1 เม.ย. เวลา 13:37 • หนังสือ

ส ง ค ร า ม ชี วิ ต

วาระครบรอบ ๑๒๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา
เมื่อเอ่ยนาม 'ศรีบูรพา' หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักอ่านรุ่นเก่าส่วนใหญ่ต้องเคยอ่านงานของท่านมาบ้างแล้ว เช่น 'โลกสันนิวาสและชีวิตสมรส'​ 'มารมนุษย์'​ 'แลไปข้างหน้า'​ 'ข้างหลังภาพ'​ 'หัวใจปรารถนา'​ 'ป่าในชีวิต' 'ผจญบาป' ฯลฯ แต่นักอ่านรุ่นใหม่บางท่านอาจจะยังไม่คุ้นชื่อและผลงานของนักประพันธ์อาวุโสท่านนี้
.
"สงครามชีวิต" พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เรียกได้ว่ามีอายุเก่าแก่พอ ๆ กับอายุประชาธิปไตยของเมืองไทยเลยทีเดียว นวนิยายเรื่องนี้เป็นผลงานที่ศรีบูรพาภาคภูมิใจ
.
ท่านได้เขียนในคำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรกว่า "เมื่อเขียนเรื่องนี้เสร็จ ข้าพเจ้ามีความอิ่มใจยิ่งกว่าที่ได้เขียนเรื่องอื่นใดทั้งหมด ข้าพเจ้ามิได้หวังว่า 'สงครามชีวิต'​ จะเป็นศรีวรรณกรรมอันใดดอก ข้าพเจ้าไม่บังอาจหวัง ข้าพเจ้าเป็นคนเล็ก ๆ และไม่มีความรู้อะไรเป็นแก่นสาร ข้าพเจ้าอิ่มใจเพราะเหตุหวังเล็กน้อยว่า 'สงครามชีวิต'​ จะให้ความสุขความรื่นรมย์แก่เพื่อนมนุษย์บ้าง... "
.
นวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวความรักและสภาพสังคมผ่านชีวิตคู่รักชายหนุ่มหญิงสาวที่ยากจน ผู้เขียนแต่งขึ้นในรูปแบบของจดหมายพูดคุยโต้ตอบและระบายความคับข้องใจกันระหว่าง "เพลิน โรหิตบวร" หญิงสาวที่เคยมีฐานะดีแต่ต้องมาใช้ชีวิตยากจน กับ "รพินทร์ ยุทธศิลป์" ชายหนุ่มที่กำพร้าและยากจน
.
รพินทร์ ให้กำลังใจและเตือนสติเพลินให้อดทนต่อความยากไร้และต่อสู้ เขาเขียนบอกเธอว่า
"... ฉันก็เลิกความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เล็งเห็นชีวิตในปัจจุบันกาลเป็นของน่าอยู่และน่ารัก ความจนไม่ใช่สิ่งขมขื่นเกินไปสำหรับฉัน รู้สึกตัวเป็นสุขมากและอิ่มเอมใจอย่างแสนประหลาดเมื่อมาสมาคมอยู่ในหมู่คนจนเหมือน ๆ กัน หรือต่ำกว่า ฉันขออ้อนวอนเพลินอย่าไปเอาใส่ใจถึงเรื่องนั้น และอย่าได้ชำเลืองดูชีวิตของบุคคลที่สูงกว่าเรา... จำไว้ว่าความมั่งมีที่เราอยากได้แต่ไม่สามารถขึ้นถึงจะฆ่าเธอ สภาพที่จนกว่าต่ำกว่านั่นแหละจะช่วยต่อชีวิตของเธอให้ยืนยาว... "
.
ผู้เขียนใช้เรื่อง 'ความยากจน'​เป็นประเด็นหลักเปรียบเสมือนสงครามในชีวิตที่ต้องต่อสู้ในการสนทนาของตัวละคร นอกเหนือจากเรื่องความรักและความใฝ่ฝันในชีิวิตของเพลินและรพินทร์
.
ภาษาที่เขียนในเรื่องบางคำอาจจะล้าสมัยไปแล้ว เช่น" พ่อยอดรักชั่วฟ้าดินสลาย" แต่โดยรวมยังมีความไพเราะในเชิงวรรณศิลป์ที่เราไม่ค่อยได้เห็นในงานเขียนปัจจุบัน เช่นเมื่อรพินทร์เลือกใช้คำพูดคุยกับเพลิน ผู้เขียนใช้ถ้อยคำบรรยายที่ไพเราะลึกซึ้ง และมีความหลากหลาย ตัวอย่างเช่น
.
"จงปลดเปลื้องความคิดที่จะ... " หรือ "ถ้าเธอเพียงจะรุ่มรวยกว่านี้..." และ "การกระทำที่แสลงต่อความรู้สึก..." ส่วนเพลินก็เขียนเล่าด้วยถ้อยคำที่สื่ออารมณ์อย่างชัดเจนว่า "ดิฉันจะยอมรับ... ทุกอย่างด้วยความอิ่มเอิบใจ/ด้วยความปลื้มเปรมใจ" เป็นต้น
.
เรื่องนี้แฝงแนวคิดเชิงปรัชญาชีวิตเรื่องการดำเนินชีวิต ความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ การดิ้นรนเผื่อความอยู่รอด ความใฝ่รู้เพื่อโอกาสดี ๆ ในชีวิต... แม้เรื่องจะจบลงด้วยความสิ้นหวังและผิดหวัง ผู้อ่านก็จะยังคงรู้สึกประทับใจและหยิบมาอ่านได้อีก...
.
"สงครามชีวิต" ได้รับการพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วนนับตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)​ ก็ได้ประกาศยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญหรือผู้มีผลงานดีเด่น
.
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของศรีบูรพาอีกเล่มหนึ่งที่คนไทยควรต้องหามาอ่าน คุณวิลาศ มณีวัต คอลัมนิสต์อาวุโส ผู้เขียนเรื่อง "ช่วยหยุดกรุงเทพฯ หน่อยเถอะ... ผมจะลง" เคยเขียนคำนิยมไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งแรก ๆ ว่า
"ผมอ่าน 'ข้างหลังภาพ'​ อย่างวางไม่ลง แต่ผมรู้ตัวว่าไม่ถนัดในการแต่งเรื่องประโลมโลก ผมขาดอารมณ์โรแมนติก ดังนั้นงานของ "ศรีบูรพา" ที่มีอิทธิพลต่อการเขียนของผมมาก จึงได้แก่" สงครามชีวิต" ผมอ่านจนแทบจะจำได้ขึ้นใจ ตอนหลังย้ายบ้านหนังสือเล่มนี้หายไป แต่ผมก็ไม่รู้สึกว่าหาย เพราะผมได้ดูดซึมเข้าไปหมดแล้ว"
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #สงครามชีวิต #ศรีบูรพา #กุหลาบสายประดิษฐ์ #สำนักพิมพ์ดอกหญ้า
โฆษณา