30 มี.ค. เวลา 05:47 • ธุรกิจ

เปลี่ยน “ต้นทุนในภาวะวิกฤต” ให้เป็น “ต้นทุนทางการตลาด”

คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สะเทือนมาถึงกรุงเทพใจกลางเมืองหลวงของประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาที่เกิดเป็นช่วงไพร์มไทม์ของร้านอาหารต่างๆ เลย บ่ายโมงนิดๆ คนกำลังนั่งกินข้าวกันอยู่หรือไม่ก็กินใกล้เสร็จแล้วหรือไม่ก็รอเรียกบิล
เมื่อเกิดเหตุสั่นไหวรุนแรงโดยเฉพาะในอาคารสูงหรือห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่ร้านอาหารที่มีสเกลขนาดใหญ่หน่อยหรือเป็นเชนมีหลายแบรนด์ในเครือจะอยู่บนชั้นสูงๆ ของห้าง (แต่ก็มีหลายห้างจัดโซนไว้ชั้นใต้ดินใกล้ที่จอดรถ) คนที่อยู่ในร้านย่อมรู้สึกแตกตื่นและหาทางวิ่งกรูหนีออกมาอย่างชุลมุน
แน่นอนตอนนั้นทั้งลูกค้าและพนักงานในร้านย่อมต้องหนีออกมานอกอาคารก่อน ความปลอดภัยในชีวิตต้องมาก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่ตามมาหลังเหตุการณ์และกลับเข้าอาคารได้ คือ อาหารที่สั่งบนโต๊ะและยังไม่เช็คบิล ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?
เอาจริงๆ ร้านอาหารพวกนี้มีกล้องวงจรปิดในร้านอยู่แล้ว ถ้าลูกค้านึกเองได้อยากจะกลับมาจ่ายเงินค่าอาหาร มันก็ทำได้อยู่ ร้านพวกนี้มีระบบรับออเดอร์อยู่แล้ว รู้ว่าลูกค้าโต๊ะนี้สั่งอะไรบ้าง ถ้าเป็นร้านบุฟเฟต์ก็รู้ว่ามากี่คน
อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงวันที่ 29 มีนาคม 2568 ก็มีการแจ้งส่งข้อความประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางของร้านอาหารต่างๆ ทยอยส่งมา ไม่ว่าผ่านบัญชีไลน์ทางการของร้าน เพจร้าน หรืออื่นๆ ตัวผมเองก็ได้รับข้อความจากร้านที่เคยใช้บริการประจำและมีระบบสมาชิกอยู่เช่นกัน ข้อความไปในทางแพทเทิร์นเดียวกันหมดประมาณ “ทางร้านรับผิดชอบค่าอาหารมื้อนั้นให้เอง ลูกค้าไม่ต้องกังวล”
สิ่งแรกที่เราได้เห็นข้อความคือ “ทางร้านใจดีมาก ได้ใจเราไปเลย” ใช่แล้วครับ การทำเช่นนี้ของร้านอาหารต่างๆ สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการตลาดคือ การสร้าง Customer Loyalty กับ Customer Engagement หรือการปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าของเรา แล้วมันช่วยอะไร? แน่นอน
1. เพิ่มค่าดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งคือ Repeat Purchase Rate (RPR) แปลตรงตัวเลย เมื่อลูกค้าแฮปปี้กับเรา พวกเขาก็มีแนวโน้มจะกลับมาใช้บริการทางร้านเราต่อไปเรื่อยๆ (การซื้อหรือบริโภคซ้ำ) ในแง่ของความถี่กลับมาซ้ำหรือปริมาณอาหารที่สั่งในแต่ละครั้งที่มาก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย
ยกตัวอย่างเช่น วันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ลูกค้าเฉลี่ยสั่งอาหารต่อหัวราคา 200 บาท ทางร้านยอมจ่ายให้เข้าเนื้อทั้งหมด 200 บาท ลูกค้ารายนั้นก็มีโอกาสกลับมาอีกสูงและถี่ขึ้นด้วย อย่างถ้าเคยมาประจำเดือนละ 2 ครั้ง เขาอาจจะมาเป็นสัปดาห์ละครั้ง คือ เพิ่มทราฟฟิกเป็น 2 เท่าต่อเดือน และแต่ละครั้งอาจสั่งเพิ่มเฉลี่ยเป็น 250 บาท ดังนั้นประมาณภายในเดือนหนึ่งต่อไปทางร้านก็ได้คืนทุนแล้วสำหรับลูกค้ารายนี้
2. การทำ Customer Retention หรือการรักษาฐานลูกค้าประจำของร้านไว้ แน่นอนสำคัญในยุคที่การแข่งขันสูงสำหรับร้านอาหารในห้าง ลูกค้ามีตัวเลือกเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นร้านคู่แข่งโดยตรง (ขายอาหารประเภทเดียวกัน) หรือร้านคู่แข่งโดยอ้อม (ขายอาหารคนละแบบ) ผมว่าคนที่เรียนการตลาดย่อมรู้อยู่แล้ว การให้ลูกค้าเดิมกลับมาใช้บริการซ้ำใหม่กับเราย่อมมีต้นทุนต่ำกว่าการโฆษณาหาลูกค้าใหม่หลายเท่า
3. ง่ายต่อการโปรโมท New Product หรือเมนูใหม่ๆ ของทางร้าน เมื่อลูกค้ามีความพึงพอใจกับเราสูง พวกเขาก็ยินดีที่จะเปิดรับและอยากลองสินค้าใหม่ๆ ของเราในอนาคตครับ ดีไม่ดีบอกต่อโฆษณาให้เราด้วย
กรณีศึกษานี้น่าสนใจ เป็นการเปลี่ยน “ต้นทุนในภาวะวิกฤต” ให้เป็น “ต้นทุนทางการตลาด” ของธุรกิจร้านอาหาร
<เครดิตภาพปก: Travel News>
โฆษณา