23 เม.ย. เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

หัวหน้าอย่าลืมขอบคุณพนักงาน คุณสมบัติ No.1 ผู้นำรุ่นใหม่ต้องมี

โลกการทำงานยุคปัจจุบันเริ่มมีวัยทำงานรุ่น Gen Y Gen Z ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งระดับผู้บริหารกันมากขึ้น ด้วยว่าคนรุ่นก่อนๆ ได้ทยอยเกษียณอายุงานออกไป แต่การเป็นผู้นำมือใหม่อาจมีบ้างที่เผลอมองข้ามจุดสำคัญในการทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา
หนึ่งในทักษะผู้นำที่ซีอีโอหรือหัวหน้าทีมในแต่ละแผนกงานควรฝึกฝนให้มีติดตัวเอาไว้ ก็คือ "การชื่นชมและขอบคุณพนักงาน" สิ่งนี้สามารถแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบเพื่อแสดงให้พนักงานเห็นว่าพวกเขาใส่ใจ ตั้งแต่การเสนอขึ้นเงินเดือน การจัดโซนบริการดูแลลูกเล็กของพนักงานกลุ่มพ่อแม่ในที่ทำงาน ไปจนถึงการมอบสมาชิกฟิตเนสฟรี หรือสินค้าที่มีแบรนด์ของบริษัท เช่น เสื้อฮู้ดและกระบอกน้ำ
แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงความชื่นชมเพื่อให้เกิดผลอย่างมีความหมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โต ให้ของแพง หรือหรูหราเสมอไป ..นี่คือคำแนะนำจาก "เพาลา เดวิส" (Paula Davis) ที่ปรึกษาด้านความเป็นผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านความยืดหยุ่น
1
รู้จักเทคนิค Thank you, Plus ที่เจ้านายหลายคนมักจะละเลย
เธอบอกอีกว่า มีสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่หัวหน้าสามารถทำได้ เพื่อให้สถานที่ทำงานกลายเป็นพื้นที่ที่รู้สึกสบายใจ ปลอดภัย และเป็นมิตร ซึ่งอาจนำไปสู่ผลิตภาพ ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น และลดอัตราการลาออกให้ต่ำลง ตามที่งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็น
เดวิสเรียกการกระทำเหล่านี้ว่า "สิ่งเล็กๆ ที่สังเกตเห็นได้" (TNTs : Tiny Noticeable Things) โดยปัจจุบันคำพูดหรือการกระทำเพื่อแสดงความขอบคุณเหล่านี้ถูกมองข้ามมากเกินไป และเจ้านายหลายคนมักจะละเลย เธอบอกว่าสิ่งที่คนเป็นหัวหน้าควรทำให้มากขึ้นก็คือ การแสดงคำขอบคุณ และแสดงความยืนยันสิ่งนั้นให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เธอเรียกเทคนิคนี้ว่า "Thank You, Plus"
"จากการทำงานของฉันในฐานะ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของสถาบัน Stress and Resilience (บริษัทฝึกอบรมและให้คำปรึกษาในที่ทำงาน) ฉันพบว่า ผู้นำหลายคนมีปัญหากับการยอมรับผู้อื่น พวกเขามักจะลืมพูดคำว่า 'ขอบคุณ' (Thank you) และลืมเพิ่มเติมคำชื่นชมแบบเฉพาะเจาะจงหรือจุดแข็งในตัวลูกน้อง (Plus) ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี ผู้นำควรแสดงออกตรงนี้เพิ่มเติมเช่นกัน" เธออธิบาย
การแสดงความขอบคุณเล็กๆ น้อยๆ ช่วยลดอัตราการลาออก!
การที่หัวหน้าพูดคำว่า "ขอบคุณ" อย่างง่ายๆ กับลูกน้อง ก็สามารถสร้างความแตกต่างได้แล้ว โดยมีรายงานจาก Reward Gateway แพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมของพนักงาน ที่ทำการสำรวจความเห็นพนักงานสหรัฐ 1,500 คน ชี้ว่า 75% ของพนักงานในสหรัฐฯ มองว่า การที่หัวหน้ายอมรับผลงานที่ดีแบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มแรงจูงใจและขวัญกำลังใจในที่ทำงานได้จริง
อีกทั้งจากงานวิจัยของ Workhuman และ Gallup ซึ่งติดตามเส้นทางอาชีพของพนักงานมากกว่า 3,400 คน ตั้งแต่ปี 2022-2024 ระบุว่า พนักงานบริษัทที่ได้รับการยอมรับในผลงานหรือได้รับคำชื่นชมจากหัวหน้า มีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานน้อยลง 45% ในปี 2024
อย่างไรก็ตาม การระบุความสำเร็จของพนักงานอย่างเฉพาะเจาะจง และการชื่นชมจุดแข็งของพวกเขาเป็นขั้นตอนเพิ่มเติมที่เจ้านายบางคนมองข้าม ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดแบบคลุมเครือว่า "พวกคุณทำรายงานสรุปเหล่านั้นได้ดีนะ" แต่เดวิสแนะนำให้พูดใหม่ ในทำนองว่า
"ขอบคุณมากสำหรับการสรุปรายงานเหล่านี้ วิธีที่คุณสรุปช่วยให้ฉันเห็นประเด็นสำคัญได้อย่างชัดเจน และฉันสามารถมีการสนทนาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกับ CEO ของเราเนื่องจากการจัดระเบียบของคุณ" เป็นต้น
การพูดขอบคุณลูกน้องอย่างชัดเจน ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ทีมได้มหาศาล
เดวิสบอกอีกว่า เทคนิค "Thank You, Plus" นี้ ใช้เวลาพูดออกมาเพียงไม่กี่วินาที แต่สามารถสร้างพลังเชิงบวกให้ก้าวไปไกลกว่าคำว่า "ทำงานได้ดี" แบบทั่วไป มันจะช่วยส่งผลกระทบที่ทรงพลังให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขามีคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้ยังทำให้พนักงานกระตือรือร้นที่จะทำงานให้ดียิ่งขึ้น
พนักงานที่ได้รับการชื่นชม ได้รับการยอมรับแบบเฉพาะเจาะจง บอกกับเดวิสว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะทุ่มเทและทำงานเกินความคาดหมายมากขึ้น ผลลัพธ์คือทำให้พนักงานมีทัศนคติที่ยินดีกับการทำงานดึกหรือทำงานพิเศษเพื่อองค์กรมากขึ้น "มันเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างแรงจูงใจและความผูกพันขึ้นมากมาย"
เดวิสเสริมว่า ไม่ใช่แค่วัยทำงานระดับหัวหน้าเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากคำแนะนำนี้ได้ พวกเรามักไม่ค่อยมีเวลาในการให้การยอมรับ หรือให้คำชื่นชมคนอื่นๆ ในชีวิตของเรา ด้วยภาระหน้าที่และงานมากมายที่ต้องจัดการในแต่ละวัน เราเลยลืมที่จะพูดคำง่ายๆ อย่าง "ขอบคุณนะ" "เยี่ยมมาก" หรือ "ฉันซาบซึ้งในตัวคุณจริงๆ"
เดวิสได้พูดในรายการพอดแคสต์ "วิธีเป็นมืออาชีพในที่ทำงาน" เมื่อเดือนที่แล้วว่า การที่เราใส่ใจเพิ่มอีกนิดโดยการพูดคำชื่นชมอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เท่ากับเป็นการแสดงให้ผู้คนเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง และตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่ว่า "ทุกคนล้วนอยากรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ"
โฆษณา