เมื่อวาน เวลา 16:16 • เกม

วาทะศิลป์อำพรางสัจจะ เหตุไฉนเหล่าคนเกมจึงหลอกคนเล่น?

หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวของผู้พัฒนาในหลายต่อหลายเกมที่อวดอ้างสรรพคุณในเกมพวกเขาเช่น
"Fable's "จะเป็นโลกที่สมจริงขั้นสุดและคุณจะปลูกต้นโอ้ตามเรียลไทม์ได้"
"Mass Effect 3 จะไม่จบเป็นแบบ A, B, C แต่จะให้ฉากจบที่ต่างไปจากนี้แน่"
"เราไม่มีวันทิ้งเกม Titanfall 2 อย่างแน่นอนครับ เพราะมันคือจิตวิญญาณของเรา"
"Project Milo ของ Xbox 360 ที่คุณจะได้ตอบโต้กลับ AI ผ่าน Kinect ได้อย่างน่ามหัศจรรย์"
และ
"Resident Evil 4 จะเป็นเกมสำหรับเครื่องเกม GameCube เท่านั้น"
ข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อผู้พูดลั่นวาจาไปแล้วคำพูดนั้นจะเป็นนายเรา ในบางครั้งแล้วก็ชวนสงสัยว่าเหตุใดพวกเขาได้ตระบัดสัตย์ต่อคำพูดได้สะขนาดนี้ ผู้พัฒนาเกมจงใจหลอกเราหรือขอแค่พูดอะไรส่ง ๆ ไปก่อนตามสถานการณ์แล้วค่อยมาแก้ไขทีหลัง ดู ๆ ไปแล้วไม่เป็นมืออาชีพเสียเลย
ถ้าในมุมมองของความเป็นมืออาชีพยิ่งต้องรักษาคำมั่นทั้งเพื่อตัวเอง บริษัท และแฟนด้อมทั้งหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องที่อยู่เหนือกว่าความเป็นมืออาชีพหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวผู้พูดว่าจะพูดชักจูงลูกค้าอย่างเราอย่างไรให้ตัวผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามีความพิเศษโดดเด่นกว่าคู่แข่งรายอื่นบนตลาด
ลองยกสถานการณ์สมมุติขึ้นมาสักอย่าง เวลาเราไปสมัครงาน บริษัทก็จะตั้งเป้าไว้แล้วว่าอยากได้ผู้ที่มีทักษะตามลิสต์ ตัวเราอาจเห็นว่าศักยภาพเรามีเกือบครบทุกข้อหรือ 4 ใน 5 ที่บริษัทต้องการ แน่ว่าความมั่นใจก็เปี่ยมล้นด้วยทักษะที่เกินครึ่งนี้อยู่แม้จะมีแค่อย่างเดียวที่เราไม่ถนัดมันเลย แต่ก็คิด ๆ ว่าเรื่องนี้มันแก้ไขกันได้หลังจากนี้ เราเลยเสนอตัวว่าสามารถทำได้หมดทุกประการอย่างไม่เคอะเขิน ในทางกลยุทธ์นี่คือการอยู่เหนือคู่แข่ง ในทางโอกาสนี่คือโอกาสทองที่บริษัทจะเลือกเรา
เหตุที่เราพูดออกมาว่าทำได้หมดก็เพราะเราอยากให้คำพูดของเราสอดคล้องกับประโยชน์ของบริษทหรือมุมมองที่ผิวเผินกว่านี้คือต้องการให้คำพูดสอดคล้องไปกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยมี 2 วัตถุประสงค์เบื้องหลัง
1. ให้คำพูดห่อ-นำสถานการณ์ ผู้พูดตระหนักถึงสถานการณ์ที่เป็นกระแส แต่มิได้พูดในสิ่งที่ผู้ฟังอยากได้ยินในกระแสเท่านั้น ผู้พูดยังใช้คำเพื่อห่อหุ้มสถานการณ์ไปพร้อมกับการนำทางมันไปด้วย ตัวอย่างเช่น พรรคการเมืองชูนโยบายหาเสียงว่า "หากเลือกเราไม่ว่ายากดีมีจนจะรักษาพยาบาลฟรีทั่วหน้า" หรือ "เกมนี้เป็น F2P ของแท้ไม่มี P2W แน่นอนผู้เล่นทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่เท่าเทียมกัน" คำพูดห่อสถานการณ์ในตอนนี้อันมีผลในสถานการณ์ภายภาคหน้านั่นเอง
2. คำพูดชะงักสถานการณ์ ผู้พูดตระหนักว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนหรือกระทั่งผิดแผกไปเลย แต่ต้องการให้สถานการณ์ดำเนินไปตามปกติและไม่อยากให้'คำจริง'แพร่งพราย ผู้พูดต้องพูดเพื่อให้เหมือนว่าสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ เพื่อให้ผู้ฟังไม่เคลือบแคลงหรือหากสงสัยไปแล้วก็ตะล่อมกลับมา
ตัวอย่างเช่น "ตอนนี้รัฐบาลดำเนินการจัดซื้อวัคซีนให้พี่น้องประชาชนครบทั้ง 70 ล้านคนแล้ว" หรือ ถ: "เกมคุณจะวางจำหน่ายใน 2 เดือนแล้วแต่เห็นว่าเลื่อนออกไปเพราะอะไรครับ?" ต: "เกมของเราเสร็จพร้อมปั้มแผ่นแล้ว ที่เราเลื่อนเพราะเราอยากให้เกมมอบประสบการณ์ให้ผู้เล่นสมบูรณ์ที่สุด" เป็นคำพูดที่เมื่อสถานการณ์ได้ไหลไปแล้วแต่ดึงมันให้ชะงักไว้เพื่อให้ผู้ฟังปะติดปะต่อราวว่ายังคงเป็นอยู่นั่นเอง
จะเห็นว่าผู้พูดที่พูดสอดรับสถานการณ์ เมื่อวันเวลาผ่านไปผู้พูดจะต้องแบกทั้งสัจจะตัวเอง ชื่อเสียงบริษัท ความเชื่อใจของแฟน ๆ สิ่งที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือสถานการณ์ที่ต้องแบกตั้งแต่ตั้งไข่ถึงระยะฟักตัว เป็นเพราะว่า ตัวคำพูด'ล็อก'สถานการณ์ไว้ให้อยู่ในโมงยามนั้นเป็นสัจวาจาที่ถึงสถานการณ์ผันแปรก็ไม่บิดผันคำพูดในสถานการณ์ได้
คำพูดที่กล่าวว่า ฉันสามารถทำได้ หรือ ฉันจะทำสิ่งนี้ ล้วนต้องรับสนองด้วย'การกระทำ' กล่าวคือ คำพวกนี้ไม่ได้มีความหมายเพียงโดด ๆ ของมันเอง แต่เป็นคำที่'พ่วง'มากับการกระทำที่อยู่ภายในคำ คำเรียกสวย ๆ ของทฤษฎีนี้เรียกว่าวัจนกรรม
ขยายความก็คือ เมื่อผู้พัฒนาบอกเล่ากับแฟนเกมว่าเกมพวกเขาจะทำนู่นทำนี่ได้(เป็นคำมั่นสัญญา) หรือ รัฐบาลประการกร้าวว่าจะทำสงครามต่อต้านยาเสพติด(เป็นถ้อยแถลง) หรือ บริษัทถามว่าคุณเริ่มงานวันพรุ่งนี้ได้มั้ย(เป็นคำถามเชิงร้องขอ) แล้วหากคุณบอกว่าผมสามารถทำได้ครับ(เป็นคำตอบสนอง) ถ้อยคำทั้งหมดนี้ไม่ใช่รูปประโยคของภาษาดาล ๆ มันเป็นภาษาที่ถ่ายทอดการกระทำนั้นออกมา ซึ่งส่งหรือรับระหว่างผู้พูดและผู้รับฟังที่ปลายทางอยู่ที่ผลลัพธ์จากการกระทำ
กลับมาที่โควทต้นบทความของเรา พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นนักพูดที่มีพรสวรรค์ทางวาทะศิลป์ชั้นเลิศ ขอแค่มีเหตุปัจจัยของผู้ฟังที่ยินดีรับฟังกับการกระทำที่สอดคล้องในประโยชน์เท่านี้ก็พอให้พรแสวงในวาทะศิลป์เฉิดฉายเป็นไหน ๆ
แน่ชัดว่าเมื่อเวลาล่วงเลยไปคำพูดที่เป็นวัจนกรรมของพวกเขาล้วนผูกมัดทวียิ่ง จากที่พวกเขาคือผู้กระทำการทางภาษา แต่ตอนนี้ภาษากลายเป็นผู้กระทำการแทนพวกเขา
แล้วคำพูดของพวกเขาเป็นคำหลอกลวงคนเล่นหรือเปล่า? เรานิยามคำพูดพวกเขาว่าเป็นคำสัญญาที่ผิดสัญญาซึ่งเป็นคำหลอกลวงอย่างนึงว่า พวกเขาจะทำสิ่งนั้นให้นะ แต่กลับไม่ได้ทำตามที่พูดไว้ เพื่อวาดฝันกับผู้ฟังในสถานการณ์เบื้องหน้าหรือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ฟังต่อตนเอง
คำนิยามดังกล่าวอาจพออธิบายประเภทของคำลวงได้ประมาณนึง แต่ยังมิอาจสอดส่องไปยังสาเหตุปัจจัยหรือเป้าหมายที่แท้จริงของคำพูดเหล่านั้นได้อย่างครอบคลุม พูดง่าย ๆ แม้แต่คำลวงหลอกเองก็หันเหความเป็นจริงของสาเหตุไปเรื่อยยากที่จะจับมันให้คงที่ ผู้เขียนจึงตั้งสมมติฐานถึงเหตุและเป้าหมาย 4 ข้อกว้าง ๆ ดังนี้
1. เป็นคำลวงที่มีตะกอนของเจตนาต้นทางที่ดี
หมายความว่าเจตนาเดิมของมันตรงตัวตามความหมายของผู้พูดว่าจะทำอย่างงั้นอย่างงี้ แต่พอผ่านไปเจตนาที่ดีที่ต้องการให้ผู้เล่นได้อย่างงั้นอย่างงี้ กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เหตุเพราะปัจจัยภายนอก สุดท้ายมันก็ค่อย ๆ เป็นคำลวงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพราะเจตนาไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้อีก
2. เป็นคำโฆษณาเกินจริงจนวิวัฒน์เป็นคำลวง
หมายความว่าคำพูดของผู้พัฒนาต้องการเสนอขายกับผู้เล่นเท่านั้นอันเป็นเป้าประสงค์หลัก เลยเน้นหนักไปสิ่งที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ให้สมจริงสมจัง ก่อนพบว่ามันได้วิวัฒน์เป็นคำลวงที่มีความจริงแค่หางอึ่งเท่านั้น
3. เป็นคำที่จริงในสถานการณ์นึงแต่เท็จในสถานการณ์ต่อมา
หมายความว่าผู้พูดตระหนักในศักยภาพที่จำกัดของตัวเอง แต่พูดเพราะสาเหตุจากสถานการณ์ ณ ปัจจุบันบีบให้ทำ เพื่อสร้างความสอดคล้องในประโยชน์ในผู้ฟังด้วย แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปผู้ฟังรับรู้ว่าคำพูดที่ผ่านมาเป็นแค่การพูดเพื่อเอาใจคนฟังที่หลอกลวง
4. เป็นคำลวงโดยบริสุทธิ์ที่ปราศจากความจริงอยู่เลย
หมายความว่าคำพูดที่หลอกลวงทั้งเพ ไม่มีความจริงเจือปนอยู่ใด ๆ ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ให้ผู้ฟังหันมาสนใจภายใต้หน้ากากที่โป้ปด
สมมติฐานเช่นว่าอาจสรุปสาเหตุหรือเป้าหมายของคำพูดพวกเขาได้อย่างกระท่อนกระแท่นและกว้างขวางหลายมิติ คำพูดพวกเขาอาจเจตนาดีจริง ๆ ก็ได้ หรืออาจเป็นเด็กเลี้ยงแกะก็ได้ หรือพูดเพราะความจำเป็นบางอย่างก็ได้(ที่ไม่จำเป็นสำหรับผู้เล่น) ถึงอย่างไรเสีย บางทีเราอาจต้องนำวัจนกรรมต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังว่า พวกเขาทำเพื่อมีเป้าหมายแก่ผู้เล่นจริง ๆ หรือว่าไม่เคยมีอยู่้ลยนำมาคำนวณว่าแท้จริงแล้วเป็นคำพูดของคนจริงใจหรือคำพูดของคนสตอเบอแหลกันแน่
กราฟิก: confleckz
เขียน: เบอร์ตองไรท์เตอร์​
โฆษณา