31 มี.ค. เวลา 06:30 • ข่าว

“โรคเมาแผ่นดินไหว” บางรายอาจกินระยะเวลาหลายสัปดาห์ สธ. แนะ 8 วิธีแก้

ก.สาธารณสุข แนะ 8 วิธีแก้ปัญหาอาการ “โรคเมาแผ่นดินไหว” หลังหลายคนเกิดอาการเวียนหัว เผย บางรายอาจกินระยะเวลาหลายสัปดาห์ พร้อมแนะช่องทางขอคำปรึกษาหากส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
วันที่ 31 มีนาคม 2568 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหว ไม่เพียงแค่ผลกระทบต่อสิ่งก่อสร้างเสียหาย แต่ยังทำให้พี่น้องประชาชนทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเผชิญกับภาวะโรคที่มีชื่อว่า “เมาแผ่นดินไหว” หรือ “โรคเวียนหัวหลังแผ่นดินไหว” ทำให้รู้สึกเหมือนตนเองกำลังโคลงเคลงหรือเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัวของมนุษย์
1
สำหรับการเผชิญกับภาวะโรคเมาแผ่นดินไหว ในบางรายอาจมีผลกระทบที่รุนแรงและอาจกินระยะเวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลและโรคไมเกรน ซึ่งจะมีแนวโน้มและอาการมากกว่าคนทั่วไป หากมีอาการดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขแนะนำวิธีการบรรเทาโรคเมาแผ่นดินไหว และวิธีจัดการความเครียด ดังต่อไปนี้
2
วิธีการบรรเทาโรคเมาแผ่นดินไหว
1. สูดหายใจเข้า-ออกลึกๆ ช้าๆ เหมือนการทำสมาธิ จะช่วยให้ผ่อนคลาย และระบบการทรงตัวจะค่อยๆ เริ่มกลับมาทำงานอย่างปกติ
2. ดื่มน้ำเปล่าสะอาด หรือน้ำขิง และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
1
3. พักสายตาจากหน้าจอมือถือ หยุดการเพ่งหรือจ้องมองหน้าจอเป็นเวลานานๆ รวมถึงการไถฟีดข่าว เพราะสายตาจะเห็นการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
3
4. มองไปที่จุดไกลๆ ภาพที่ผ่อนคลายสบายตา เช่น เส้นขอบฟ้า ผืนนา และภาพธรรมชาติต่างๆ หรือนอนราบลงจะช่วยทำให้อาการดีขึ้น
1
5. พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อนที่เข้าใจและผ่านเหตุการณ์เดียวกันมา
6. หลีกเลี่ยงการติดตามข่าวเกี่ยวกับการสูญเสีย หรือจำกัดเวลาในการติดตามข่าว เพราะจะเป็นการกระตุ้นความเครียดได้ง่าย
2
7. หาที่พักที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หากยังรู้สึกตื่นตระหนกอยู่ ควรไปนอนพักที่ในสถานที่รู้สึกปลอดภัยก่อน
8. สามารถกินยาแก้เมารถเพื่อรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ แล้วนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ หากใครที่ปวดศีรษะหลังแผ่นดินไหวสามารถกินยาแก้ปวดรักษาตามอาการได้
ทั้งนี้ รัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชนหากประชาชนยังมีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถขอคำปรึกษาผ่านเว็บไซต์ Here to Heal ซึ่งเป็นโครงการระบบบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านข้อความแชต เพื่อให้เข้าถึงการบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
โดยจะมีข้อแนะนำการดูแลจิตใจตนเองในเบื้องต้น ทั้งนี้ หากยังมีอาการไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที หรือหากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปที่สายด่วน เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669
หรือสายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323
โฆษณา