31 มี.ค. เวลา 12:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ดัชนี PMI ของจีนส่งสัญญาณบวก ก่อนเผชิญภาษีศุลกากร

กิจกรรมในภาคการผลิตขนาดใหญ่ของจีนขยายตัวเร็วที่สุดในรอบหนึ่งปีในเดือนมีนาคม ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ก่อนที่จะเผชิญกับการเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ
ดัชนีฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตอย่างเป็นทางการสำหรับเดือนมีนาคมอยู่ที่ 50.5 เพิ่มขึ้นจาก 50.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 50.4 จากโพลของ Wall Street Journal (หากค่านี้เหนือ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของกิจกรรม ในขณะที่ต่ำกว่า 50 หมายถึงการหดตัว)
ดัชนี PMI ภาคบริการและก่อสร้าง (nonmanufacturing PMI) ของจีนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ 50.8 ในเดือนมีนาคม จาก 50.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยดัชนีย่อยสำหรับกิจกรรมบริการเพิ่มขึ้นเป็น 50.3 และดัชนีก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 53.4
Julian Evans-Pritchard หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics กล่าวว่า "ดัชนี PMI อย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานกำลังเร่งตัวขึ้น และการส่งออกยังคงแข็งแกร่งแม้เผชิญกับภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ"
การเร่งซื้อสินค้าจากจีนก่อนกำหนดอาจช่วยเพิ่มคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ยังมีแรงสนับสนุนภายในประเทศ โดยเฉพาะจากดัชนีก่อสร้างที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน ซึ่งอาจได้รับแรงหนุนจากการคลัง
ข้อมูลนี้ออกมาในช่วงก่อน "Liberation Day" ของประธานาธิบดี Trump ในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเขาจะประกาศมาตรการภาษีใหม่เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้าและนำงานการผลิตกลับไปยังสหรัฐฯ
ความสนใจอยู่ที่ผลกระทบจากภาษีที่จีนจะเผชิญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตและผู้ส่งออก ทางการจีนแสดงท่าทีตอบโต้เมื่อวันศุกร์ โดยระบุว่าจะดำเนินมาตรการตอบโต้หากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ
Zhiwei Zhang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Pinpoint Asset Management กล่าวว่าภาคการผลิตของจีนยังเผชิญความท้าทายในไตรมาสถัดไป โดยเฉพาะจากภาษีและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจลดความต้องการจากภายนอก
"คำถามสำคัญคือการส่งออกของจีนจะลดลงมากแค่ไหน และการใช้จ่ายด้านการคลังจะเพิ่มขึ้นเร็วเพียงใดเพื่อชดเชยการส่งออกที่ลดลง" Zhang เขียน
เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนจากภาษี ปักกิ่งได้เร่งมาตรการสนับสนุนนโยบาย โดยวางแผนกระตุ้นการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังประกาศว่าจะออกพันธบัตรพิเศษมูลค่า 500 แสนล้านหยวน (ราว $6.884 หมื่นล้าน) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารรายใหญ่ 4 แห่งของประเทศ
ธนาคารจีนกำลังเผชิญปัญหากำไรลดลงและหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สะสมจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ การเพิ่มทุนในระบบธนาคารอาจช่วยให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจจริง
cr. WSJ
โฆษณา