31 มี.ค. เวลา 12:14 • ประวัติศาสตร์

“จักรพรรดิ” ผู้ก้าวมาจากการเป็น “ลูกทาส”

ในสมัยโรมันโบราณ การจะเลื่อนสถานะทางสังคม เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก
“ชาติกำเนิด” เป็นสิ่งที่แทบจะกำหนดชะตาชีวิตของคนๆ หนึ่ง การจะก้าวขึ้นมามีหน้ามีตาหรือตำแหน่งที่สูงในสังคม แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
แต่มีชายคนหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็น “จักรพรรดิ” ทั้งๆ ที่มีต้นกำเนิดเป็นเพียง “ลูกทาส”
นั่นคือ “จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ (Pertinax)”
จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ (Pertinax)
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
“จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ (Pertinax)” เสด็จพระราชสมภพในปีค.ศ.126 (พ.ศ.669) ในเมืองอัลบา โดยมีบิดาเป็นอดีตทาสที่ได้รับอิสรภาพ และหันไปประกอบอาชีพค้าขนสัตว์
ด้วยความที่บิดานั้น ถึงแม้จะมีชาติกำเนิดเป็นเพียงทาส แต่เมื่อได้รับอิสระและมาทำการค้า ก็ประสบความสำเร็จ สร้างฐานะให้ร่ำรวยได้พอสมควร ทำให้จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ทรงได้รับการศึกษาอย่างดี และทรงงานในช่วงแรกเป็นอาจารย์สอนไวยากรณ์ในสำนักวิชา
เมื่อมีพระชนมายุ 35 พรรษา จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ทรงเบื่องานสอน และตัดสินพระทัยจะเข้าร่วมกับกองทัพโรมัน
แต่พระองค์ไม่ทรงมีประสบการณ์การเป็นทหารในกองทัพมาก่อนเลย แต่ด้วยความที่ครอบครัวของพระองค์นั้นร่ำรวย ทำให้จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพในกองทหารม้าที่ประจำการอยู่ซีเรีย
ในสมัยนั้น ตำแหน่งนั้นสามารถซื้อได้ด้วยเงิน หากแต่ถึงจะได้ตำแหน่งมาด้วยเงิน แต่จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ก็ทรงแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ และชัยชนะในสงครามกับจักรวรรดิพาร์เธีย ก็ทำให้พระองค์ทรงได้โปรโมท ได้เลื่อนยศอย่างรวดเร็ว
จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ทรงได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ และส่งไปประจำการที่ยอร์ก ก่อนที่จะถูกย้ายไปประจำการในแถบชายแดนของแม่น้ำดานูบในฮังการี ถวายการรับใช้ “จักรพรรดิมาร์คัส ออเรเลียส (Marcus Aurelius)” จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมัน
จักรพรรดิมาร์คัส ออเรเลียส (Marcus Aurelius)
ในเวลานั้น จักรพรรดิมาร์คัส ออเรเลียส กำลังทรงทำศึกกับชนเผ่ามาร์โคมันนี ซึ่งเป็นชนเผ่าเยอรมันที่ยกทัพมารุกรานดินแดนของพระองค์
จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ ทรงถวายการรับใช้เป็นอย่างดีจนเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิมาร์คัส ออเรเลียส ทำให้อาชีพการงานของจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ทรงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลในปีค.ศ.175 (พ.ศ.718) ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงแห่งดาเซีย ซีเรีย และบริเตน
ค.ศ.189 (พ.ศ.732) จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองอาณาเขตแอฟริกาและกรุงโรม
และแล้ว จุดเปลี่ยนในชีวิตของจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ก็มาถึง เมื่อ “จักรพรรดิคอมโมดัส (Commodus)” พระราชโอรสในจักรพรรดิมาร์คัส ออเรเลียส และทรงครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ได้ถูกปลงพระชนม์
จักรพรรดิคอมโมดัส (Commodus)
จักรพรรดิคอมโมดัส เรียกได้ว่าเป็นผู้ปกครองที่แตกต่างจากพระราชบิดาอย่างสิ้นเชิง
จักรพรรดิมาร์คัส ออเรเลียสทรงเป็นผู้ปกครองที่เอาจริงเอาจัง ไม่ทรงลุ่มหลงในความสุขสบายและกิเลสตัณหา
ส่วนจักรพรรดิคอมโมดัสทรงลุ่มหลงในความสุขสบายและความสำราญต่างๆ ลุ่มหลงในตัณหาอย่างเต็มที่
สิ่งที่จักรพรรดิคอมโมดัสทรงลุ่มหลงเป็นอย่างมาก ก็คือการต่อสู้ของกลาดิเอเตอร์ อีกทั้งพระองค์ยังมีพระราชประสงค์จะให้เหล่าประชาชนและเหล่าขุนนางลุ่มหลงในความสุขต่างๆ พระองค์จึงทรงจัดงานเลี้ยงฉลองอย่างยิ่งใหญ่บ่อยครั้ง เริงสำราญอย่างเต็มที่
แต่นอกจากทรงลุ่มหลงในความสนุกสนาน สำราญต่างๆ แล้ว จักรพรรดิคอมโมดัสยังได้ชื่อว่าเป็นจักรพรรดิที่ซาดิสและเหี้ยมโหด และสั่งประหารศัตรูทางการเมืองหลายรายอย่างโหดเหี้ยม
แต่รัชสมัยที่โหดร้ายของจักรพรรดิคอมโมดัสก็ได้จบลงในปีค.ศ.192 (พ.ศ.735) เมื่อพระองค์ถูกกลาดิเอเตอร์ที่มีนามว่า “นาร์ซิสซัส (Narcissus)” รัดพระศอจนสวรรคต
แผนการปลงพระชนม์นี้ กลุ่มผู้ก่อการได้แก่ “ควินตัส เอมิเลียส เลตัส (Quintus Aemilius Laetus)“ หัวหน้าหน่วยทหารรักษาพระองค์ “มาร์เซีย (Marcia)” หนึ่งในนางสนมของจักรพรรดิคอมโมดัส และ ”อีเล็คตัส (Electus)” หนึ่งในข้าราชบริพารของจักรพรรดิคอมโมดัส
1
และการปลงพระชนม์จักรพรรดิคอมโมดัสก็ทำให้กรุงโรมลุกเป็นไฟ
จักรพรรดิคอมโมดัสถูกปลงพระชนม์
เหล่าผู้ก่อการทั้งสามได้เข้ามาหาและพูดคุยกับจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ เสนอให้ครองบัลลังก์
ในเวลานั้น จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ทรงเป็นทั้งทหารและนักการเมืองที่ช่ำชอง ประสบการณ์ล้นเหลือ ทำให้พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการจะครองบัลลังก์นั้น พระองค์จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากเหล่าทหารรักษาพระองค์
เหล่าทหารรักษาพระองค์เป็นผู้ที่ใกล้ชิดองค์จักรพรรดิ หากทหารรักษาพระองค์ไม่ชอบองค์จักรพรรดิ ก็เป็นไปได้สูงที่จะมีการวางแผนปลงพระชนม์ ดังเช่นที่จักรพรรดิคอมโมดัสทรงโดนมาสดๆ ร้อนๆ
จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์จึงทรงเจรจากับกองทหารรักษาพระองค์ เสนอเงินทองแก่เหล่าทหารเพื่อซื้อใจทหาร และให้ทหารสนับสนุน จากนั้น พระองค์ก็ทรงเข้าหาสมาชิกสภาสูงเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากสภา
ในเวลานั้น เหล่าสมาชิกสภาต่างเกลียดชังจักรพรรดิคอมโมดัสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ลังเลที่จะสนับสนุนจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์อย่างเต็มที่
ที่ผ่านมา จักรพรรดิคอมโมดัสทรงลุ่มหลงในการแข่งขันกลาดิเอเตอร์อย่างหนัก อีกทั้งยังลงไปเล่นในสนามเองด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นการกระทำที่นอกรีตและรับไม่ได้ในยุคนั้น
ดังนั้น เมื่อขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.193 (พ.ศ.736) จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์จึงจัดระเบียบทุกอย่างใหม่ทั้งหมด หวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ในเวลานั้น จักรวรดิโรมันแทบจะไม่มีอะไรเหลือเลย
ในรัชสมัยของจักรพรรดิคอมโมดัส พระองค์ทรงผลาญเงินในท้องพระคลังไปกับการแข่งขันกลาดิเอเตอร์ ทำให้สภาพการเงินของจักรวรรดิโรมันแทบจะเป็นศูนย์
1
สิ่งแรกที่จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ทรงทำ คือการจัดระเบียบบ้านเมืองและสร้างระเบียบวินัยแก่ประชาชน
จากบันทึกประวัติศาสตร์ ได้กล่าวว่า
“พระองค์ (จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์) ทรงปรับลดทุกอย่างที่ก่อนหน้านี้ไม่ปกติและสับสน ซึ่งพระองค์ไม่ทรงเพียงแสดงความเมตตาและความซื่อสัตย์ในราชสำนักเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบริหารเศรษฐกิจและการพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน“
ฟังดูดี แต่ปัญหาก็คือ ประชาชนจะชื่นชอบการปกครองอย่างเข้มงวดและเป๊ะอย่างนี้หรือไม่? เนื่องจากเหล่าประชาชนก็เคยชินกับชีวิตที่หรูหราและสนุกสนานจากสมัยจักรพรรดิคอมโมดัส
ต้องบอกว่า ถึงแม้ว่าจักรพรรดิคอมโมดัสจะเป็นจักรพรรดิที่ลุ่มหลงในความสำราญ ไม่เอาการเอางาน เป็นที่เกลียดชังของหลายฝ่าย
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหลายฝ่ายก็ชื่นชอบพระองค์ และพระองค์ก็เป็นนักประชานิยม
จักรพรรดิคอมโมดัสทรงปรนเปรอผู้คนด้วยความบันเทิงต่างๆ ทั้งการแข่งขันกีฬา อีกทั้งยังพระราชทานสิ่งของหรูหราราคาแพงให้แก่เหล่าทหารรักษาพระองค์อีกด้วย
เรียกได้ว่า พระองค์ทรงปรนเปรอผู้คนด้วยความสุขสบายจนเคยตัว
ดังนั้น เมื่อมาถึงรัชสมัยของจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ การปกครองที่เป๊ะ กฎต้องเป็นกฎ ทุกอย่างเป็นตามระเบียบ จึงไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจประชาชน
จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ทรงนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของจักรพรรดิคอมโมดัสออกจำหน่าย ซึ่งรวมถึงกองทัพนางสนมและเหล่าทาสของจักรพรรดิคอมโมดัส และนำเงินที่ได้มากลับเข้าพระคลัง
ทางด้านทหารรักษาพระองค์ ต่างก็คาดหวังจะได้เงินโบนัสพระราชทานจากองค์จักรพรรดิ หากแต่ทหารรักษาพระองค์ก็ไม่เคยได้รับเลย
นั่นทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ทหาร ทำให้จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ต้องยอมผ่อนปรน ยอมพระราชทานเงินโบนัสแก่เหล่าทหาร
หากแต่เหล่าทหารก็ไม่ได้รู้สึกภักดีต่อองค์จักรพรรดิอีกแล้ว พระองค์ไม่สามารถซื้อใจเหล่าทหารได้อีกแล้ว
ทางด้านเหล่าข้าหลวงและขุนนาง ต่างก็ไม่ไว้วางใจจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์เช่นกัน และจับตามองพระองค์อย่างจับผิด
จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ยังทรงพยายามจะปฏิรูปสวัสดิการและบริการสาธารณะในกรุงโรม ซึ่งก็ต้องใช้เงินงบประมาณมาก นั่นทำให้ประชาชนและหลายฝ่ายไม่ชื่นชมพระองค์เท่าไรนัก
นอกจากนั้น จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ยังพบว่าฝ่ายบริหารหลายรายได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น โกงกิน มีการยักยอกเงินอย่างโจ่งแจ้ง พระองค์จึงทรงออกไล่ล่าเหล่าขุนนางทุจริตและลงโทษอย่างรุนแรง
ซึ่งผลที่ได้ ก็คือทำให้ในฝ่ายบริหารและราชสำนัก แทบจะไม่มีใครสนับสนุนหรืออยู่ข้างพระองค์เลย
เห็นได้ว่าทั้งประชาชน กองทัพ และรัฐบาล ต่างก็ไม่เอาจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์
ดังนั้น จึงไม่แปลกหากจะมีคนวางแผนปลงพระชนม์พระองค์ หากแต่แผนเกิดแตกซะก่อน
ผู้นำในการวางแผนปลงพระชนม์คือหนึ่งในทหารรักษาพระองค์ ซึ่งจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ก็ทรงไว้ชีวิต หากแต่ผู้ร่วมก่อการคนอื่นๆ ถูกประหารหมด
สัญญาณแห่งความล่มสลายมาถึงแล้ว
28 มีนาคม ค.ศ.193 (พ.ศ.736) ทหารรักษาพระองค์กว่า 300 นาย ได้บุกเข้ามาในพระราชวัง ทำให้อีเล็คตัส ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่เสนอบัลลังก์แก่จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ตั้งแต่ทีแรก หากแต่ตอนนี้ได้ดำรงตำแหน่งกรมวังในราชสำนักของจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ ได้ถวายคำแนะนำว่าพระองค์ควรจะเสด็จลี้ภัย
แต่จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ไม่ทรงยอมหนี พระองค์ทรงตัดสินพระทัยจะพูดคุยและใช้เหตุผลกับเหล่าทหาร และได้ทรงมีรับสั่งให้เลตัส ซึ่งก็เป็นหนึ่งในคนที่ถวายบัลลังก์แก่พระองค์ตั้งแต่ทีแรก ให้เป็นผู้ไปเจรจากับเหล่าทหาร
แต่ปรากฎว่าเลตัสได้หักหลังจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ กลับไปเข้ากับกลุ่มทหาร โดยเหล่าทหารนั้นไม่พอใจ ออกมากล่าวว่าพวกตนได้ค่าแรงเพียงครึ่งหนึ่งของที่ควรจะได้
แต่ในขณะที่จักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ทรงพยายามจะแก้ปัญหา ก็ได้มีทหารนายหนึ่งใช้ดาบจ้วงแทงพระองค์ และทูลพระองค์ว่านี่คือของขวัญที่เหล่าทหารถวายให้พระองค์
1
จากนั้น พระเศียรของจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ก็ถูกตัด นำไปเสียบประจาน และแห่ประจานทั่วเมือง และด้วยความที่ไม่มีการแต่งตั้งองค์รัชทายาท ทำให้จักรวรรดิโรมันเข้าสู่ยุคของสงครามกลางเมือง และปีค.ศ.193 (พ.ศ.736) ก็ถูกจดจำในฐานะของปีที่วุ่นวายที่สุดปีหนึ่งในประวัติศาสตร์
จะเห็นได้ว่าจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์ทรงมีเจตนารมณ์ที่ดี พระองค์มีพระราชประสงค์จะเดินตามรอยจักรพรรดิมาร์คัส ออเรเลียส หากแต่ความเป๊ะและต้องการเห็นบ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย กลับถูกมองว่าเป็นเผด็จการในสายตาประชาชน
บางที ความพยายามจะเปลี่ยนแปลงของพระองค์อาจจะมาเร็วเกินไป หากแต่การสวรรคตของพระองค์ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมที่เต็มไปด้วยการคดโกง จะไม่ยอมรับแนวคิดใหม่ๆ
และถึงแม้ว่ารัชสมัยของจักรพรรดิเปอร์ตินักซ์จะดำรงอยู่เพียงแค่ประมาณสามเดือนเท่านั้น แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็ยกย่องพระองค์
และก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตของพระองค์นั้นเป็นเรื่องราวที่พลิกผันจริงๆ
จากลูกทาส ไม่มีประสบการณ์ในกองทัพเลย หากแต่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิผู้ทรงอำนาจที่สุดในจักรวรรดิโรมัน
บางที เรื่องราวของพระองค์อาจจะมีหลายแง่มุมให้ศึกษาและนำมาปรับใช้ได้กับปัจจุบันก็เป็นได้
โฆษณา