22 เม.ย. เวลา 12:00 • ธุรกิจ

‘แว่นท็อปเจริญ’ คนเข้าร้านน้อย แต่รายได้ ‘5 พันล้าน’ รวยเงียบๆ ตัดวันละ 3 อันก็อยู่ได้

“แว่นเป็นปัจจัย 4 ยืมใส่กันไม่ได้ ต่อให้เศรษฐกิจไม่ดีแค่ไหนคนก็ต้องใส่แว่น”
อายุ 16 คือช่วงปีที่คาบเกี่ยวระหว่างวัยรุ่นตอนกลางและกำลังเดินทางสู่วัยรุ่นตอนปลาย เทียบกับเด็กยุคนี้คงอยู่ระหว่างเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่สำหรับเด็กชายนพศักดิ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เขาจำเป็นต้องลาออกจากโรงเรียนทั้งที่มีวี่แววเป็นตัวเต็งสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ เพราะมีผลการเรียนดีเยี่ยม ได้ที่ 1 ของโรงเรียนแทบทุกปี ทว่า ชีวิตเกิดพลิกผันเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตทั้งคู่
ท่ามกลางความโชคร้ายก็มีความโชคดีที่ “คุณพ่อเจริญ” ทิ้งมรดกทางความคิดให้ลูกชายต่อยอดได้อีกไกล “นพศักดิ์” สวมบทบาทเถ้าแก่ร้านแว่นตาของพ่อในวัย 16 ปี ได้เก็บเล็กผสมน้อยองค์ความรู้มาบ้างจากการออกหน่วยรถเร่ พร้อมกับเรียนวิชาทำแว่นกับพี่ๆ พนักงานในร้านไปพลาง
1
ยุคสมัยนั้นบริบทครอบครัวคนจีนมีวิธีคิดเรื่องการสร้างกิจการและส่งต่อให้ทายาทด้วยสัดส่วนเท่าๆ กัน หากคนพ่อทำร้านขายยา มีลูก 3 คน ก็จะเปิดร้านขายยาให้ลูกๆ อีก 3 ร้าน หรือถ้ามีลูกคนเดียวก็เปิดอีก 1 ร้านเท่านั้น “นพศักดิ์” ที่เป็นลูกชายคนเดียวเกิดนึกสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าเขาคิดอยากเปิดร้านแว่นตาหลายๆ ร้าน จะทำได้หรือไม่ ติดปัญหาตรงไหน และต้องวางแผนอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จแม้ไม่มีญาติพี่น้องช่วยดูแลสักคนเดียว
📌 ใครๆ ก็บอกว่าเจ๊ง ผ่านไป 3 ปี เปิดได้ 100 สาขา ขยายไวเพราะแหกขนบซื้อ-เซ้ง
จากที่พ่อแม่อยากให้สอบเข้าหมอ แต่เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิด “นพศักดิ์” จึงนึกถึงคำสอนพ่อที่ว่า “ถ้าไม่ได้เรียนหนังสือ ให้ทำธุรกิจแว่นตาจะดีที่สุด” เพราะร้านแว่นตาคู่แข่งน้อย กำไรดี และเป็นงานสบาย เขาจำไว้ขึ้นใจและเร่งสานต่อธุรกิจ “เจริญการแว่น” ตั้งแต่อายุ 16 ปีทันที
1
ศึกษางานไปสักพักก็คิดอยากเปิดร้านเพิ่มอีกหลายสาขา นพศักดิ์มานั่งกางแผนดูความเป็นไปได้ว่า จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร เปิดร้านต้องมีคนทำงานที่เป็นทักษะเฉพาะ ต้องวัดสายตาเป็น เจียระไนเลนส์ได้ เลือกโปรดักต์ให้เข้ากับลูกค้า ฯลฯ สารพัดอย่างที่ทำให้รู้ว่า การเปิดร้านแห่งที่ 2 ไม่ใช่เรื่องง่าย
40 ปีที่แล้ว คำว่า “ร้านสาขา” หรือการขยายรูปแบบเชนสโตร์ยังไม่มีในไทยด้วยซ้ำ ร้านฟาสต์ฟู้ดที่ขยายหลักร้อยหลักพันแห่งก็ยังไม่เข้ามาตีตลาดในไทยแม้แต่เจ้าเดียว นพศักดิ์ไม่มี “Role Model” ให้เดินตามแต่เขาก็ไม่คิดล้มแผนเปิดร้านใหม่ ขาดคนก็ต้องเร่งรับคนใหม่มาเทรนนิ่ง ระดมเฟ้นหาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดสายตา ช่างเทคนิคเจียระไนเลนส์ พนักงานขายมือฉมัง ฯลฯ เพื่อให้คนเหล่านี้ฝึกเด็กใหม่แล้วกระจายไปตามร้านสาขาในอนาคต
ท่ามกลางยุคสมัยที่การทำธุรกิจแบบคนจีนต้องมีพี่มีน้องล้อมรอบ ไปคุยไอเดียเปิดร้านใหม่กับใครก็มักได้รับคำเตือนกลับมาว่า “ระวังเจ๊ง” เพราะไม่มีใครนึกภาพออกว่า การเปิดร้านที่เจ้าของหรือญาติพี่น้องไม่ได้ลงไปดูแลด้วยตัวเองจะเป็นอย่างไร ประกอบกับทุนในการหาทำเลเปิดใหม่ที่ตอนนั้นยังไม่มีไอเดียเรื่องการเช่าเข้ามาเกี่ยวข้อง “ซื้อ” หรือ “เซ้ง” เท่านั้น ที่จะทำให้ได้พื้นที่ไปต่อยอด
นพศักดิ์ ตรีชัยพรศักดิ์ ทายาทรุ่นที่ 2 และเจ้าของแว่นตาท็อปเจริญ
เด็กอายุเพียง 16-17 ปี ไม่มีเงินทุนหลักล้านในการซื้อตึกทีเดียวหลายๆ แห่ง หากเป็นการซื้อขาดราคาก็สูงถึง 10-20 ล้านบาท หรือเซ้งเพื่อเช่าระยะยาวก็ต้องใช้เงินก้อน 7-8 ล้านบาท ทำแบบนี้อย่างไรก็ขยายกิจการไม่ได้ “นพศักดิ์” จึงใช้ลูกตื๊อเปิดใจคุยกับอาแปะเจ้าของตึกตรงไปตรงมาเพื่อขอเช่าด้วยการจ่ายล่วงหน้า 3 เดือน เขาบอกว่า ยุคนั้นคนจีนถือเรื่องนี้มากเพราะกลัวโดนเบี้ยวค่าเช่า แต่ด้วยวาทศิลป์ของนพศักดิ์สุดท้ายจุดเริ่มต้นของการขยายสาขาจึงใช้เงินทุนไปเพียง 15,000 บาทเท่านั้น
“คุณพ่อเคยบอกไว้ว่า ถ้าไม่ได้เรียนหนังสือจะทำธุรกิจอะไรให้ทำแว่นตาดีที่สุด เพราะเป็นงานสบาย กำไรเยอะ อย่าไปทำอย่างอื่นให้ทำแว่น ผมเลยจำฝังหัวว่า ถ้าจะอดตายให้ทำแว่น แต่ก่อนคุณพ่อใช้ชื่อ “เจริญการแว่น” มีหน่วยรถเร่ขายแว่นตาอยู่ทั่วประเทศเราก็มาทำต่อ
จริงๆ ผมจบน้อย จบแค่ม.ศ. 3 พอมารับช่วงเราก็ดูว่า คุณพ่อมีร้านอยู่ร้านเดียว แล้วก็มีหน่วยรถเคลื่อนที่ ก็คิดว่า ทำไมร้านแว่นเปิดหลายๆ สาขาไม่ได้ ซึ่งธุรกิจแว่นตาเป็นธุรกิจสายเลือด คนนอกวงการไม่มีใครมาทำ ณ วันนี้ก็ยังไม่มี ที่มีก็ต้องจบจักษุแพทย์เท่านั้นถึงมาทำได้”
เมื่อได้พื้นที่มาแล้ว “นพศักดิ์” ทำการยกเครื่องรีโนเวทใหม่ทุกอย่าง ร้านแว่นสมัยก่อน ไม่สวย ไม่ทันสมัย เจริญการแว่นปรับใหม่ทั้งตีฝ้า ปูพื้น ติดแอร์ เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ให้ดูสะอาดตา รวมทั้งยังมีการว่าจ้างสถาปนิกมาออกแบบภายในเพื่อนำต้นแบบไปขยายสร้างร้านสาขาอื่นๆ ต่อ และไม่ลืมที่จะใส่ใจเรื่องคน
แต่ก่อนคนทำงานร้านแว่นแต่งตัวสบายๆ เสื้อยืด กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ มองว่า แบบนี้ทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือ พนักงานร้านท็อปเจริญ จึงต้องใส่ยูนิฟอร์มสีขาวให้เรียบร้อย ลุคดูดีลูกค้าก็ไว้ใจ ส่วนพนักงานเองก็ได้แต่งตัวสวยด้วย
1
📌 กินรวบร้านแว่น เปิดต่างจังหวัด 300 แห่ง โดนก๊อปจนยอมเปลี่ยนชื่อเป็น “ท็อปเจริญ”
ไม่ใช่แค่สถาปนิก แต่นพศักดิ์เติมทุกอย่างให้ครบถ้วนเพื่อลบคำสบประมาทเสี่ยงเจ๊ง ช่วงอายุ 16-17 ปี เขาจ้างนักบัญชีมาวางระบบงานบัญชีภายในทั้งหมด ไปรับ-ส่งนักบัญชีจากสนามบินทุกเสาร์อาทิตย์ ทำวนอยู่แบบนี้เป็นเวลา 6 เดือน พอระบบเข้าที่ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น “เจริญการแว่น” ขยายได้อย่างรวดเร็วถึง 10 แห่ง ใช้วิธี “เงินต่อเงิน” เปิดสาขาแรกได้กำไรเท่าไหร่ก็เก็บหอมรอมริบมาเช่าตึกอื่นๆ ต่อ
ช่วงแรกที่เจรจาเรื่องเช่าแทนซื้อกับเซ้งเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ผ่านไปสัก 10 สาขา ทุกอย่างก็ง่ายขึ้นกว่าเดิม จะไปเช่าตึกที่ไหนเมื่อไหร่ “นพศักดิ์” ให้แลนด์ลอร์ดต่อสายคุยกันเองเพื่อเช็กเครดิตจ่ายค่าเช่าของตน ถัดจากสาขาที่ 10 เขาประกาศกับลูกน้องว่า จะทำให้ถึง 100 สาขาให้ได้ ใช้เวลาหลังจากนั้นเพียง 3 ปี “เจริญการแว่น” ทำได้สำเร็จ เริ่มกระจายออกจากจังหวัดบ้านเกิดอย่าง “ขอนแก่น” ไปรอบทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นโคราช อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอื่นๆ แถบภาคอีสาน
1
ถัดจาก 100 ก็เข้าสู่หลักไมล์ 300 สาขาโดยที่ยังไม่เข้ากรุงเทพฯ แม้แต่แห่งเดียว “นพศักดิ์” พูดเปรียบเปรยว่า กรุงเทพฯ เหมือน “กระดูก” มีความยากโหดหิน เวลาทำธุรกิจต้องกินเนื้อก่อนค่อยกินกระดูกทีหลัง แต่ช่วงที่ยังไม่เข้ากรุงเทพฯ ก็มีโจทย์ใหม่เข้ามาท้าทายเถ้าแก่อายุน้อย เมื่อทำดี กระแสดังก็ต้องมีคนทำตาม เขาไปเจอร้าน “เจริญการแว่น” ในพื้นที่ที่ยังไม่เคยไป นั่นหมายความว่า มีร้านแว่นเปิดใหม่ใช้ชื่อ “เจริญการแว่น” เหมือนกับร้านเขาเอง
เห็นเช่นนั้นนพศักดิ์จึงคิดเรื่องจดลิขสิทธิ์พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อร้านที่ยังคงคำว่า “เจริญ” เอาไว้ เพราะนี่คือชื่อของพ่อ ส่วน “ท็อป” มีความหมายว่า สูงสุด บนสุด นำชุดคำมาประกอบกันด้วยไอเดียง่ายๆ แต่ความหมายลึกซึ้ง ถ้าจะทำต่อจากพ่อก็ต้องทำให้ดีกว่า เก่งกว่า จึงเป็นที่มาของชื่อ “ท็อปเจริญ”
“ผมไปจดลิขสิทธิ์ได้แต่ยังไม่กล้าเปลี่ยนชื่อ ไปประชุมกับลูกน้องทั่วประเทศเป็นพันๆ คนเขาบอกว่า ผู้จัดการอย่าเปลี่ยนเลย ร้านเราก็ดังแล้วจะเปลี่ยนทำไม ผมก็มานั่งคิดว่าหรือไม่เปลี่ยนดี เฉพาะค่าเปลี่ยนป้ายก็เกือบสิบล้านบาทแล้ว มี 300 สาขาก็ต้องเปลี่ยนหมด แต่สุดท้ายตัดสินใจกล้าฟันธงเปลี่ยนเป็นแว่นท็อปเจริญทั้งประเทศ หลังจากนั้นผมให้พนักงานเดินชูป้ายตามตลาด 1 เดือนเต็ม ชูป้ายว่า “เจริญการแว่นคือแว่นท็อปเจริญ” ผ่านไป 1 เดือน ลูกค้าจำได้แล้ว กลับมาขายดีเหมือนเดิม สบายใจแล้วชื่อเรามีลิขสิทธิ์”
เปลี่ยนชื่อร้านแล้ว ติดตลาดจนคนจำได้แล้ว ถึงคราวบุกกรุงเทพฯ เต็มตัว แค่ร้านสวยทันสมัยไม่พอ ต้องแต่งตัวใหม่นำร้านขึ้นไปอยู่บนจอแก้วให้คนเห็นทั้งประเทศ ในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต สื่อที่ดีที่สุด คือ “โฆษณาทีวี” มาพร้อมกับเดิมพันเรื่องการขยายเพิ่มอีก 500 สาขา เขาให้คำมั่นกับพนักงานว่า ถ้าแว่นท็อปเจริญไปถึง 500 สาขา จะทำโฆษณาลงทีวีทันที “นพศักดิ์” รับหน้าที่ผู้กำกับ เขียนบท ครีเอทีฟด้วยตัวเอง กลายเป็นร้านแว่นร้านแรกที่มีโฆษณาบทสื่อโทรทัศน์ จากนั้นจึงตัดสินใจเปิดสาขาแรกในกรุงเทพฯ ต่อเนื่อง
แว่นตา PERCY เฮ้าส์แบรนด์ในเครือท็อปเจริญ
📌 เปิด “แว่นบิวตี้ฟูล” เพื่อกันซีนคู่แข่ง ปิดร้านเพราะกินแชร์ 40% ใครก็ตามไม่ทัน
ยุทธการณ์งัดข้อคู่แข่งไม่ได้โฟกัสที่ “ท็อปเจริญ” เท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า “แว่นบิวตี้ฟูล” ก็มี “นพศักดิ์” เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งด้วย เขามองว่า สมัยก่อนทุกอย่างต้องมี 2 แบรนด์ มีโค้กต้องมีเป๊ปซี่ มีฟูจิต้องมีโกดัก ถ้าอย่างนั้นมีท็อปเจริญแล้วก็ต้องมีแว่นบิวตี้ฟูลด้วย ทุกพื้นที่ที่ท็อปเจริญไปจะมี “แว่นบิวตี้ฟูล” ขนาบข้างเสมอ โดยที่หลายคนไม่เคยรู้เลยว่า ทั้ง 2 แห่ง มีเจ้าของคนเดียวกัน
ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการสกัดกั้นคู่แข่ง ไม่เข้าท็อปเจริญก็ต้องเข้าอีกร้าน หรือถ้ามีคู่แข่งมาเปิดละแวกเดียวกันก็ต้องเพิ่มกลยุทธ์เพื่อซื้อใจลูกค้ามากขึ้น เช่น ให้พนักงานไปยืนเรียก-ต้อนรับหน้าร้าน อีกทั้งการเปิดหน้าร้านเยอะขึ้นก็ทำให้เกิด “Economy of scale” นพศักดิ์บอกว่า ตั้งแต่เปิดร้านมาเขาไม่เคยรับซื้อสินค้าจากตัวแทนในประเทศไทย สั่งจากผู้ผลิตที่ประเทศต้นทางโดยตรง รวมถึงไม่ได้เลือกอยู่กับค่ายใดค่ายหนึ่ง ทั้งท็อปเจริญและแว่นบิวตี้ฟูลมีให้เลือกครบทุกแบรนด์ชั้นนำ
ผ่านไปสักพักก็เริ่มทำ “House Brand” เป็นของตัวเอง กรอบแว่น “Percy” หรือ คอนแทคเลนส์ “Duna” ล้วนเป็นสินค้าในเครือท็อปเจริญ จนถึงตอนนี้ร้านแว่นบิวตี้ฟูลก็มีอันต้องปิดตัวลงไปแล้ว สาขาเดิมถูกฉาบทับด้วยแบรนด์ท็อปเจริญทุกแห่ง โดยเหตุผลที่เหลือเพียงร้านเดียวก็เป็นเพราะตอนนี้ไม่มีคู่แข่งเจ้าไหนวิ่งตามท็อปเจริญทันแล้ว ทั้งในแง่ผลประกอบการและจำนวนสาขาที่ครอบคลุมทั้งประเทศ
“แต่ก่อนลูกค้าเข้าร้านผมเสิร์ฟน้ำส้มกับกาแฟ และมีแจกคูปองกินก๋วยเตี๋ยวด้วย ลูกค้ารอนานก็แจกคูปองให้กินราดหน้าก๋วยเตี๋ยว ลูกค้าก็ชอบมาก พอเขาทานแล้วก็เกรงใจยังไงก็ต้องซื้อแว่นผม ตอนนี้เรามีแชร์ในตลาด 40% กว่า คู่แข่งอันดับสองและสามห่างกันหลายช่วงตัว แสดงว่า ได้แว่นบิวตี้ฟูลมาช่วยกันคู่แข่ง ไม่เดินผ่านท็อปเจริญก็ต้องเดินผ่านบิวตี้ฟูลทำให้ท็อปเจริญเติบโตได้”
ร้านแว่นบิวตี้ฟูล ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว
📌 ไม่ได้มีแต่โชค เจอวิกฤติมาเยอะ แต่ผ่านได้เพราะ “ไม่เอาไข่ใส่ในตะกร้าใบเดียว”
ธุรกิจดำเนินมา 78 ปี จึงผ่านมาแทบทุกยุคตั้งแต่ต้มยำกุ้ง น้ำท่วมใหญ่ มาถึงโควิด-19 ทว่า ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คือช่วงที่ร้านแว่นท็อปเจริญเติบโตมากที่สุด เพราะธุรกิจเจ๊งเยอะ ตึกแถวจึงว่างและมาพร้อมกับราคาถูก ส่วนน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 “นพศักดิ์” ยอมรับว่า เป็นช่วงที่เจอหนักเหมือนกัน หน้าร้าน 500-600 สาขา น้ำท่วมขังหลายเดือน หรือตอนสึนามิปี 2547 ร้านที่ภูเก็ตก็พังชนิดที่ว่ามีเรือจอดอยู่ในร้านกันเลยทีเดียว
กระทั่งวิกฤติโรคระบาดใหญ่ที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ ร้านแว่นท็อปเจริญในห้างต้องปิดลงตามมาตรการของรัฐบาล แต่เป็นเพราะร้านแว่นไม่ได้มีแค่ในห้างเท่านั้น “นพศักดิ์” บอกว่า สาขาอื่นๆ ที่อยู่ตามตึกแถว ปั๊มน้ำมัน มหาวิทยาลัย เหล่านี้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า กลายเป็นว่า ในช่วงเวลาวิกฤติของภาคธุรกิจ กลับเป็นช่วงที่ “แว่นท็อปเจริญ” คว้าโอกาสไว้ได้ ด้วยหลักการ “ไม่เอาไข่ใส่ในตะกร้าใบเดียวกัน”
“ช่วงโควิด-19 ยอดขายผมไม่เคยตก พนักงานไม่เคยออกแม้แต่คนเดียว แล้วให้พนักงาน 8 พันกว่าคนช่วยกันไลฟ์สด ไม่น่าเชื่อตอนนั้นแว่นขายดีมาก ขายแบบขายตรงเลย อันดับแรกก็ขายเพื่อนก่อน ขายอย่างน้อยให้เพื่อนรอบตัวสิบคน พนักงานมี 8 พันคน ก็ขายได้ 8 แสนอันแล้ว แว่นเป็นปัจจัยสี่ ยืมมาใส่กันไม่ได้ ถามคนอื่นเหมือนถามเวลาบนนาฬิกาก็ไม่ได้ ต่อให้เศรษฐกิจแย่แค่ไหนคนก็ต้องใส่แว่น”
นอกจากนี้ ทายาทรุ่นที่ 2 ร้านแว่นท็อปเจริญยังบอกด้วยว่า เคล็ดวิชาที่ทำให้ผ่านมาทุกวิกฤติได้เป็นเพราะตนใช้เงินสดทำธุรกิจเท่านั้น ตั้งแต่เปิดร้านมาไม่เคยกู้แบงก์แม้แต่ครั้งเดียว ถือคติ “นกน้อยทำรังแต่พอตัว” บอกว่า กู้แบงก์แล้วนอนไม่หลับ เพราะดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน อนาคตก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดความเสี่ยงขึ้น ภัยพิบัติ หรือสงครามขึ้นอีกหรือไม่ มีแค่ไหนลงทุนแค่นั้น ซื้อมาแพงก็ขายแพง ซื้อมาถูกก็ขายถูก ไม่มีเงินก็ยังไม่ต้องลงทุน
1
📌 ร้านแว่นไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ ขายวันละ 2-3 อันก็อยู่ได้แล้ว
เติบโตทั่วประเทศกว่า 2,000 สาขา ขณะเดียวกันก็ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดถึงทราฟิกในร้านที่ดูบางตา สวนทางกับจำนวนสาขาและรายได้หลักพันล้านทุกปี เรื่องนี้ “นพศักดิ์” อธิบายไว้ว่า เพราะแว่นตาเป็นสินค้าที่มาร์จิ้นสูง กำไรดี ที่สำคัญแว่นตาแทบจะเป็นสินค้าอย่างเดียวในโลกที่เช็กราคาไม่ได้ จึงไม่แปลกที่จะเห็นคนเข้าร้านไม่มากแต่ผลประกอบการเป็นบวกตลอด
มากไปกว่านั้น การเอาธุรกิจร้านแว่นไปเทียบกับร้านค้าประเภทอื่นๆ ก็คงจะดูผิดฝาผิดตัวอยู่สักหน่อย ร้านสะดวกซื้อขายได้ปริมาณเยอะแต่ราคาต่อหน่วยไม่ได้สูงเท่ากับแว่นตา ส่วนร้านแว่นขายเพียงวันละ 1-2 อันก็อยู่ได้แล้ว ราคาตัดแว่นพร้อมเลนส์ตีสัก 5,000 บาท หากมีคนเข้าร้าน 3 คน วันนั้นร้านก็มีรายได้ 15,000 บาท
“เราต้องทำธุรกิจที่มาร์จิ้นสูงจะได้บริหารงานง่าย และอย่างที่คือสองเช็กราคาไม่ได้ แว่นเปรียบเสมือนยารักษาโรค ปัจจุบันเด็กเกิดใหม่ 5 คน ถ้าไปวัดสายตาต้องใส่แว่นทั้ง 5 คน เพราะเล่นแท็บเล็ต-โทรศัพท์มือถือ ถึงตอนเด็กไม่ใส่อย่างไรอายุ 40 ก็ต้องใส่ แต่ร้านแว่นจะให้คนเต็มร้านแบบร้านสะดวกซื้อเป็นไปไม่ได้ แว่นตาตัดครั้งหนึ่งอยู่ได้ 1-2 ปี แล้วเคยเห็นร้านแว่นร้านไหนคนเต็มร้านมั้ย ไม่มี”
นอกจากขายดีในกลุ่มคนไทย “แว่นท็อปเจริญ” ยังเน้นเปิดย่านท่องเที่ยว เฉพาะภูเก็ตมีทั้งหมด 50 สาขา พัทยา 40 สาขา และย่านสุขุมวิท กรุงเทพฯ ราวๆ 10-20 สาขา “นพศักดิ์” บอกว่า ต่างชาติที่มาเมืองไทยจะมีไกด์บุ๊กลิสต์สิ่งที่ต้องทำหลักๆ คือตัดสูท ทำฟัน และตัดแว่น เพราะมีราคาถูกกว่าประเทศบ้านเกิด 3-4 เท่า
แว่นหนึ่งอันตัดที่ท็อปเจริญราคา 5,000 บาท ขณะที่ยุโรปคิดราคาทุกกระเบียดนิ้วตั้งแต่ค่าวัดสายตา ค่าเจียระไนเลนส์ ค่าประกอบเลนส์แยกกันต่างหาก เข้าไปวัดสายตาอย่างเดียวก็เสียเงินแล้ว ขณะที่เมืองไทยวัดสายตาให้ฟรีๆ
📌 มีในไทย 2,000 สาขา อยากเป็น “Local Brand”
ปัจจุบันธุรกิจในเครือแว่นท็อปเจริญไม่ได้มีแค่ร้านตัดแว่นเท่านั้น แต่ยังมี “ศูนย์รักษาตา ท็อปจักษุ” ครอบคลุมรักษาดวงตา โรคต้อกระจก-ต้อเนื้อ และยังเป็นศูนย์เลสิค รวมถึงยังมี “แว่นตาเอไอ” ภายใต้แบรนด์ท็อปเจริญที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้
ถัดจากในประเทศ “นพศักดิ์” บอกว่า ตนวางแผนคิดเรื่องขยายไปยังประเทศต่างๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปักหมุดเป็น “Local Brand” เบื้องต้นเข้าไปทำการตลาดและเปิดสาขาในลาว กัมพูชา และมาเลเซีย มองว่า การเป็น Global Brand อาจเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป แต่ตำแหน่งที่ 1 ในอาเซียนอาจจะเป็นฝันที่ใกล้ความจริงมากกว่า
โฆษณา