้ว่าต้องทำอะไร เช่น ถ้าเกิดแผ่นดินไหวก็อยู่นิ่งๆ หาที่กำบัง หากทำอาหาร รีบปิดไฟ ปิดแก๊ส พอหยุดไหวก็รีบออกมาจากอาคาร หรือถ้าอาคารพัง บ้านถล่ม ก็ให้ไปรวมตัวกันที่โรงเรียนในแถบนั้น เพราะโรงยิมในโรงเรียนจะมีโครงสร้างแข็งแรง (เวลาญี่ปุ่นสร้างโรงเรียน จะสร้างให้เป็นอาคารกันแผ่นดินไหว แถมมีการตรวจวัดกันอย่างจริงจังด้วยว่าผ่านมาตรฐานหรือเปล่า)
พอซ้อมมาเป็นอย่างดี แล้วเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ก็ไม่ต้องตื่นตระหนกค่ะ
4. ไม่แสดงความรู้สึกแง่ลบ
คนญี่ปุ่นจะถูกฝึกให้อดทนกับสิ่งต่างๆ และพยายามไม่บ่น หรือโอดครวญกับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างในตำราจีบหนุ่มของสาวญี่ปุ่น….อ่านดีๆ นะคะ ตำราจีบ “หนุ่ม” ถึงกับเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “อย่านินทาคนอื่นหรือบ่นเรื่องต่างๆ ให้ผู้ชายฟัง” ส่วนผู้ชายญี่ปุ่นเอง หากบ่นว่างานหนักโน่นนี่ ผู้หญิงก็จะมองว่าเป็นคนไม่สู้งาน ชนชาติญี่ปุ่นเลยกลายเป็นไม่ค่อยแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา ไม่พอใจอะไร ก็เก็บเอาไว้
นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังมองว่าการบ่นเป็นการรบกวนคนอื่นหรือทำให้คนอื่นกังวลไปด้วย อย่างเวลาเพื่อนสาวญี่ปุ่นมาบ่นๆ อะไรให้ดิฉันฟัง พอบ่นจบพวกเธอก็มักจะบอกว่า “ขอบคุณนะที่ฟังฉันบ่น ฉันซาบซึ้งจริงๆ”
เพราะฉะนั้นเวลาเกิดแผ่นดินไหวแรงๆ แน่นอนทุกคนรู้สึกเศร้าแต่ไม่ค่อยแสดงออกมา เพราะคนญี่ปุ่น “เกรงใจ” ว่าจะทำให้คนรอบข้างไม่สบายใจไปด้วย พวกเขาเลยตัดสินใจเลือกที่จะเก็บความรู้สึกนั้นไว้กับตัวดีกว่า
5. อุ่นใจที่มีคน support
หน่วยงานรัฐบาลและองค์กรเอกชนต่างๆ จะร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นอย่างดี และเป็น “ระบบ” มากๆ เช่น รัฐบาลก็จะรีบเคลียร์ถนนและซากปรักหักพัง เพื่อเปิดเส้นทางลำเลียงเสบียงต่างๆ เข้าพื้นที่ประสบภัยได้ ธนาคารจะมีมาตรการพิเศษให้คนมายืนยันตัวเอง และทำสมุดธนาคารหรือถอนเงินได้
ส่วนเสบียงก็จะมีคนนำไปส่ง หรือเข้าไปตั้งครัวทำอาหารให้ หรือหน่วยงานเอกชนจะบริจาคน้ำเป็นลังๆ บริจาคอาหารเป็นชุดๆ ทุกอย่างถูกจัดการอย่างมีระบบเพื่อให้ของและความช่วยเหลือเข้าถึงพื้นที่ทั่วถึงที่สุด และรวดเร็วที่สุด (ส่วนรัฐบาลก็ต้องดูแลประชาชนให้ดี ไม่งั้นอาจถูกประชาชนญี่ปุ่นรุมด่าได้ การเข้าไปช่วยพื้นที่ประสบภัย ถือเป็นความท้าทายประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรัฐบาลเช่นกัน)
ลึกๆ ผู้ประสบภัยก็คงรู้แหละว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ไม่นิ่งดูดายพวกเขาหรอก อีกสักนิดความช่วยเหลือก็คงมา (เมื่อเปรียบเทียบกับตอนน้ำท่วมบ้านเรา ผู้ประสบภัยกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ไม่มีการรวมมาอยู่จุดเดียว จึงไม่น่าแปลกที่ทุกคนจะตื่นตระหนกหวาดกลัว และห่วงว่าจะมีใครพายเรือผ่านมาทางนี้บ้างไหม)
ดิฉันสังเกตว่า รัฐบาลท้องถิ่นจะไม่ค่อยรับของบริจาคจากประชาชนเท่าไร เนื่องจากต้องคอยจัดอาสาสมัครมาคัดแยก คอยเปิดกล่องเล็กกล่องน้อย และต้องจัดประเภท เขาจึงประกาศรับเงินบริจาคมากกว่าของบริจาค (คิดแบบเป็นระบบมาก….)
และนี่คือ 5 เหตุผลลึกๆ ที่ทำไมคนญี่ปุ่นถึงสงบนิ่งเวลาเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติค่ะ ☺ บ้านเราน่าเรียนรู้ระบบการจัดการของเขานะคะ เวลาเกิดน้ำท่วมหรือภัยอะไรอีก เราจะได้ไม่ตื่นตระหนกกัน
บทความโดย : เกตุวดี www.marumura.com
โฆษณา