31 มี.ค. เวลา 13:02 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

[รีวิว] Presence - ประสบการณ์สุดน่าเบื่อจากวิญญาณแสนระทมแต่ช้าก่อนมันมีอะไรบางอย่าง

(1) สิ่งที่ Presence ดึงดูดความสนใจมากที่สุด เห็นทีจะเป็นการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่งของ “วิญญาณ” ที่คอยเฝ้ามองครอบครัวที่เพิ่งย้ายเข้ามาอาศัยในบ้านหลังนี้ไปตลอดทั้งเรื่อง ผลงานของผู้กำกับ “สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก” (Steven Soderbergh) ผู้กำกับที่แจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่อง Sex, Lies, and Videotape (1989) และรุ่งเรืองในยุคต้น 2000 จากผลงานทั้ง Traffic, Erin Brockovich และ Ocean's Eleven
Presence (2024)
(2) ไม่น่าเชื่อว่ากิมมิคที่น่าสนใจนี้ผู้กำกับสตีเวน โซเดอร์เบิร์ก จะเปลี่ยนมันให้กลายเป็นความน่าเบื่ออย่างสุดซึ้ง การเป็นวิญญาณติดบ้านล่องลอยไปมา มันช่างทรมานสิ้นดี ผิดจากตัวอย่างหนังที่น่าจะมอบความระทึกขวัญแบบใหม่ๆ จากกิมมิคของเรื่องที่ดูแล้วก็น่าคาดหวังไม่น้อย แต่กลับกันคุณจะไม่ได้พบอะไรที่ใกล้เคียงกับคำว่าตื่นเต้น นอกจากการเฝ้ารับรู้เรื่องราวของครอบครัวที่ย้ายเข้ามาใหม่แค่นั้นเอง
Presence (2024)
(3) หนำซ้ำลูกเล่นมุมมองบุคคลที่หนึ่งนี้ยังสร้างข้อจำกัดการเล่าเรื่องอย่างช่วยไม่ได้ คุณจะพบกับ Longshot ที่สิ้นเปลืองเวลาอยู่ตลอด ที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของวิญญาณสุดระทมของเรา ซึ่งมันไม่แทบต่างอะไรจากการเป็นมนุษย์ที่ถือกล้องแล้วเดินไปมาในบ้านเลย สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ไม่ได้สร้างสรรค์มุมกล้องที่หวือหวาหรือแปลกใหม่แต่อย่างใดในการวิญญาณครั้งนี้ อย่างการทะลุกำแพงหรือการเคลื่อนที่แบบแปลกๆ ของกล้อง แน่นอนว่ามันไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย (อาจจะด้วยข้อจำกัดเรื่องทุนสร้างเพียง 2 ล้านดอลลาร์ฯ ด้วยส่วนหนึ่ง)
Presence (2024)
(4) เรื่องราวของครอบครัวนี้ก็เป็นอีกสิ่งที่ตอกย้ำความน่าเบื่อ เพราะมันแทบไม่ได้มีอะไรที่มีมิติเลย นอกจากเป็นแค่แกนในการดำเนินเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ดาษดื่นตามหนังระทึกขวัญดาดๆ จำพวกปัญหาชีวิตตัวละคร ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องมีปัญหาเรื่องหน้าที่การงาน ถ้าเป็นวัยรุ่นก็ต้องเป็นเด็กมีปัญหา แปลกแยกจากสังคมหรือมีปมฝังใจบางอย่าง Presence มีทุกอย่างที่ว่ามา และเป็นกรรมของผู้ชมที่ต้องมารับรู้เรื่องนี้ แถมมันยังไม่ค่อยจะต่อเนื่องกันเท่าไหร่ด้วย (จากกิมมิคการเป็นผีละมั้ง)
Presence (2024)
(5) การแสดงของนักแสดงในเรื่องทั้ง ผู้เป็นแม่อย่าง “ลูซี่ หลิว” (Lucy Liu) ลูกสาว “คัลลิน่า เหลียง” (Callina Liang) ที่ถูกมุมมองของเรื่องจำกัดจำเขี่ยความสามารถทางการแสดงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงผู้เป็นพ่อ “คริส ซัลลิแวน” (Chris Sullivan) ที่เหมือนมีมาให้ครบๆ ไปอย่างนั้น ส่วนลูกชายของบ้าน “เอ็ดดี้ มาเดย์” (Eddy Maday) มีบทบาทเยอะกว่าแต่กลับกลายเป็นจุดอ่อนเวลารับส่งกับคนอื่นๆ
และ “เวสต์ มัลฮอลแลนด์” ที่เป็นตัวแปรสำคัญของเรื่อง แต่ก็ถูๆ ไถๆ ไปได้ ซึ่งคงโทษนักแสดงอย่างเดียวไม่ได้ หากจะบอกว่ามุมกล้องของโซเดอร์เบิร์กมันไม่ส่งและทำให้การแสดงของพวกเขาแข็งทื่อมากๆ
Presence (2024)
(6) Presence เกือบจะจบลงด้วยความเลวร้ายจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ทว่ามีไพ่ตายที่โซเดอร์เบิร์กทิ้งเอาไว้ก่อนจากลา หรือเรียกว่าอีกอย่างว่าเป็นการ “หักมุม” ก็พูดได้เลย เพราะมันทำให้มุมมองของเรื่องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และทำให้เราเข้าใจได้เลยว่าทำไม เขาจึงเลือกจะเล่าภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาในอารมณ์ของความ “ดราม่า” ที่มีกลิ่นอายของความเศร้าคละคลุ้งไปหมด แทนความ “ระทึกขวัญ” ที่ควรจะเป็นตามตัวอย่างหนัง
Presence (2024)
(7) แต่ถามว่ามันสุดยอดถึงขนาดพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ เพราะแม้มันจะทำให้เราเซอร์ไพร์สได้ก็จริง (หลังจากมานั่งตกผลึกตัวเรื่องสักพัก) แต่มันก็ไม่ได้ดีขนาดที่จะกลบแผลจำนวนมากที่ฝากเอาไว้ตลอดทั้งเรื่องได้ ความน่าเบื่อยังคงเด่นชัดมากกว่า น่าเสียดายที่หนังในเชิงทดลองลักษณะนี้น่าจะสร้างสรรค์ลูกเล่นได้มากกว่านี้ เช่น เคลื่อนกล้องทะลุกำแพงไปเลย(ก็เป็นผีจะเดินตามทางเดินทำไม) หรือมีอิทธิฤทธิ์ว้าวๆ มากกว่าแค่การสั่นโต๊ะหรือย้ายของไปมาที่ชวนตลกนั่นก็คงจะดีกว่านี้มาก
Presence (2024)
Story Decoder
โฆษณา