2 เม.ย. เวลา 06:08 • ข่าว

สธ.ยันสร้างอาคาร รพ.สงขลาแข็งแรง คุมคุณภาพ

หลังพบผู้รับเหมาเดียวกับตึก สตง.ถล่ม
จากกรณีการก่สร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ย่านบางซื่อถล่มลงมาหลังได้รับผลกระทบแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา
อาคารดังกล่าวก่อสร้างโดยผู้รับเหมาคือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด ทำให้มีกระแสความกังวลเรื่องความปลอดภัยของการก่อสร้างโดยบริษัทดังกล่าว
หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ จ.สงขลา โดยพบว่า การก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ รพ.สงขลา มีการว่าจ้างบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด เช่นกัน ทำให้เกิดข้อวิตกกังวลถึงอาคารผู้ป่วยนอก ของรพ.สงขลา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 12 ระบุว่า เรื่องนี้ สธ.และ รพ.สงขลาไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมาย นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา และ นพ.รัตนพล ล้อประเสริฐกุล ผอ.รพ.สงขลา ประสานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา เข้าตรวจสอบการก่อสร้างอาคารบริเวณหน้างาน เบื้องต้นไม่พบความผิดปกติจากเหตุแผ่นดินไหว
ส่วนการก่อสร้าง รพ.สงขลามีกระบวนการควบคุมตรวจสอบที่รัดกุม คณะกรรมการควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับงาน มีทั้ง วิศวกรของโรงพยาบาล โยธาธิการจังหวัด และนายช่างจากกองแบบกระทรวงสาธารณสุข ส่วนวัสุก่อสร้าง เช่น เหล็กและปูน ได้กำหนดให้มีมาตรฐาน มอก. และมีการตรวจสอบคุณภาพก่อนใช้โดยสำนักงานโยธาธิการจังหวัด
จากการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก พบว่ามีหลากหลายยี่ห้อ หลายขนาด แต่ทั้งหมดผ่านการทดสอบคุณภาพครบถ้วนตามมาตรฐาน เช่น ขนาด น้ำหนักเฉลี่ย ความต้านทานแรงดึงต่ำสุด-สูงสุด อัตราความยึดเฉลี่ย เป็นต้น ส่วนปูนก็มีการเก็บตัวอย่างมาทดสอบตามระยะเวลาเพื่อดูคุณภาพเช่นกัน
"ขอให้ประชาชนวางใจว่า กระบวนการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกหลังนี้มีการกำกับดูแลตามมาตรฐาน กระบวนการว่าจ้างและการตรวจรับงานเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบราชการ อย่างไรก็ตาม พบว่าการก่อสร้างมีความล่าช้าจากการแก้ไขแบบ ซึ่งจะได้ติดตามเร่งรัดให้การก่อสร้างอาคารเป็นไปตามกรอบระยะเวลาโดยยึดความปลอดภัยเป็นหลัก และไม่ให้เกิดปัญหาการทิ้งงาน" นพ.อภิชาตกล่าว
สำหรับการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ รพ.สงขลา เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) จำนวน 9 ชั้น โครงสร้างออกแบบให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ พื้นที่ใช้สอย 21,652 ตารางเมตร ใช้งบประมาณ 426.9 ล้านบาท จัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
ออกแบบโดยกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งเคยนำแบบแปลนนี้ไปก่อสร้างอาคารที่โรงพยาบาลปัตตานีมาก่อนแล้ว สัญญาเริ่มวันที่ 29 สิงหาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 45.18%
นพ.รัตนพล ล้อประเสริฐ ผอ.รพ.สงขลา ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อกัลวลของบริษัทรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวว่า ถ้าเขาจดทะเบียนถูกต้องเราก็ต้องเอาตามระเบียบนั้น ตอนนี้เรากังวลอย่างเดียวว่าบริษัทดังกล่าว ถ้าได้รับผลกระทบมากจนถึงขั้นยกเลิกกิจการก็จะมีผลกระทบ เสี่ยงเกิดการทิ้งงาน กระบวนการได้อาคารเพื่อให้บริการผู้ป่วยก็จะล่าช้าตามไปด้วย
เมื่อถามว่า มีการพูดคุยกันเพื่อหาแผนรองรับหรือไม่ ผอ.รพ.สงขลา กล่าวว่า เราคงแยกไม่ได้ ต้องดูว่าบริษัทเขาจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องสภาพคล่อง แต่เห็นว่าเขาเป็นบริษัทใหญ่ ไม่น่าจะกระทบกับการสร้างอาคารของ รพ.สงขลามาก ยังต้องรอดู
ถามย้ำว่า ขณะนี้สังคมจับจ้องหน่วยงานที่ว่าจ้างบริษัทดังกล่าวในการก่อสร้างสิ่งต่างๆ เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย นพ.รัตนพล กล่าวว่า ใช่ เราเข้าใจ ซึ่งเราดูแล้ว และมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบ พบว่าการก่อสร้างเป็นไปได้ด้วยดี โครงสร้างมีความแข็งแรง
โฆษณา