เมื่อวาน เวลา 07:55 • ประวัติศาสตร์

ใช้แมวสีอะไรก็ได้จับหนู หรือ ใช้แมวเป็นSoft Power ?

🐈‍⬛🐈“ไม่สำคัญว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอแค่จับหนูได้ มันก็เป็นแมวที่ดี” (不管白猫黑猫,能抓老鼠的就是好猫。四个现代化) ประโยคข้างต้นนี้กล่าวโดย เติ้ง เสี่ยวผิง ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของสาธารณประชาชนจีนซึ่งดำรงตำแหน่งในระหว่างปี พ.ศ. 2524 – 2532 เติ้ง เสี่ยวผิง ได้วางรากฐานระบบเศรษฐกิจของจีน จากระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ได้รับแนวคิดจากมาร์กซิสม์ (Marxism) โดยปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน
เติ้ง เสี่ยวผิง (邓小平) ได้ดำเนินนโยบายสี่ทันสมัยหรือความทันสมัยสี่ประการ (四个现代化) ได้แก่ 1. เกษตรกรรมทันสมัย 2. อุตสาหกรรมทันสมัย 3. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทันสมัย และ 4. การทหารและการป้องกันประเทศทันสมัย การสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ การเปิดประเทศรับการลงทุน และรับแนวทางการใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ภาพ : รูปปั้น "แมวขาวและแมวดำ" ทางด้านทิศใต้ของ สะพานปาอี้ ในเมืองหนานชางมณฑลเจียงซีเพื่อรำลึกถึงการปฏิรูปและการเปิดกว้างของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า "ไม่สำคัญว่าแมวจะขาวหรือดำ" ตราบใดที่จับหนูได้ มันก็เป็นแมวที่ดี" ที่มา : https://zh.wikipedia.org/wiki/File:Yuxi_-_downtown_-_P1350797.JPG
เป้าหมายของเติ้งคือต้องการให้ประเทศจีน มีสังคมที่เจริญรุ่งเรืองปานกลางหรือสังคมเสี่ยวคัง (小康社会) มุ่งหมายเพื่อให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น สังคมที่คนส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางและเป็นชนชั้นกลาง และมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในจีนแผ่นดินใหญ่มีฐานะดี
นโยบายความทันสมัยสี่ประการถือได้ว่าเป็นรากฐานการดำเนินการทั้งด้านการทหาร และด้านเศรษฐกิจ การเปิดประเทศหลังจากการปกครองระบบคอมมิวนิสต์เข้มข้น ส่งผลให้ปัจจุบันในปี พ.ศ. 2567 จีนมีดัชนีความแข็งแกร่งทางทหารเป็นอันดับ 3 ของโลก และขนาดเศรษฐกิจหรือจีดีพีเป็นอันดับที่ 2 ของโลก
“ทฤษฎีแมวเหลืองแมวดำ”นั้น เติ้งได้อธิบายมุมมองที่สำคัญของทฤษฎีนี้ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2505 ที่ประชุมสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อมาเติ้งเดินทางไปเยี่ยมเมืองอู่ชาง เซินเจิ้น และจูไห่ ทางตอนใต้ในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2535 คำพูดดังกล่าวกลายเป็นคำพูดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่ผู้คน
โดยเป็นปรัชญาเศรษฐศาสตร์เชิงปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม การปฏิรูปเปิดประเทศท่ามกลางคำถามของชาวจีนถึงระบบการปกครอง ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นแบบสังคมนิยมหรือทุนนิยมหรือเป็นรูปแบบใดก็ตามแต่ ขอให้นำพาประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนให้ได้
“ทฤษฎีแมวเหลืองแมวดำ”ของเติ้ง เสี่ยวผิง ดังกล่าวที่นำพฤติกรรมการชอบล่าหนูตามสัญชาตญาณมาเปรียบเทียบมักได้รับหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อในการพูดคุยถกเถียงและกล่าวถึงอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน แท้จริงแล้ว“ทฤษฎีแมวเหลืองแมวดำ”เป็นสุภาษิตดั้งเดิมในชนบทเสฉวนต่อมามีการเผยแพร่จนกลายเป็น "แมวขาวและแมวดำ"
ความสัมพันธ์ระหว่างแมวกับคนจีนและวัฒนธรรมนี้ย้อนกลับไปได้ถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ประเทศจีนเป็นประเทศเกษตรกรรมมายาวนาน สำหรับเกษตรกร แมวช่วยกำจัดสัตว์มีพิษ และควบคุมศัตรูพืชที่อาจทำลายพืชผลของพวกเขาได้ หนังสือพิธีกรรม (禮記) ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมารยาท การบริหาร และพิธีกรรมในราชวงศ์โจว (ราว 1,046 - 256 ปีก่อนคริสตกาล) กล่าวถึงจักรพรรดิที่ถวายเครื่องบูชาแมวในตอนสิ้นปีของทุกปีเพื่อแสดงความขอบคุณที่แมวปกป้องทุ่งนาของตน
ชาวจีนมีพิธีเซ่นไหว้แมวในสมัยราชวงศ์ถัง ใน 12 ปีนักษัตรที่เราพบว่าไม่มีแมวนั้นที่ไม่มีแมวเพราะว่ามีตำนานเมื่อเง็กเซียนฮ่องเต้ได้จัดการประชุมสัตว์ที่ต้องข้ามแม่น้ำไป แมวกับหนูซึ่งเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำไม่เก่ง แมวกับหนู(ชวด)นั้นจะกระโดดขึ้นหลังวัว(ฉลู)มา แต่แมวถูกหนูผลักตกจากหลังวัวหล่นน้ำไปจึงทำให้แมวไม่ได้เป็นนักษัตร
แต่ฝ่ายนักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่า เป็นเพราะแมวเป็นสัตว์ในทะเลทรายมาจากอียิปต์ ชาวจีนโบราณดั้งเดิมจึงไม่เคยเห็นและไม่รู้จักแมวมาก่อน จึงไม่ได้นำสัตว์ชนิดนี้มาตั้งเป็นชื่อปีอย่างสัตว์อื่นๆ
ตำราแมว เป็นสมุดข่อยที่เชื่อว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยา
แต่สำหรับมุมมองของชาวสยามแล้ว สีของแมวมีผลต่อการเลือกเลี้ยงแมวมาก ดังปรากฎในสมุดข่อยโบราณสมัยอยุธยาได้บันทึกรายละเอียดของแมวสีต่างๆ ทั้งแมวมงคลและแมวกาลกิณี ชาวสยามมีความเชื่อว่า วิฬาร์ (แมว) เป็นสัตว์มงคล แสดงถึงความโชคดี และยังเชื่อว่าแมวสามารถขับไล่ภูตผีปิศาจและสิ่งชั่วร้าย เพราะแมวมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ในเวลากลางคืน หรือความเชื่อที่ว่าแมวมีเก้าชีวิต
บันทึกของหม่าฮวน (ต้นพุทธศตวรรษที่ 20) นั้นกล่าวถึงชาวอยุธยาที่นิยมเลี้ยงแมวมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ประโยชน์และความสามารถในการจับหนูทำให้อยุธยาเพิ่มแมวเป็นสัตว์มงคล ดังปรากฏในลายมงคล 108 ของรอยพระพุทธบาทวัดภูเขาทอง
ภาพ : แมวสายพันธุ์วิเชียรมาศ ที่มา : Facebook ให้กาลเวลาเล่าเรื่องสยามแต่ปางก่อน
นอกจากนี้แมวไทยยังเคยเป็น “ซอฟต์ พาวเวอร์” “(Soft Power)” อีกด้วย โดยในปี ค.ศ. 1884 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแมวไทยพันธุ์วิเชียรมาศให้ นายเอ็ดเวิร์ด เบลนโคว์ กูลด์ (Edward Blencowe Gould) กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ เมื่อกลับไปยังประเทศอังกฤษแมวได้ถูกนำไปประกวดจนได้รางวัลแมวที่ดีที่สุดของทุกสายพันธุ์ (Best of Any Variety) ในปี ค.ศ. 1885 ทำให้แมวสยามเป็นที่รู้จักในนาม “Siamese cat”
ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานแมววิเชียรมาศให้กับประเทศต่างๆ ทำให้แมวกลายเป็นทูตทางวัฒนธรรม แมวสยามและประเทศสยามมีชื่อเสียงไปทั่วโลก
แมวพันธุ์วิเชียรมาศยังถูกนำมาใช้ในพิธีกรรม ในจดหมายเหตุระบุว่างานประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อถึงพิธีสมโภชพระมหามณเฑียรซึ่งถือเป็นการขึ้นบ้านใหม่ขององค์พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ มีการใช้แมวสายพันธุ์วิเชียร์มาศประกอบพิธีด้วย ซึ่งความหมายของแมวในพิธีคือการอยู่บ้านใหม่โดยปกติสุขไม่โยกย้าย ให้อยู่เหย้าเฝ้าเรือนเหมือนแมวคราว
ภาพ : พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร รัชกาลที่ 7 ท่านหญิงสุริยนันทนา (สุริยง) สุจริตกุล ทรงอุ้มวิฬาร์ ที่มา :  https://readthecloud.co/cat-in-thai-history/
ภาพ  : ภาพคนจีนย้อมแมวใส่กรงมาขายจากจิตรกรรมวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ การย้อมแมวขายมีที่มาจากคนไทยสมัยก่อนนิยมเลี้ยงแมวกันมาก จึงมักจะหาแมวที่มีลักษณะดีตามสมุดข่อยโบราณบันทึกสีแมวมงคลมาเลี้ยงโดยถือว่าให้คุณ พ่อค้าหัวใสจึงใช้วิธีย้อมแมวให้มีสีที่เป็นมงคลมาขาย ที่มา : หนังสือ สยามวิฬาร์&ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว ผู้แต่ง กำพล จำปาพันธุ์
การนำแมววิเชียรมาศ มาปรับแต่เรื่องราวสร้างภาพลักษณ์ให้ชาวสยาม ปรากฏในการ์ตูนดิสนีย์ เรื่อง ทรามวัยกับไอ้ตูบ พ.ศ. 2498 (Lady and the Tramp) ได้ทำเรื่องราวการ์ตูนล้อเลียนแมวสยาม 2 ตัว ซึ่งก็คือแมวพันธุ์วิเชียรมาศรับบทเป็นตัวร้าย ทำความเสียหายภายในบ้าน แต่สุดท้า เมื่อถูกจับได้แมวแสร้งว่าถูกรังแก
เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้ประกาศเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น แต่เมื่อจบสงคราม ประเทศไทยชี้แจงว่าถูกญี่ปุ่นบังคับให้เข้าร่วม และไม่ได้ถูกประกาศว่าเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม...ถือได้ว่าเป็นการเปรียบเทียบ แบบหยิกแกมหยอกกลายๆ ผ่านการ์ตูนนั่นเอง
อ้างอิง
1. 钟山. (2018). "Full text of the letter by China's Minister of Commerce". Xinhua News Agency. Archived from the original on 2 July 2018. Retrieved 3 July 2018, from http://www.xinhuanet.com/english/2018-07/02/c_137296686.htm
2. 中央文献研究室.(2017). 从"小康"到"全面小康"——邓小平小康社会理论形成和发展述论--邓小平纪念网--人民网". cpc.people.com.cn. Archived from the original on 30 Mar 2015. Retrieved 26 may 2018, from http://cpc.people.com.cn/n/2014/0714/c69113-25279758.html
3. BBC News. (2015). "China's Xi Jinping unveils new 'four comprehensives' slogans". . Retrieved 30 Dec 2023, from https://www.bbc.com/news/world-asia-china-31622571
4. Globalfirepower. (2023). "2023 Military Strength Ranking". Retrieved 25 Apr 2023, from www.globalfirepower.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
5. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF. (2024). “ฐานข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ตุลาคม 2567”. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2567, จาก https://www.imf.org/en/Publications/WEO/weo-database/2024/October/
6. International Monetary Fund. (2024). "WEO Database, October 2024. Report for Selected Countries and Subjects: World, European Union". Retrieved 22 Oct 2024, from https://www.imf.org/en/Publications/WEO/weo-database/2024/October/
7. 信息时报. (2008). 邓小平白猫黑猫论成为改革开放思想理论标志. 凤凰网. Retrieved 6 Nov 2019, from https://news.ifeng.com/history/1/midang/200812/1214_2664_920832.shtml
8 คูดูนาริส, พอล. (2020). ประวัติศาสตร์แมวมอง. (แปลจากเรื่อง A cat s tale โดย ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์) (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ : Sophia ในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด.
9. สมาชิกหมายเลข 3110689. (2019). Cat Lover ประวัติศาสตร์ทาสแมว. สืบค้นเมื่อ ๒๗ ม.ค. ๖๘ เข้าถึงได้จากhttps://pantip.com/topic/38723416
10. Saunders, Rebecca. (2021). ตำนาน แมวกวัก และความเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของแมวในญี่ปุ่น. National Geographic ไทย. สืบค้นเมื่อ ๒๘ ม.ค. ๖๘ เข้าถึงได้จาก https://ngthai.com/cultures/35642/manekineko/
11. นนทพร อยู่มั่งมี. (2022). วิฬาร์ (แมว) และไก่ขาว สิ่งของอันเป็นมงคลในการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร. silpa-mag. สืบค้นเมื่อ ๒๘ ม.ค. ๖๘ เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_32485
12. สุทัศน์ ยกส้าน. (2023). วิวัฒนาการของ "วิฬาร์" (แมว). ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ ๒๘ ม.ค. ๖๘ เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/science/detail/9660000076190
13. กำพล จำปาพันธุ์. (2024). สยามวิฬาร์&ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
14. ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล. (2022). ประวัติศาสตร์แมว : A History of cats. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว.
โฆษณา