1 เม.ย. เวลา 12:25 • การ์ตูน

EP : 1,312 ไอ้เห่ย สู้เฟ้ย!

ผมเชื่อว่าตอนที่เรื่องนี้เปิดให้พรีออเดอร์ นักอ่านตัวยงหลายๆท่านคงจะดีใจและรีบโอนเงินกันไปจับจองมังงะเรื่องนี้กันทันที เพราะนี่คืออีกหนึ่งมังงะสายฮาและสายต่อสู้ในยุค 90 ที่ทำให้เรารู้จักงานวาดของ อ. Takeru Hamori และจะบอกว่าความนิยมของ อ. ขึ้นสู่จุดสูงสุดก็จากเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากเรื่องนี้ก็ไม่มีงานไหนของ อ. ที่สร้างความทรงจำให้กับนักอ่านได้มากเท่านี้อีกเลย
แน่นอนในฐานะนักอ่านในยุค 90 เรื่องนี้คืออีกเรื่องที่ผมเคยอ่านและสามารถสร้างความจดจำให้รับรู้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในแง่การหยิบ “มวยไทย” เข้ามาใช้เป็นวิชาต่อสู้หลักของพระเอกเรา หรือ สร้างคำว่า “เห่ย” ให้ติดตัวพระเอกสายต่อสู้คนนี้แบบที่เรื่องไหนก็สร้างภาพจำแบบนี้ไม่ได้ หรือจะเป็นพลังทำลายของ “ความเด้งดึ่ง” จากนางเอกเรา ที่เชื่อว่าร้อยทั้งร้อย มันสร้างความตราตรึง และติดตาตั้งแต่แรกเห็นจนถึงทุกวันนี้แม้เวลาจะผ่านไปนานมากแล้วก็ตาม
แต่ผมอยากจะสารภาพว่า โดยส่วนตัว นี่เป็นอีกเรื่องที่ผมไม่ได้ตั้งตาคอยที่จะให้มี สนพ ซักเจ้าทำออกมาเลยครับ เพราะส่วนตัวผมแล้ว นี่เป็นมังงะที่ผมไม่อยากสวมบทเป็นพระเอกเลยซักครั้ง แม้นางเอกจะทรงโตและตรงสเปคที่ผมต้องการ(มากกกกก)ก็ตามที
ความหมายของผมก็คือ ปกติผมอ่านงานแนวพระเอกสายต่อสู้ ที่นำเสนอได้สนุกและถึงใจ เราก็มักจะรู้สึกอยากเป็นพระเอกแบบในเรื่องนี้นั่นโน่นนี้ตอนอ่านใช่ไหมครับ แต่เพราะพระเอกเราถูกนำเสนอออกมาแบบเรียกได้เต็มปากว่า “เห่ย” นี่แหล่ะ ผมถึงรู้สึกว่ามันไม่มีแรงดึงดูดมากพอที่จะทำให้ผมอยากอ่านและทบทวนความทรงจำที่แสนสนุกในยุคนี้อยู่ในหัวเลย เพราะแบบผมถึงไม่ได้ตั้งตารอที่จะอ่านงานนี้ในก่อนหน้านี้เลยครับ
แม้ผมจะบอกไปอย่างนี้ก็ตาม แต่ผมปฎิเสธไม่ได้หรอกนะ ว่าในความทรงจำของผม “ถึงจะเห่ยแต่ก็สู้นะเฟ้ย(ชื่อในอดีตที่ผมจำได้ของเรื่องนี้)” ก็มีความสนุกและมีเอกลักษณ์ที่ทำให้ผมจดจำเรื่องนี้ได้หลายอย่าง(ตามที่บอกไว้ด้านบน) ที่มากพอจะทำให้ผมเกิดความอยากอ่านอีกครั้งในช่วงเวลานี้ ในตอนนี้ที่ห่างจากตอนนั้นมาหลายสิบปี แม้จะมีความเสี่ยงที่ผมอาจจะผิดหวังไม่สนุกเพิ่มขึ้นจากตอนอ่านในอดีตก็ได้ เพราะหลายๆเรื่องที่แม้ผมจะชอบมากในอดีต
พอมาหยิบอ่านในยุคนี้ มันก็ไม่ได้สนุกเหมือนแต่ก่อนแล้ว มันคือความเสี่ยงที่นักอ่านทุกคนก็คงต้องยอมรับมัน และนี่คือจุดเริ่มต้นของการหาเรื่องนี้มาอ่านอีกครั้ง กับเรื่องราวความเหย่ แสนเหย่ ที่ในความทรงจำผมนั้น คงไม่มีพระเอกสายต่อสู้คนไหนอีกแล้วในหน้าประวัติศาสตร์การ์ตูนมังงะที่จะทำได้ขนาดนี้ กับ “ไอ้เห่ย สู้เฟ้ย!” ครับ
....รู้สึกอับอายในการใช้ชีวิตสมัย ม. ต้น ด้วยเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิด จนต้องทนรับฉายา “อุนจิแมน” มาตลอด 3 ปี เพราะแบบนั้น ในวันแรกของชีวิต ม. ปลาย กับเพื่อนใหม่ที่ยังไม่รู้จักหน้าค่าตาเหล่านั้น ทำให้ “โนริทากะ ซาวามูระ” เด็กหนุ่มที่แม้ไม่มีจุดเด่นใดที่จะเรียกว่าดึงดูดสายตาหรือโดดเด่นพอที่จะชวนให้คิดอื่นเข้ามารู้จักกับเขานั้น ก็ยังคาดหวังว่าวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี(กว่า ม.ต้น) และเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ม. ปลายอันแสนสนุกตามแบบฉบับของวัยรุ่นทุกคนที่ต้องการ
และมันก็ควรเป็นอย่างนั้น เพราะจากการสุ่มเลือกที่นั่ง เขาก็ได้นั่งข้างกับ สาวสวย อย่าง “นาคะยามะ” ที่ต่างเป็นที่หมายปองของเหล่าเพื่อนชายทุกคน แถมเพื่อนใหม่สาวสวยทรงโตคนนี้ก็มีท่าทางรับไมตรีกับเพื่อนใหม่สุดจืดคนนี้อีกด้วย เพราะแบบนั้นการยกระดับและตั้งเป็นเป้าหมายสูงสุดต่อจากนี้ก็คือการทำให้เธอคนนี้มีความรู้สึกที่ดีกับเขาและเขาฝันไปไกลถึงการเป็นแฟนกันเลยทีเดียว ซึ่งหากมันเกิดขึ้นจริงล่ะก็ ชีวิตวัยรุ่นของเขาจะโรยไปด้วยกรีบกุหลาบหรือกรีบซากุระอย่างไม่ต้องสงสัย ... แค่คิดก็ฟินแล้วววว
แต่ดอกไม้งามย่อมมีเหล่าแมลงมาแย่งกันตอมฉันท์ใด สาวเจ้า นาคะยามะ ก็ฉันท์นั้น เพียงแต่แมลงที่มาตอมคือ “นาคายะ” แห่งชมรมมวย ผู้หมายปองหญิงใดแล้วต้องพาเข้าไปในโรงแรมให้ได้ จึงเป็นหน้าที่ของแมลงอย่างเขา โนริทากะ ที่จะต้องปกป้องป้องกันดอกไม้ดอกนี้ให้ได้ เพียงแต่ว่า นาคายะ ที่ว่านี้เป็นถึงแชมป์ชกมวยสากลรุ่นกลางระดับม.ปลายนี่สิ
นั่นเลยทำให้เขาต้องมองหาศิลปะการป้องกันตัวมาประดับตนเพื่อเอาไว้ต่อกรกับแมลงตัวนี้ให้ได้ ที่สำคัญ นาคายะ ก็เกลียดผู้ชายอ่อนแอ (ทรงอย่างเขา) ซะด้วย นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าไปรู้จัก “มวยไทย” จากชมรมคิกบ๊อกซิ่ง และนี่คือจุดเริ่มต้นเรื่องราวการต่อสู้จากยอดชายแสนเห่ยอย่างเขา ใน “ไอ้เห่ย สู้เฟ้ย!”
ถ้ามองจากในปัจจุบัน “ไอ้เห่ย สู้เฟ้ย!” มีอะไรหลายๆอย่างที่ผมรู้สึกขึ้นมาเพิ่มหลังจากที่อ่านเรื่องนี้ใหม่อีกครั้งในเวอร์ชั่นนี้ครับ สิ่งที่ได้เจอก็คือ เรื่องนี้มันมีภาพลักษณ์ของยุค 90 อย่างแท้จริงในหลายๆประการ เอาที่รู้สึกได้เลย ก็คือการเล่าเรื่องราวของ วัยรุ่นชายธรรมดาเชิงติดลบ ที่จะบอกว่าเป็นขั้วตรงข้ามของความต้องการจะเป็นของเหล่าวัยรุ่นชายเลยก็ว่าได้ ทั้งรูปร่าง หน้าตา การใช้ชีวิต แนวคิดและวิธีการมองโลกของเขา ทั้งหลายทั้งปวง
แม้จะไม่ได้บอกว่าแย่สุดก็ตาม แต่คงไม่มีใครอยากจะเป็นอย่างเขาในจุดเริ่มต้นแบบนี้แน่นอน ในเรื่องนี้จึงเป็นการหยิบคาเรทเตอร์ของแบบฉบับที่ “ไม่อยากเป็น” มาเล่า ซึ่งแตกต่างจากเรื่องราวท่านชายที่อยากจะเป็น โดยเฉพาะเรื่องที่กำลังเล่านี้คือเรื่องราวการต่อสู้ของวัยรุ่นอันร้อนแรงครับ
ในยุค 90 มีมังงะมากมายที่ว่ากันด้วยการต่อสู้ด้วยกำปั้นหรือศิลปะต่างๆ ของเหล่าท่านชาย ที่แน่นอนว่าส่วนใหญ่แล้ว พระเอกต้องมาทรงอย่างแบด หรือจะอ่อนนอกแต่แข็งใน มาเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว คาเรทเตอร์แนวที่ทำให้เรารู้สึกว่า “นี่แหละที่เราอยากเป็น” มักจะเป็นจุดแรกในการหยิบมาใช้ในงานแนวกำปั้นแลกกำปั้นของมังงะในยุคนั้น
มันก็เลยไม่แปลกหากคาเรทเตอร์แบบนี้ไม่ทัชใจผมซะเท่าไหร่ในตอนนั้น แต่นี่ก็ถือเป็นการวางหมากที่สร้างความแตกต่างได้อย่างมาก เพราะในแง่มุมสำคัญหากพูดถึงตัวเอกที่แสนอ่อนแอแล้ว เชื่อว่า “โนริทากะ ซาวามูระ” ของเราคือตัวเลือกแรกๆที่จะแทรกออกมาจากความทรงจำของเราครับ
ในแง่ความจดจำ “โนริทากะ ซาวามูระ” แห่ง เห่ย จึงโดดเด่นอย่างไม่ต้องสงสัย แม้มันจะตรงข้ามกับตัวเอกที่เราคิดถึง ซึ่งการนำเสนอให้ “ขัดแย้ง” แบบนี้คืออีกหนึ่งหัวใจของความสำเร็จของเรื่องนี้ และเป็นแก่นที่เรื่องนี้จะใช้ไปตลอดทั้งเรื่องครับ
ความขัดแย้งหรือย้อนแย้งที่ว่า นอกจากจะใส่ไว้ในความเป็นตัวเอกที่แตกต่างกับตัวร้ายแสนเท่ผ่านหน้าตาและรูปร่างอันกำยำ ที่จะออกมาทำให้พระเอกเราตาถลนด้วยหมัดบ้างด้วยเท้าบ้างตลอดทั้งเรื่องแล้ว ความน่ารักน่าเอ็น....ดู นางเอกแสนอึ่มของเราก็ขัดแย้งอย่างมากเช่นกัน เฉกเช่น “ดอกฟ้ากับนายกระจอก” เรื่องนี้วางคาเรทเตอร์ พระเอกนางเอกเราไว้แบบนี้อย่างชัดเจน
ทั้งหลายทั้งปวงของการวางคาเรทเตอร์ที่ขัดแย้งแบบนี้ทำให้เรารู้สึกถึงความ “เป็นไปไม่ได้” เกิดขั้นตลอดทั้งเรื่อง และสิ่งที่เข้ามาย่นระยะและทำลายความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ในเรื่องนี้ก็คือ “ศิลปะแม่ไม้มวยไทย” อันแสนโด่งดังในยุคนี้ที่ทั่วโลกไม่มีใครไม่มีรู้จักหากเดินทางสายต่อสู้นี้ แต่ในยุคสมัยนั้นแล้วมันคือ “ศิลปะที่ไม่มีใครรู้จักเลย” ก็คงไม่แปลกที่จะพูดอย่างนี้ และนั่นคือความน่าสนใจสำหรับนักอ่านชาวไทยอย่างเราครับ
ทุกคนคงจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าในโลกแห่งมังงะ ตั้งแต่อดีต “มวยไทย” คือศิลปะการต่อสู้สำหรับตัวร้าย หรือผู้พ่ายแพ้ มาตลอด เราจะพบเห็นว่าเมื่อใดก็ตามหากมีตัวละครที่ใช้ มวยไทย ออกมาต่อสู้แล้ว ไม่มีทางได้เป็นฝั่งพระเอกเป็นอันขาด เพราะฉะนั้นตลอดมาตั้งแต่อดีต “มวยไทย= ผู้แพ้= ตัวร้าย” สมการนี้ไม่เกินจริงและถูกใช้ตลอดมาทั้งในโลกของมังงะและอนิเมะหรือเกมจากญี่ปุ่นเสมอครับ
เพราะแบบนั้นในแง่ความสำคัญแล้ว เรื่องนี้จึง “แตกต่าง” อย่างชัดเจน กับการหยิบให้ตัวเอกของเราที่แสนอ่อนแอ มาใช้ “มวยไทย” เป็นตัวปลดล็อคในเรื่อง และแม้เราจะพบว่าในการใช้แม่ไม้มวยไทยในเรื่องนี้แต่ละครั้ง มักจะมาด้วยวิธีการสอนและใช้ออกแนวขำขันเป็นหลักแต่ความจริงที่ว่า สุดท้ายแล้ว ทุกศิลปะที่เข้ามาปะทะกับพระเอกต่างพ่ายแพ้ในตอนท้ายเสมอนั้น ทำให้ “มวยไทย” ในเรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องแรกที่ถูกหยิบยกให้มันกลายเป็น “พระเอก” ในโลกมังงะครั้งแรกอย่างไม่ต้องสงสัย
โอเคและมันไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมอะไรมากในโลกของความเป็นจริงขนาดนั้น เพราะเราต้องยอมรับว่า “มวยไทย” ที่ ณ เวลานี้ถูกยกให้เป็นศิลปะการต่อสู้แบบยืนที่อันตรายและยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลก เกิดจากความพยายามของนักมวยไทยและผู้เกี่ยวข้องที่ยอมเข้าไปลุยแบบให้ชาวโลกเห็นว่านี่คือของแท้ และของจริงอย่างต่อเนื่องมาตลอด จนปัจจุบันไม่มีใครกล้าเถียงจนสร้างความรับรู้ถึงความแข็งแกร่ง และชาวต่างชาติต่างเข้ามาเรียนรู้ศิลปะมวยไทยกันอย่างมากมายในเวลานี้ แต่ในโลกของมังงะของพวกเราทุกอย่างมันเริ่มต้นจากเรื่องนี้ครับ
แม้จะเป็นมุมเล็กๆ แต่การได้รับการยอมรับครั้งแรกจากเรื่องนี้ มันคือการสร้างความจดจำอันน่าเหลือเชื่อของคนอ่านคนไทยอย่างเรากับฝั่งญี่ปุ่นและทั่วโลกของมังงะ อันนี้คือสิ่งที่ส่วนตัวรู้สึกปลื้มปริ่มและได้สนุกกับการได้อ่านมันอีกครั้งในแบบเต็มตรีนในเรื่องนี้
อีกจุดนึงที่ผมรู้สึกชื่นชอบเมื่อมองย้อนกลับไปจากปี 2025 กับการอ่านเรื่องนี้อีกครั้งนั้นก็คือ หัวใจของการนำเสนอความรักในแบบฉบับของยุค 90 นั่นก็คือการปกป้องคนรักด้วย “ซื่อตรง” จากการปกป้องแบบตรงๆนั่นคือการต่อสู้ ที่ผมจะบอกว่ามันคือรักใสๆ ในแบบฉบับที่ง่ายต่อความเข้าใจครับ
ความหมายของผมก็คือ แม้มังงะในยุคปัจจุบันจะยังคงเล่าเรื่องราวของความรักอยู่เหมือนเดิมก็ตาม แต่ในปัจจุบันแทบจะหางานแนว “ข้ารักเอ็ง” แบบนี้ยากมาก เพราะเรื่องมักจะมีความซับซ้อนของเนื้อหาด้วยการผูกเรื่องราวอันแตกต่างเข้าไปผสมมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ในปัจจุบัน การแข่งขันมันสูง และผู้เขียนต้องพยายามมอบความสนุก ตื่นเต้น กับเรื่องราวแนวต่างๆเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ แม้หัวใจจะเป็นเรื่องของความรักก็อยู่บ้างก็ตาม
แต่แนวต่อสู้เพื่อปกป้องผู้หญิงแบบเรื่องนี้ มันหาอ่านในมังงะใหม่ๆไม่ได้แล้วนะครับ เพราะต่อให้นำเสนอออกมาแบบโต้งๆ แบบนี้ก็ตาม ผมก็เชื่อว่ามันจะขาดความน่าสนใจไปเยอะ เพราะมันไม่ใช่ “ยุค” ของการนำเสนอในรูปแบบอย่างนี้อีกต่อไปแล้วครับ
เพราะแบบนั้น “เห่ย” จากยุค 90 เรื่องนี้คือตัวตนของความเป็น 90 ที่เหมาะสมและได้ยากยิ่งในยุคนี้ของแบบฉบับการจีบสาวด้วยการปกป้องแบบลูกผู้ชายในสายตาของผมเลยครับ มันคือความง่ายของการแสดงออกที่แม้ปัจจุบันเราไม่ได้ให้ค่าหรือการแสดงความรักในแบบนี้เพราะมองว่าการใช้กำลังคือสิ่งที่ไม่ดีหรือต้องหลีกเลี่ยง แต่การที่ผู้ชาย “อยากจะแข็งแกร่ง” เพื่อ “ปกป้อง” ผู้หญิงที่ตัวเองรักหรือคนที่เรารัก มันคือพื้นฐานของ “มนุษย์” เราอย่างแท้จริง นี่คือความจริงที่ไม่มีใครปฎิเสธได้ครับ
และความ “ซื่อตรง” ที่ว่าก็รวมถึงการนำเสนอเรื่องราวของ “การต่อสู้อันดุเดือดและดุดัน” กับ “มิตรภาพอันร้อนแรง” ด้วยเช่นกันครับ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับงานสายต่อสู้ของเหล่านักเรียนที่มีความเป็นโชเน็น 90 จ๋าๆ เรื่องนี้ การได้เห็น DNA แบบนี้ในเรื่อง “เห่ย” อาจไม่ใช่อะไรที่ชวนให้คิดในยุคนั้น แต่เมื่อมองจากยุคนี้ ยุคที่งานแนวนักเรียน นักเลง อาจไม่ใช่งานกระแสหลักอีกแล้ว
สิ่งนี้มันก็ชวนให้คิดถึงช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของการจับมือหลังซัดกันนัวเนียไปแล้ว ซึ่งไอ้จุดนี้เรื่องนี้ทำเอาไว้ได้ดีมากๆครับ หลายๆเหตุการณ์ที่ได้มาอ่านใหม่ตอนนี้ มันทำให้รู้สึกถึงความมีชีวิตชีวาของความเป็นวัยรุ่น ที่มองและเข้าใจอะไรง่ายๆ ไม่ลึกจนเกินไป และเหมาะกับบริบทการนำเสนอที่ออกแนวตลกของเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งครับ
และในจุดสำคัญที่สุดที่ทำให้ “เห่ย” อยู่ในใจของนักอ่านหลายคนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานั่นคือการเล่าเรื่องด้วยความ “สนุกและตลก” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้สิ่งนั้นจะเป็นการเล่นกับความ “เห่ย” ของพระเอกก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า เขาใช้ความ “เห่ย” นี้ออกมาได้ชัดเจนและครบถ้วนมาก ความเป็นพระรองที่ดูไม่สมกับเป็นพระเอก ถูกนำเสนอออกมาล้อกับความที่มวยไทยเป็นแค่ของประดับที่ยังไม่มีใครเห็นราคาในตอนนั้น
มันจึงเป็นการจับคู่ระหว่าง ม้านอกสายตา ที่ถูกนำเสนอออกมาล้อกับความไม่มีใครมองได้อย่างดี ความสนุกและความฮาของเรื่องนี้ ผมว่าอยู่ในกรอบและบริบทของการต่อสู้ที่ดุเดือดผสมกันออกมาได้อย่างลงตัว แม้ผมจะสะดุดความ “เห่ย” ของพระเอกเราอย่างมากก็เหอะ ซึ่งมองอีกมุมนึงก็คือ เขาทำถึงคำว่า “เห่ย” และเมื่อมีใครพูดคำนี้ออกมาเมื่อไหร่ แน่นอนว่าผมก็จะคิดถึง มังงะเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัยครับ
มาถึงตอนนี้ ผมขอพูดถึงเรื่องนี้เท่านี้ก่อนแล้วกัน ยังไม่พาเข้าเนื้อหาด้านในในมุมมองผมนะ เพราะอย่างที่บอกว่า อ่านตอนนี้กับอ่านตอนนั้นสำหรับผมมันก็มีอะไรหลายๆอย่างที่ไม่เหมือนเดิมนะ แต่ประเด็นสำคัญที่ไม่ไปต่อก็คือ พิมพ์มาเยอะแล้ว ไม่ใช่สิ เพราะหนังสือเซ็ทนี้ยังออกมาไม่ครบครับ คือเซ็ทที่ผมได้อ่านจบตอนนี้นั้นมันคือล็อคแรกที่มีทั้งหมด 6 เล่ม จากทั้งหมด 18 เล่มจบ ที่ทาง สนพ ได้แยกทำออกมาทีละล็อตเพื่อไม่ทำให้คนอ่านอย่างเราๆต้องรอนาน
ด้วยเหตุนี้ การพูดถึงเนื้อหาส่วนอื่น ผมขอพร่ามให้อ่านกันในครั้งต่อไป เมื่อได้อ่านเล่มต่อไปเรื่อยๆครับ ซึ่งเนื้อหาที่กำลังสนุกนี้ผมขอพูดถึงไปพร้อมกับงานผลิตที่ได้เห็นจาก 6 เล่มแรกนี้ก่อนนะครับ
“ไอ้เห่ย สู้เฟ้ย!” เวอร์ชั่นที่ผมกำลังอ่านอยู่นี้ เป็นหนึ่งในผลงานค่ายน้องใหม่ที่แตกตัวมาจากค่าย Cat Comics นั้นก็คือค่ายนี้ Meow Manga ครับ ถ้าจำไม่ผิดงานค่าย Meow นี้น่าจะเน้นผลงานเรื่องยาว ส่วน Cat Comics น่าจะเน้นไปที่งานที่มีจำนวนเล่มไม่มากนะครับ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นค่ายใหม่
แต่ด้วยชื่อของ Cat Comics ก็ทำให้แฟนๆงานค่ายนี้ มั่นใจได้ว่าแม้งานนี้จะเป็นงานแรกของค่าย Meow ก็น่าจะคงคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับที่ค่าย Cat ทำเอาไว้เป็นมาตรฐานที่ดีมากค่ายหนึ่งเอาไว้เช่นกัน ซึ่งมันก็เป็นอย่างที่คาดไว้แหละครับ
ซึ่งหากใครยังไม่ทราบ ทาง Meow เขาแยกทำเรื่องนี้ออกเป็น 3 ล็อต ล็อตละ 6 เล่ม รวมเป็น 18 เล่มจบนะครับ ซึ่งเซ็ทแรกที่รีวิวอยู่นี้ ทางค่ายทำออกมาด้วยขนาดเล่ม BB นะ ตัวเล่มเปิดอ่านแบบญี่ปุ่น ผมชอบการออกแบบหน้าปกนอกและในมากเลยนะ คือปกนอกพิมพ์ออกมาเป็นภาพสี สีสันสวยงาม รูปภาพก็ดีงาม อันนี้ถือว่าเป็นมาตรฐานของงานยุคนี้ แต่ด้านในนี่ทำผมชอบไม่แพ้กับปกนอกเลย
คือปกด้านในนอกจากจะทำการพิมพ์สีที่ทำให้งานดูพรีเมียมและมีราคามากกว่าการพิมพ์ปกด้านในเป็นขาวดำที่หลายๆค่ายนิยมกันแล้ว การพิมพ์สีที่ว่าแม้จะใช้รูปเดียวกับปกหน้า ก็สร้างความแตกต่างด้วยการเลือกลงสีฉากหลังเป็นสีดำเทาแทน ซึ่งสำหรับผมแล้วมันทำให้ตัวแบบดูโดดเด่นและสวยงามมาก แตกต่างจากปกหน้าเลย แม้จะเป็นภาพเดียวกัน ผมถือว่าเป็นลูกเล่นที่ทำออกมาได้น่าสนใจและน่าจดจำอย่างมากครับ
ตัวเล่มเปิดอ่านแบบญี่ปุ่นนะครับ เป็นงานพิมพ์ขาวดำทั้งเล่มครับ พิมพ์บนกระดาษกรีนรีด 75 แกรม งานพิมพ์คมชัดได้ระดับดีมากเช่นเดิม อันนี้เป็นเรื่องปกติ สิ่งที่พิเศษสำหรับผมก็คืองานแปลครับ งานแปลในเรื่องนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผมสนุกกับการอ่านเรื่องนี้แม้ผมจะอ่านในยุคนี้ก็ตาม อย่างที่เรารู้กันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องตลก มีการใช้มุกตลกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง
ทำให้เมื่อทางค่ายแปลช่วงเล่นมุก ด้วยสารพัดวิธีการ อย่างปรับมุกตลกให้เข้ากับยุคสมัย หรือการอิงเข้ากับเรื่องบางเรื่องที่ทันยุคสมัยมากขึ้น เมื่อรวมกับการแปลที่ลื่นไหล แปลได้เข้าใจกับเรื่องราวและบริบทที่กำลังเกิดขึ้นในเล่มอยู่ บอกเลยว่าทำให้อ่านสนุกขึ้นอย่างมาก นี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างมากว่า การอ่านในครั้งนี้ สนุกกว่าการอ่านเมื่อยุคก่อน ด้วยคุณภาพที่มันเพิ่มขึ้นอย่างมากครับ เอาเป็นว่าสำหรับผมงานเซ็ทนี้จะไม่ทำผิดหวังสำหรับคนจ่ายเงินหรือแฟนๆที่ตั้งตาคอยอยู่อย่างแน่นอน
มีไม่บ่อยนะ สำหรับตัวผมเอง ที่เมื่อหยิบงานในยุค 90 มาอ่านในยุคนี้แล้วจะรู้สึกสนุกมากๆอย่างนี้ เพราะอย่างที่บอกว่าผมไม่ได้ชอบเรื่องนี้มากอย่างหลายๆคนชอบกัน เพราะติดที่คาเรทเตอร์ของตัวเอกมันไม่เข้าแก๊ปแบบที่ผมชอบในสายต่อสู้ ผมชอบพระเอกแนวเท่ มากกว่า แต่การที่มาอ่านตอนนี้แล้วชอบอย่างมาก ก็อย่างที่บอกว่างานแปลและงานผลิตมีผลต่อความรู้สึกชอบในครั้งนี้อย่างมากครับ เพราะแบบนั้นจึงเชื่อมั่นว่า
หากใครเป็นแฟนเรื่องนี้หรือชอบงานแนวตลก ทะลึ่งหน่อยๆ สาวทรงโตทั้งเรื่อง คงต้องชอบเวอร์ชั่นนี้อย่างไม่ต้องสงสัย งานผลิตที่มีคุณภาพ มันตอบสนองความต้องการของนักอ่านระดับจริงจังได้อย่างมากจริงๆครับ แน่ะนำสุดๆครับ นี่รองานพรีครั้งต่อไปแล้วจะมารีวิวเนื้อหาให้อ่านกันอีกครั้งครับ นี่แค่น้ำจิ้ม หรือน้ำท่วมทุ่งก็ไม่รู้ 5555
*** คะแนนที่ให้ไว้สำหรับอ่าน 6 เล่มแรกเท่านั้น อนาคตหากได้อ่านจนครบ 18 เล่มจบจะมารีวิวให้อ่านกันอีกครั้งครับ***
ภาพ 9/10
เรื่อง 9/10
ความประทับใจ 9.5/10
#Manga #รีวิวการ์ตูน #ยังไม่จบ #MeowManga #CatComics #การ์ตูนแนวต่อสู้ #การ์ตูนแนวนักเรียนนักเลง #MangaAnimeReviews #การ์ตูนแนวรัก #9คะแนน #ไอ้เห่ยสู้เฟ้ย #หนังสือการ์ตูน #Rate15 #เธอๆอ่านเรื่องนี้หรือยัง
โฆษณา