27 เม.ย. เวลา 01:25 • ไลฟ์สไตล์

ง่ายและเร็ว หนทางสู่ความสำเร็จ

เราจะแก้ไขอะไรก่อนดี ระหว่างปัญหาระดับล่างหรือปัญหาระดับบน?
เป็นคำถามที่คนเป็นหัวหน้าต้องเคยมีโมเมนต์ถามตัวเองกันมาบ้างไม่มากก็น้อย
ปัญหาระดับล่าง เป็นปัญหาทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่ระดับปฏิบัติการ
ส่วนปัญหาระดับบน เป็นปัญหาระดับการบริหารหรือปัญหาเชิงนโยบาย
เรามีเวลาทำงานอย่างจำกัดแต่มีปัญหาท่วมหัว แล้วเราจะยกพื้นหรือยกเพดานให้สูงก่อนกัน?
ผมนึกถึงคำว่า “เก็บผลไม้ที่ห้อยอยู่ใต้ต้น“ หรือ “Low hanging fruit” เป็นการเก็บผลไม้ที่อยู่ใกล้มือดีกว่าต้องปีนป่ายเก็บลูกที่อยู่สูงเกินเอื้อม เป็นการเน้นให้เราโฟกัสปัญหาที่แก้ไขได้ง่าย รวดเร็ว ใช้ต้นทุนต่ำ แต่ให้อิมแพคหรือผลกระทบสูงก่อน ดีกว่าไปแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน ต้องลงทุนและมีระยะเวลาในการดำเนินการยาวนาน แต่ผลลัพธ์อาจจะได้ไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป นั่นก็คือหลักการของ Quick wins คือการทำสิ่งที่ทำได้ง่ายและเร็ว แต่ได้ผลลัพธ์หรือผลกระทบสูง
ตัวอย่างธุรกิจการค้า หากเราอยากได้ผลกำไรเพิ่ม ก็ควรที่จะไปลดต้นทุนในหน่วยงาน เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมที่หน่วยงานนั้นจะทำการปรับปรุงและกำจัดความสูญเปล่าต่างๆ ในการทำงาน มากกว่าไปเพิ่มราคาขายซึ่งมีผลกระทบกับลูกค้าที่มีกำลังซื้อที่แตกต่างกันและเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คืออาจจะเป็นช่องทางให้คู่แข่งเห็นจุดอ่อนเข้ามาตัดราคาแข่งกับเราได้
กลับมายังคำถามที่ว่า เราจะปรับปรุงปัญหาอะไรก่อนดี ระหว่างปัญหาระดับล่างหรือปัญหาระดับบน?
คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความจำเป็นของหน่วยงานนั้นๆ เลย
ถ้าการทำงานที่หน้างานหรือในระดับปฏิบัติการยังไม่นิ่งพอ กระบวนการทั่วไปที่เป็นพื้นฐาน รวมทั้งเรื่องคนที่หน่วยงานส่วนใหญ่มองว่าเป็นต้นทุน ไม่ใช่ทรัพย์สินนั้นยังเป็นปัญหาอยู่ ก็ควรที่จะรีบแก้ไขเป็นอันดับแรก เพราะตึกที่สูงตระหง่านดูมั่นคงย่อมเกิดจากอิฐหลายก้อนที่นำมาต่อและฉาบเรียงกันจนเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงสวยงาม
หากปัญหาระดับพื้นฐานนิ่งแล้ว ถ้าอยากจะข้ามไปแก้ปัญหาในระดับที่ยากหรือซับซ้อนในระดับองค์กรก็ไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่ต้องใช้ความรู้ความสามารถที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องมีทีมงานหรือที่ปรึกษาที่คอยช่วยเหลือสนับสนุน เป็นการทำงานเชิงรุกให้องค์กรทะยานก้าวไปข้างหน้า
ความจริงคุณจะยกพื้นหรือยกเพดานให้สูงก่อนกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของงาน เพราะสุดท้ายเราก็ต้องรักษาระยะห่างระหว่างพื้นกับเพดานซึ่งก็คือพื้นที่สำหรับชีวิตการทำงานให้ยังคงเท่าเดิม เพื่อให้ทุกอย่างยังเป็นไปตามที่ออกแบบไว้
สิ่งที่ต้องเน้นย้ำก็คือ คุณควรจะเริ่มจากงานที่ทำได้ง่ายและเร็วแต่ได้ผลลัพธ์ที่สูงก่อน พอทำได้แล้วจึงขยายผลออกไปยังปัญหาที่ยากมากขึ้น แค่นี้ก็ไม่มีอะไรมาฉุดความสำเร็จของคุณได้แล้ว
ถึงแม้ผลไม้ที่ยอดจะดูสวยงามน่ากินกว่า หากมันเกินเอื้อมนัก ก็ไม่แปลกที่เราจะเก็บผลไม้ที่ห้อยอยู่ใต้ต้นก่อน บางทีรสชาติมันอาจไม่ต่างกันเลย
แก้ไขปัญหาที่ง่ายและเร็วแต่ได้ผลลัพธ์สูงกันแล้วค่อยต่อยอดไปในระดับที่ยากขึ้น
โฆษณา