30 มี.ค. เวลา 15:00 • ไลฟ์สไตล์

ไม่ต้องเลี้ยงลูก แต่ต้องเลี้ยงตัวเองให้รอด 4 เรื่องที่ต้องวางแผนสู่ชีวิตเกษียณไร้ลูกหลานแบบมั่นคง

เรื่องนี้ aomMONEY ไปเจอมาเป็นเรื่องของคุณ ซูมิโกะ ตัน หัวหน้าคอลัมนิสต์และบรรณาธิการอาวุโสฝ่ายสิ่งพิมพ์ของ The Straits Times (สื่อของสิงคโปร์) เลยอยากเอามาแชร์ให้ทุกคนได้ขบคิดกัน สำหรับใครหลายคนที่วางแผนจะ “ไม่มีลูก”
ในช่วงหลายปีมานี้เทรนด์ DINK (Double Income, No Kids - คู่รักแต่งงานกันแต่ไม่ต้องการมีลูก) และ PANK (Professional Aunt, No Kids - สาวที่ครองตัวเป็นโสดและอยากเลี้ยงแค่หลาน) กำลังเป็นแนวทางใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ คนกลุ่มนี้เลือกที่จะไม่มีลูก เพื่อโฟกัสที่ตัวเองและการสร้างความมั่นคงทางการเงิน คุณซูมิโกะเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอแต่งงานตอนอายุ 46 ปี และไม่เคยคิดอยากมีลูก เพราะตระหนักถึงค่าใช้จ่ายและภาระที่มาพร้อมกับการเป็นพ่อแม่
จนเวลาล่วงเลยมาวันนี้เธออยู่ในวัยเกษียณ 61 ปี เธอยังรู้สึกเหมือนเดิมว่าตัวเธอเองไม่ได้รู้สึกเสียใจที่ไม่มีลูก — หรือจะเรียกว่า “การเลือกไม่มีลูก” เธอเลือกใช้คำนี้เพราะว่าเธอ “เลือก” จะไม่มีลูก ไม่ใช่ “อยากมี” แต่ทำไม่ได้
เธอเล่าว่าในช่วงชีวิตหนึ่งเธอสามารถใช้เงินได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการกันเงินไว้สำหรับค่าทริปวันหยุดของลูก คอร์สเรียนพิเศษ หรือค่าเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัย หรือเจ็บปวดจากความขัดแย้ง การห่างเหิน หรือความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก
แต่ว่า…
เมื่อเธออายุมากขึ้น เธอก็อดสงสัยไม่ได้ว่า
การตัดสินใจ “ไม่มีลูก” ของเธอ จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองหรือไม่?
และนี่คือ 4 ด้านที่เธอต้องวางแผน เพื่อตอบคำถามตัวเองว่า “ฉันจะดูแลตัวเองยังไงเมื่อแก่?”
สังคมที่สิงคโปร์ก็คล้ายๆ กับเมืองไทย กล่าวคือเมื่อพ่อแม่แก่ตัวลงลูกๆ ก็จะถูกคาดหวังว่าต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล แต่ในบางครอบครัวลูกๆ ก็ทอดทิ้งพ่อแม่ได้เหมือนกัน ดังนั้น ต่อให้จะมีหรือไม่มีลูก การที่ผู้ใหญ่ในวันนี้จะคาดหวังให้ลูกหลานที่มีอยู่ต้องกลับมาเลี้ยงดูจึงเป็นภาระทางความคาดหวังเรื่องหนึ่ง
ทว่าซูมิโกะเองไม่ต้องคิดเรื่องนั้น เมื่อเธอไม่ได้มีลูก ดังนั้น ระบบสนับสนุนจากลูกที่มีอยู่ในครอบครัวจึงไม่สามารถใช้ได้อย่างแน่นอน และนี่ชีวิต 4 ด้านในวัยเกษียณที่เธอต้องจัดการ
1. การเงิน - โดยเฉพาะประกันสุขภาพ
ซูมิโกะได้ยกคำกล่าวของ ลอร์นา แทน หัวหน้าฝ่ายให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงินของ DBS Bank ขึ้นมาลอร์นา บอกกับเธอว่า คนที่ไม่มีลูกมักจะหลงคิดว่าตัวเองมีความมั่นคงทางการเงินและมีเวลาเหลือเฟือในการวางแผนเกษียณ และเลือกที่จะให้รางวัลตัวเองด้วยการนวด อาหารมื้อหรู ทริปสุดหรู และบริการเสริมสวยให้สัตว์เลี้ยง จนลืมไปว่า ต้องวางแผนการเงินให้ดี โดยเฉพาะ เรื่องค่ารักษาพยาบาลและการดูแลระยะยาวอย่างรอบคอบ
1
เนื่องจากพวกเขาจะไม่มีลูกให้พึ่งพา จึงควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยแบบผู้สูงอายุ หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ
1
แต่ดังที่พี่ก้อย วิวรรณเคยกล่าวไว้ “การวางแผนการเงินไม่มีคำว่าสาย”
ซูมิโกะเองก็เพิ่งได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของตัวเองใหม่ และเริ่มตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และกำหนดแนวทางการใช้เงิน การออม และการลงทุนที่รอบคอบขึ้น โดยหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยให้ฉันมีเงินใช้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
เรื่องการวางแผนการเงินยังไม่สาย แต่สิ่งหนึ่งที่เธอรู้สึกเสียดายก็คือ “เธอมีเพียงประกันสุขภาพและประกันการดูแลระยะยาวขั้นพื้นฐาน” เธอรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้พิจารณาทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ประกันโรคร้ายแรง ที่จะจ่ายเงินก้อนเมื่อตรวจพบโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง หัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง ประกันความทุพพลภาพสำหรับการดูแลระยะยาว และประกันรายได้หลังเกษียณ
1
เธอบอกว่าประกันเหล่านี้จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ต้องจ่ายเอง ทดแทนรายได้ที่ขาดหาย และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม เพราะค่าเบี้ยประกันโรคร้ายแรงจะแพงขึ้นอย่างมากเมื่ออายุเกิน 60 ปี และบางบริษัทกำหนดให้ 60 เป็นอายุสูงสุดในการทำประกัน
1
2. ที่อยู่อาศัย - เมื่ออายุมากขึ้นพื้นที่ที่ต้องการก็เล็กลง
ซูมิโกะได้แต่หวังว่าเธอจะสามารถใช้ชีวิตในบ้านที่อยู่ตอนนี้ได้จนแก่เฒ่า แต่เธอก็เตรียมใจไว้แล้วว่า วันหนึ่งอาจจำเป็นต้อง “ปรับขนาด” ไปอยู่ในพื้นที่ที่เล็กลง ซึ่งดูแลง่ายและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า หรืออาจจะต้องย้ายไปอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุหรือบ้านพักคนชราถ้าเกิดว่าต่อไปนี้การจ้างแค่ให้แม่บ้านมาช่วยทำความสะอาดไม่เพียง
ซึ่งสิ่งที่เธอพยายามจะไม่คิดถึงคือราคาการเข้าอยู่ในบ้านพักคนชราเอกชนอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 7,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน และหากเป็นสถานดูแลระดับพรีเมียมที่มีห้องพักส่วนตัว ค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 10,000 ดอลลาร์หรือมากกว่านั้น—และนี่ยังไม่รวมค่าดูแลเพิ่มเติม เช่น ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์และกายภาพบำบัดอีก
3
3. การวางแผนมรดก
ซูมิโกะบอกว่าเธอเพิ่งรู้ว่าต่อให้ไม่มีลูก เธอก็ยังต้องคิดวางแผนมรดกและเขียนเป็นเป็นลายลักษณ์อักษรเรื่องของการกำหนดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับทรัพย์สินของเธอเมื่อเธอเสียชีวิตหรือตอนที่เธอตัดสินใจเองไม่ได้
เธอได้คุยกับเรื่องนี้กับทนายความด้านครอบครัวและการหย่าร้าง ทนายบอกกับเธอว่า “ควรเริ่มพิจารณาการจัดทำหนังสือมอบอำนาจแบบต่อเนื่อง (Lasting Power of Attorney – LPA) คำสั่งทางการแพทย์ล่วงหน้า (Advanced Medical Directive – AMD) และพินัยกรรมเพื่อกำหนดการแบ่งสรรทรัพย์สินหลังจากเสียชีวิต”
ทนายบอกกับเธอว่าเรื่องเหล่านี้ต่อให้มีหรือไม่มีลูกก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องจัดการเรื่อง พวกเขาก็ควรทำ เพราะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน
- Lasting Power of Attorney (LPA) คือการแต่งตั้งคนที่ไว้ใจให้ดูแลทรัพย์สินและการตัดสินใจด้านสุขภาพหากไม่สามารถทำเองได้ ถ้าคุณไม่ทำ คนในครอบครัวหรือเพื่อนอาจจะต้องยื่นต่อศาลและนั่นจะใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าคุณทำเอง
1
- Advanced Medical Directive (AMD) คือเอกสารทางกฎหมายที่ช่วยให้แพทย์ทราบว่าคุณต้องการปฏิเสธการรักษาบางประเภทที่ช่วยยื้อชีวิต ในกรณีที่คุณป่วยระยะสุดท้าย
- พินัยกรรม กำหนดการแบ่งทรัพย์สินอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาหลังจากเสียชีวิต หากไม่มีพินัยกรรม กฎหมายว่าด้วยการแบ่งมรดกจะถูกนำมาใช้ ซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินให้กับสมาชิกในครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่หรือบริจาคให้สาธารณะ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของคุณ
📍นอกจากการเตรียมเอกสารพินัยกรรมต่างๆ แล้ว เราอยากแนะนำแนวคิด Die with Zero เผื่อคุณอยากปรับแผนการเงินของตัวเองให้คุ้มค่าที่สุด
แนวคิดนี้ชวนให้ตั้งเป้าหมายว่า ในวันสุดท้ายของชีวิต เงินที่เหลือควรใกล้ศูนย์มากที่สุด เพราะเงินที่เราหามาตลอดชีวิตมีค่าแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราได้ใช้มันเติมเต็มประสบการณ์ให้ตัวเองมากน้อยเพียงใด หลายคนมักออมเงินมากเกินไปจนพลาดช่วงเวลาที่ควรใช้มันไปสร้างความทรงจำที่มีค่า
อย่าลืมว่า “ความทรงจำ” คือสินทรัพย์ล้ำค่าในยามเกษียณ เมื่อวันหนึ่งร่างกายอาจไม่พร้อมสำหรับการออกไปใช้เงินแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือเรื่องราวและประสบการณ์ที่เคยทำให้เรามีความสุข ภูมิใจ หรือแม้แต่หวานปนขม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตสมบูรณ์แบบในแบบของตัวเอง
4. การสนับสนุนทางสังคม
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอย่าลืมรักษาเพื่อนไว้เสมอ คุณซูมิโกะ ได้ยกคำกล่าวของ คุณตัน จาก Care Corner ขึ้นมาเล่าไว้ว่า ที่สถานดูแลคนชราของเขา สิ่งหนึ่งที่เขาสังเกตเห็นก็คือคนโสดและคู่รักที่ไม่มีบุตรมักมีความสัมพันธ์ทางสังคมน้อยลง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเหงาและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ที่อาจมาจากคุ้นชินกับการอยู่ตามลำพัง สูญเสียความสนใจในกิจกรรมทางสังคม และค่อย ๆ ห่างเหินจากชุมชน
ดังนั้น อีกสิ่งที่เธอคิดว่าสำคัญในช่วงวัยนี้ก็คือการรักษามิตรภาพ ขยายเครือข่ายสังคม และไม่ลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากญาติหรือเพื่อน เพราะสุดท้ายแล้ว ความสัมพันธ์ที่มีความหมายไม่ได้จำกัดอยู่แค่ครอบครัวใกล้ชิดเท่านั้น
1
คุณตันยังบอกกับซูมิโกะอีกว่า "ข้อดีของผู้สูงอายุที่มีเครือข่ายสังคมที่แข็งแกร่งมักมีความสามารถในการฟื้นตัวและความเป็นอิสระที่ดีกว่า ไม่ว่าพวกเขาจะมีบุตรหรือไม่ก็ตาม"
สรุป: จากเรื่องของคุณซูมิโกะ เราจะเห็นว่า การไม่มีลูกไม่ใช่ปัญหา ถ้าคุณวางแผนชีวิตให้ดี เพราะสุดท้ายแล้ว การใช้ชีวิตอย่างดี ไม่ว่าคุณจะมีลูกหรือไม่ ก็คือการวางแผนที่รอบคอบเพื่อให้ตัวเองมีความสุขและเตรียมพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างไม่โดดเดี่ยว
#aomMONEY #วางแผนเกษียณ #การเงินส่วนบุคคล #การเงินคนไม่มีลูก #คนรุ่นใหม่ไม่มีลูก
โฆษณา