แจงชัด!! มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า

พร้อมผลักดันสวัสดิการให้กับอาสา และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้มากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลัก ได้แก่
1.มาตรการทางสังคม บูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งฝ่ายปกครอง กองทัพ ชุมชน และภาคเอกชน
- ส่งเสริมให้ "ชุมชนรอบป่า" ร่วมกันกำหนดแนวทางป้องกันไฟป่า โดยมีการทำ MOU กับชุมชนแล้ว 79 แห่ง ครอบคลุม 889 หมู่บ้าน ให้การป้องกันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และชุมชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์จากป่า และอนุรักษ์ป่าไปพร้อมกันได้ โดยไม่ให้เกิดผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรให้เยาวชนและประชาชน โดยมีการรณรงค์ "เคาะประตูบ้าน" เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจอย่างเข้มข้นในฤดูแล้ง ครอบคลุม 1,834 หมู่บ้าน 480 ตำบล 116 อำเภอ ใน 18 จังหวัด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกันในส่วนนี้ ทั้งหมด 169 ชุด
- มีการจ้างอาสาสมัครป้องกันไฟป่า เดือนละ 9,000 บาท รวม 11,685 คน แบ่งเป็น 3,895 ชุด เฝ้าระวังในทุกพื้นที่จุดเสี่ยง โดยใช้งบปกติ ระยะเวลา 3 เดือน และใช้งบกลางที่ได้มา ระยะเวลา 4 เดือน เพื่อให้ประชาชนมาเป็นแนวร่วมในการป้องกันไฟ แทนที่จะเข้าไปหาของป่า แล้วเป็นผู้จุดไฟเสียเอง ทำให้ประชาชนได้รายได้ในส่วนนี้แทนการเข้าป่า เนื่องจากในปัจจุบัน เกือบ 100% ไฟป่าเกิดจากน้ำมือมนุษย์
2.มาตรการทางกฎหมาย มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งส่วนของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ
- ประชาสัมพันธ์บทลงโทษ และดำเนินการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น
กรณีจุดไฟเผาป่า หรือรุกล้ำพื้นที่ป่า จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพื้นที่มากกว่า 25 ไร่ จำคุก 2-15 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท
กรณีพื้นที่ป่าสงวน จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000–200,000 บาท หากพื้นที่มากกว่า 25 ไร่ จำคุก 4–20 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000–2,000,000 บาท
กรณีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำคุก 4–20 ปี ปรับ 400,000–2,000,000 บาท
- มีการเก็บฐานข้อมูลผู้ลักลอบเผาป่า และข้อมูลพื้นที่เสี่ยง เพื่อง่ายต่อการดูแล ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินคดีไปแล้ว 39 คดี รวมพื้นที่เสียหายประมาณ 2,000 กว่าไร่
- ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการ "ลาดตระเวน แจ้งเบาะแส" ผ่านสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชม.
3.มาตรการยกระดับการทำงานของเจ้าหน้าที่
- ใช้ "เทคโนโลยี" เช่น เฮลิคอปเตอร์ หรือโดรน เพื่อช่วยดับไฟในพื้นที่ ที่ไม่สามารถเดินเท้าเข้าถึงได้
- ตั้ง "ศูนย์สั่งการในทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์" เฝ้าระวังตลอด 24 ชม. และประชาชนสามารถโทรสายด่วน 1362 แจ้งเหตุในตลอด 24 ชม. เช่นกัน
ในส่วนของ "มาตรการเยียวยา" มีการแบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ บาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส ทุพพลภาพ เสียชีวิต และเจ็บป่วยทั่วไป โดยจะมีการจ่ายเงินเยียวยา จากหลายหน่วยงาน ดังนี้
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- มูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล
- มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
- กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า
- สหกรณ์การออมทรัพย์ กรมป่าไม้
เช่น ในกรณีบาดเจ็บ สวัสดิการกรมป่าไม้ 50,000 บาท, กระทรวงทรัพยากรฯ 10,000 บาท และมูลนิธิพิทักษ์ป่าฯ 20,000 บาท โดยเบี้ยเยียวยาเหล่านี้ ได้บันทึกเป็นระเบียบไว้ทั้งหมด ว่าเจ้าหน้าที่จะรับการชดเชยอย่างไรบ้าง ในแต่ละกรณี จากทั้งภาครัฐ เอกชน และมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ผมได้สั่งการปรับปรุงสวัสดิการเพิ่มเติมในเรื่อง "ประกันชีวิต" โดยให้จัดหาเป็นสวัสดิการเพิ่มให้กับเจ้าหน้าที่เหล่านี้ เช่นเดียวกับกรณีเจ้าหน้าที่ผลักดันและดูแลช้างป่า เจ้าหน้าที่และครอบครัวของพวกเขาเหล่านี้ จะต้องได้รับการดูแล และชดเชย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ในการปฏิบัติหน้าที่
รัฐบาล และก.ทรัพยากรฯ ไม่นิ่งนอนใจ เรากำหนดให้เรื่องไฟป่าและหมอกควัน เป็น "นโยบายหลัก" และต้องดำเนินการต่อเนื่องทุกปี พร้อมทั้งดูแลเรื่องสวัสดิการ และเสริมเทคโนโลยี เพิ่มความปลอดภัยในเจ้าหน้าที่อีกด้วย
นอกจากนี้ เรากำลังผลักดัน "ร่าง พรบ.อากาศสะอาด" ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา เพื่อเพิ่มอำนาจในการควบคุมมลพิษทางอากาศอย่างเป็นระบบ
ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เกิดจากฝีมือมนุษย์เกือบทั้งหมด เราต้องทำงานอย่างบูรณาการ ทั้งภาครัฐ ชุมชน และเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน การบังคับใช้กฎหมาย และการดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่อย่างรอบด้าน
#จริงจังทุกหน้าที่ #เต็มที่ทุกบทบาท
.
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
- หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
.
ตอบกระทู้ถาม เรื่อง การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ของ สภาชิกวุฒิสภา ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ณ ห้องประชุมวุฒิสภา
โฆษณา