เมื่อวาน เวลา 06:14 • ข่าวรอบโลก

In Focus: เมียนมากับหายนะจากแผ่นดินไหว และการซ้ำเติมจากการโจมตีที่ยังไม่สิ้นสุด

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้นจนเกือบแตะ 4,000 รายแล้ว ซึ่ง 2,414 รายในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้เสียชีวิตในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางของแผ่นดินไหว ขณะที่มีผู้บาดเจ็บอีก 4,575 ราย และสูญหาย 705 ราย สำนักข่าว Democratic Voice of Myanmar (DVB) รายงานว่า
ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 1 ศตวรรษของเมียนมาคิดเป็นสัดส่วนกว่า 64.3% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในประเทศ ตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นหากหน่วยกู้ภัยสามารถเข้าถึงอาคารที่พังถล่มลงมาและพื้นที่ที่ถูกตัดขาดได้มากกว่านี้
หลังเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานการสั่นสะเทือนมากกว่า 200 ครั้งในภาคกลางของเมียนมา พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากเหตุภัยพิบัติและถูกประกาศให้เป็นเขตฉุกเฉินมีทั้งหมด 6 เขต ได้แก่ สะกาย ซึ่งเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหว รวมถึงเมืองมัณฑะเลย์ มะเกว พะโค กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา และรัฐฉานตอนใต้
ขณะที่กองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งสู้รบกับกองทัพเมียนมาในยามปกติ แต่เมื่อยามประสบภัย กองกำลังเหล่านี้ต่างยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ที่ออกแถลงการณ์ร่วมให้คำมั่นช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
กองทัพว้า (UWSA) ประกาศความช่วยเหลือ 2 พันล้านจ๊าต (450,000 ดอลลาร์) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และองค์กรอิสรภาพกะฉิ่น (KIO) ก็ให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือ แต่ความช่วยเหลือเหล่านี้ล้วนถูกปฏิเสธจากรัฐบาลทหารเมียนมา
กองทัพเมียนมาไม่วายก่อเหตุโจมตีพื้นที่ประสบภัย
ขณะที่ประชาชนต้องตกระกำลำบากจากภัยธรรมชาติ รัฐบาลทหารเมียนมายังปฏิบัติการโจมตีทางอากาศที่เมืองฮปรูโซในรัฐกะเหรี่ยงและเมืองบาโมในรัฐคะฉิ่น รวมทั้งวางเพลิงบ้านเรือนในหลายหมู่บ้านเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (30 มี.ค.) และรุ่งขึ้นในวันจันทร์ก็ยังโจมตีทางอากาศที่มัณฑะเลย์และมะเกว ส่งผลให้ประชาชนรวมถึงเด็กเสียชีวิตกว่า 40 ราย
ชาวเมืองสะกายรายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าว DVB ว่า พวกเขาไม่สามารถฝังร่างผู้เสียชีวิตกว่า 200 รายจากภัยพิบัติครั้งนี้ เนื่องจากมัสยิดสามแห่ง รวมถึงมโยดอว์ มโยมา และมัสยิดจาเม พังทลายลงจากแรงแผ่นดินไหว นักศึกษารายหนึ่งกล่าวกับบีบีซีว่า ร่างผู้เสียชีวิตในเมืองมัณฑะเลย์ถูกกองเรียงซ้อนกันไว้แล้วเผา
ประชาชนจำนวนมากอยู่กันอย่างยากลำบาก ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเพราะต้องเผชิญกับเหตุอาฟเตอร์ช็อกและความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาไม่เว้นแต่ละวัน ขณะที่เด็ก ๆ ได้รับความบอบช้ำทางจิตใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนไม่กล้ากลับเข้าบ้าน ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะนอนข้างถนนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
แต่ปฏิบัติการช่วยเหลือยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายกินวงกว้างมหาศาล สวนทางกับปัจจัยช่วยเหลือที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้การจัดการและฟื้นฟูความเสียหายเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ ฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเปิดทางให้หน่วยกู้ภัยเข้าไปยังพื้นที่ หลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ส่งรายชื่ออาสาสมัครและสิ่งของก่อนที่จะนำเข้ามาในเมียนมา ขั้นตอนในการเข้าประเทศจึงยิ่งล่าช้า
นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า ที่เมืองย่างกุ้ง รัฐบาลยังคงเดินหน้าสร้างศาลาเพื่อเตรียมจัดงานสงกรานต์ในวันที่ 13-16 เม.ย. แม้ว่าเมียนมาจะอยู่ในระหว่างการไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวไปจนถึงวันที่ 6 เม.ย. ก็ตาม
ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่อนุญาตให้สื่อต่างประเทศเข้าไปทำข่าว ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร แจงว่า โรงแรมหลายแห่งได้รับความเสียหาย อีกทั้งหลายพื้นที่ไม่มีน้ำและไฟฟ้าใช้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ยุ่งเกินกว่าที่จะมาดูแลหรือช่วยเหลือนักข่าวได้
นานาประเทศแห่ช่วยเหลือ
ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา กล่าวกับ DVB ว่า นี่เป็นหายนะครั้งใหญ่ มีหลายประเทศให้คำมั่นเรื่องการสนับสนุนในภาวะฉุกเฉิน มีรถบรรทุกปัจจัยพร้อมเวชภัณฑ์เดินทางมา รวมทั้งจากสหประชาชาติ
เป้าหมายในเมียนมาคือการช่วยชีวิต ไม่ใช่เอาชีวิต การโจมตีของกองทัพเมียนมาจะต้องยุติลง รวมทั้งการเปิดทางให้กับปฏิบัติการช่วยเหลือ เยาวชนไม่ควรจะต้องกังวลว่าจะถูกจับกุมตัวหรือเกณฑ์ทหาร องค์กรระหว่างประเทศจะต้องยกระดับการให้ความช่วยเหลือในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ทอม แอนดรูวส์ โพสต์ผ่านเอ็กซ์ หรือทวิตเตอร์เดิม
จีน รัสเซีย อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และมาเลเซียได้ส่งทีมกู้ภัยไปยังเมียนมาหลังเหตุแผ่นดินไหว หลายประเทศพร้อมที่จะช่วยเหลือ
โดยออสเตรเลียให้คำมั่นช่วยเหลือวงเงิน 1.2 ล้านดอลลาร์ให้กับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) อังกฤษประกาศความช่วยเหลือ 13 ล้านดอลลาร์ สหภาพยุโรปจะให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน 2.7 ล้านดอลลาร์ ทีมประเมินขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) คาดว่าจะเดินทางมาถึงเมียนมาหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะให้ความช่วยเหลือ
แต่องค์กรด้านความช่วยเหลือได้ออกมาเตือนถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาที่มีแนวโน้มว่าจะเลวร้ายมากยิ่งขึ้น เพราะโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาก็มีเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิใกล้แตะ 40 องศา หน่วยงานวิจัยด้านธรณีวิทยาของสหรัฐคาดการณ์ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะสูงกว่า 1 หมื่นราย
ทั้งนี้ ยังไม่มีความแน่นอนว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันนี้ไปจนถึงวันที่ 4 เม.ย. หรือไม่ ภายหลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยอาจจะส่งผู้แทนร่วมประชุมออนไลน์แทน
BIMSTEC ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 จากความริเริ่มของประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย โดยมีวัตประสงค์เพื่อเชื่อมโยงประเทศรอบอ่าวเบงกอล ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และความร่วมมือในด้านคมนาคม พลังงาน และการต่อต้านการก่อการร้าย
คอลัมน์ In Focus ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยในเมียนมา และหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็ววัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์
โฆษณา