1 เม.ย. เวลา 09:43 • ประวัติศาสตร์

คำกล่าวที่ว่า " เราไม่ลงนรกแล้วใครจะลงนรก" เป็นคำขวัญของคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งในจีนช่วงสงครามโลกครั้งที่2

เหตุผลเบื้องหลังของแนวคิดนี้ก็คือ แม้ต้องยอมศีลขาดถึงขนาดอาบัติปาราชิก หรือกระทั่งลงนรกก็ต้องยินยอมเสียสละ เพื่อปกป้องผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และช่วยเหลือพวกโจรไม่ให้ทำบาปกรรมไม่หยุดหย่อนด้วยการฆ่าตัดตอนพวกนั้นเสีย ดังโพธิสัตว์เห็นบุตรคนอื่นกำลังจะทำอนันตริยกรรม สังหารพ่อแม่ตน จึงตัดสินใจสังหารบุตรผู้นั้นเสีย เพื่อไม่ให้เขาทำบาปอันเลวร้ายจนไม่ได้ผุดได้เกิด โพธิสัตว์ยอมตกนรกหมกไหม้เองเพื่อคนอื่นจะได้รอด
ผมขอถามชาวพุทธที่มักเรียกร้องให้ฆ่า จะยอมตกนรกหมกไหม้เพื่อผู้อื่นได้หรือไม่?
หลักมหายานเป็นหลักสำหรับโพธิสัตว์ หมายถึงผู้ที่ยอมทนทุกข์เพื่อคนหมู่มาก ไม่เหมาะสำหรับปุถุชนทั่ว ไป และไม่เหมาะจะเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมในการฆ่าหรือใช้ความรุนแรง เพราะตามกฎแห่งกรรมการฆ่ายอมได้ผลเดียวกันคือการฆ่า หากไม่จำเป็นมหายานิกจะไม่ปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงตอบโต้ เพราะคนผู้นั้นจะต้องรับผลกรรมด้วย เป็นการทำลายคำสอนเรื่องอหิงสาด้วย ใครทีทำเช่นนั้นต้องถามตัวเอง หากพร้อมที่จะฆ่า แล้วพร้อมที่จะรับกรรมเพื่อคนหมู่มากหรือไม่ หากใจฝ่อก็ควรหาวิธีอื่นไป
ในปกรณ์มหายานที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เช่น คัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ ว่าด้วยโพธิสัตว์ศีล ไม่ได้ส่งเสริมความรุนแรง ตรงกันข้ามส่งเสริมบารมีทั้ง 6 คือทาน ศีล ขันติ วิริยะ ฌาน และปัญญา อันคำว่า ทานนั้นรวมถึงการให้ชีวิต ศีลย่อมหมายถึงการไม่ฆ่า และขันติหมายถึงความอดกลั้น แม้จะถูกบีบคั้น ผู้คิดจะเสียสละเพื่อคนหมู่มากตามคติมหายาน ต้องมีบารมีทั้ง 3 ข้อนี้ก่อน
แต่เมื่อมหาชนถูกคุกคามจนหมดทางรอดแล้ว โพธิสัตว์จึงต้องไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนด้วยปัญญาบารมีจึงจะใช้หลัก "ฆ่าหนึ่ง ช่วยสรรพชีวิต" (一殺多生) ยอมสูญเสียบารมีที่ทำมาเพื่อรักษาสันติ การฆ่านั้นต้องกอปรด้วยความกรุณาต่อผู้อื่นแม้แต่คนที่จะถูกฆ่า และไม่ฆ่าเปล่าเปลืองหากฆ่าเพียง 1 เพื่อช่วยคนนับล้านได้ความเศร้าหมองย่อมน้อย และต้องพิจารณาว่าหมดทางจะรักษาขันติธรรมแล้ว
คาร์ล พอพเปอร์ (Karl Popper) นักปรัชญาชาวออสเตรีย-อังกฤษ กล่าวว่า สังคมที่มีขันติธรรมสมบูรณ์แบบย่อมเผชิญกับความย้อนแย้งของขันติธรรม (Paradox of tolerance) กล่าวคือสังคมแบบนี้จะมีความอดทนแม้แต่คนที่ไร้ความอดทนต่อพวกเขา คนพวกนี้พร้อมที่จะเบียดเบียนโดยอาศัยช่องโหว่ของความมีขันติธรรมแบบไร้ขอบเขต เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสที่สังคมขันติธรรมจะถูกพวกไร้ขันติธรรมทำลายให้สิ้นจึงมีสูงมาก ดังนั้น จึงควรปกป้องสังคมที่อดทนต่อผู้อื่นไว้ด้วยการกำจัดพวกไร้ขันติธรรมสุดโต่งออกไป
อย่างไรก็ตาม พอพเปอร์บอกว่า "ผมไม่ได้หมายความว่า...เราควรปราบพวกไร้ขันติธรรมเสมอไป ตราบใดก็ตามที่เราสามารถตอบโต้ด้วยการโต้เถียงที่มีเหตุมีผลและควบคุมพวกนั้นได้ด้วยมติมหาชน การปราบปรามย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ชาญฉลาด แต่เราควรอ้างสิทธิในการปราบปรามในกรณีที่จำเป็น แม้จะด้วยกำลังก็ตาม หากคนเหล่านั้นไม่พร้อมที่จะโต้เถียงกันด้วยเหตุด้วยผล"
ทัศนะของพอพเปอร์ถูกหยิบฉวยไปใช้ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา แม้แต่ชาวพุทธเองก็คงคิดว่ามันเป็นข้ออ้างได้ทั้งฝ่ายนิยมความรุนแรงและฝ่ายอหิงสานิยม แต่เจตนารมณ์ของนักปรัชญาผู้นี้ก็คือการสร้างสังคมเสรีประชาธิปไตย ที่ไร้ความรุนแรงต่างหาก
ศาสนาพุทธถือหลักอหิงสา โดยเฉพาะพุทธฝ่ายเถรวาท ที่ควรยึดตามหลักของพระปุณณะ ในปุณณสูตร คือถือขันติและทมะแม้จะต้องถูกเขาฆ่าจนตาย หากคิดจะใช้ความรุนแรงกับคนอื่นในนามของพุทธศาสนา ควรถามตัวเองก่อนว่ามีบารมีของโพธิสัตว์ครบถ้วนหรือไม่? ถือมหายานหรือไม่? กอปรด้วยความกรุณาในการแก้ปัญหาหรือไม่? หาไม่แล้วจะเป็นได้แค่คนพาลที่ชื่นชมความรุนแรงในการแก้ปัญหา
ปล.
บทความนี้ผมเขียนขึ้นเพื่อสะท้อนกรณีจับสึกพระมหาอภิชาติ โดยส่วนตัวผมไม่สนับสนุนทัศนะของท่านมหา แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีจับสึกและรู้สึกว่าท่านมหาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนามากกว่านี้หากมีพระกัลยาณมิตรหรือพระผู้ใหญ่คอยรั้งไว้ ก่อนที่จะถลำตัวจนกระทั่งฝ่ายบ้านเมืองมีข้ออ้างในการจัดการ จนกระทั่งกรณีนี้อีรุงตุงนังไปด้วยเรื่องศาสนากับการเมือง อนึ่ง บทความนี่เป็นอนุสนธิ๋ในเชิงปรัชญา ไม่ใช่การวิเคราะห์เชิงสังคมการเมือง
______________________________
ภาพสมณนักรบชาวพุทธแห่งอู่ไถซาน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากหนังสือ
คำว่า "เราไม่ลงนรกแล้วใครจะลงนรก" ดัดแปลงมาจากโพธิสัตว์พจน์ในอรรถกถาว่า นรกไม่ว่างเปล่า ตั้งสัตย์ว่าจะไม่บรรลุพุทธะ เมื่อสรรพสัตว์รอดพ้น จึงจะบรรลุโพธิญาณ
โฆษณา