31 มี.ค. เวลา 01:30

เครื่องแจ้งแผ่นดินไหวเครื่องแรกของโลก เกิดขึ้นที่จีนกว่า 1,800 ปีก่อน บอกทิศทางแผ่นดินไหวได้แม่นยำ

มนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับภัยพิบัติจากธรรมชาติมาตั้งโบราณ เช่นเดียวกับ “แผ่นดินไหว” ที่มนุษย์ได้คิดค้นวิธีที่จะป้องกันมากว่า 1,800 ปีมาแล้ว โดย จางเหิง (Zhang Heng) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวจีนได้คิดค้นเครื่องแจ้งเตือนแผ่นดินไหวเครื่องแรกของโลกขึ้นใน ค.ศ. 132
ซึ่งเจ้าเครื่องนี้มีหน้าตาคล้ายๆ กับแจกันทองเหลืองขนาดใหญ่ มีหัวมังกรยื่นออกมา 8 ทิศ และด้านล่างมังกรแต่ละทิศก็จะมีรูปปั้นกบอ้าปากอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน เมื่อมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้น มังกรที่ประจำอยู่ในทิศที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวก็จะปล่อยลูกหินกลมร่วงลงใส่ปากกบ เป็นการแจ้งแผ่นดินไหวตามทิศทางของจุดเกิดเหตุภัยพิบัติ ซึ่งแม้จะอยู่ห่างไกลไปหลายร้อยกิโลเมตรก็สามารถแจ้งเหตุได้อย่างแม่นยำ
ต่อมาใน ค.ศ. 1844 เจมส์ เดวิด ฟอร์บส์ นักฟิสิกส์ชาวสกอต ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์วัดแผ่นดินไหว (Seismometer) โดยขึงขดลวดในแนวตั้ง มีลูกตุ้มถ่วงกลาง เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนแท่งปากกาจะขีดเส้นบนแผ่นกระดาษ และจากนั้นใน ค.ศ. 1880เจมส์ อัลเฟรด อีวิง, โทมัส เกรย์ และ จอหน์ ไมล์น ศาสตราจารย์ซึ่งทำงานอยู่ในญี่ปุ่นได้เริ่มพัฒนาเครื่องบันทึกแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวเป็นเส้นกราฟได้สำเร็จ และจัดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก
ส่วนการวัดค่าแผ่นดินไหวเป็นริกเตอร์ (Richter Scale) นั้นเกิดขึ้นใน ค.ศ.1935 โดย ชาร์ลส์ เอฟ. ริกเตอร์ เขาได้สร้างมาตราบอกขนาดของแผ่นดินไหว โดยคำนวณจากความสูงของเส้นกราฟแผ่นดินไหว นับเป็นมาตรวัดค่าขนาดแผ่นดินไหวที่รู้จักกันมากที่สุดในปัจจุบัน
ภาพ : Museum of New Zealand
โฆษณา