6 เม.ย. เวลา 01:00 • สัตว์เลี้ยง

Pawdoc station EP.8 : รู้ทันศัตรูตัวจิ๋ว! พยาธิ เห็บ หมัด ป้องกันได้ก่อนสายเกินไป

สัตว์เลี้ยงของเรามีโอกาสเสี่ยงต่อพยาธิภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นพยาธิในทางเดินอาหาร พยาธิหนอนหัวใจ หรือเห็บหมัดที่อาจนำโรคร้ายแรงมาสู่พวกเขา ทำให้การป้องกันที่เหมาะสมเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสุขภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยงและลดความเสี่ยงของโรคที่อาจติดต่อถึงมนุษย์ได้ ในวันนี้เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับการถ่ายพยาธิในสัตว์เลี้ยงกัน ในหัวข้อเรื่อง “รู้ทันศัตรูตัวจิ๋ว! พยาธิ เห็บ หมัด ป้องกันได้ก่อนสายเกินไป”
"พยาธิที่พบในสัตว์เลี้ยง" แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ
1. พยาธิภายใน (Internal Parasites) – ศัตรูเงียบในร่างกาย
พยาธิภายในมักอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร หัวใจ ปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงหากไม่ได้รับการป้องกัน ได้แก่ พยาธิตัวกลม (Roundworms),พยาธิปากขอ (Hookworms),พยาธิแส้ม้า (Whipworms) , พยาธิตัวตืด (Tapeworms) , พยาธิหนอนหัวใจ (Heartworms) และพยาธิในปอด (Lungworms)
2. พยาธิภายนอก (External Parasites) – ศัตรูร้ายที่มองเห็นได้
พยาธิภายนอกมักเกาะอยู่ตามผิวหนังและขนของสัตว์เลี้ยง ทำให้เกิดการระคายเคือง ติดเชื้อ หรือแพร่โรคให้กับสุนัขตัวอื่นๆได้ ได้แก่ เห็บ (Ticks) , หมัด (Fleas) , ไรขี้เรื้อนแห้ง (Sarcoptic Mange) , ไรขี้เรื้อนเปียก (Demodex Mange) และไรหู (Ear Mites)
พยาธิทั้งภายนอกและภายในต่างก็ก่อให้เกิดอันตรายในสัตว์เลี้ยงของเราได้ ทำให้การป้องกันพยาธิจึงมีความสำคัญไม่แพ้กับการฉีดวัคซีนเลย หากสัตว์เลี้ยงของเราได้รับการป้องกันที่ดีก็จะห่างไกลจากโรคร้ายที่ตามมาจากการติดพยาธิได้
"การถ่ายพยาธิ: ควรทำบ่อยแค่ไหน?" (พยาธิภายใน)
1. ลูกสุนัขและลูกแมว
• เริ่มถ่ายพยาธิตั้งแต่อายุ 2 สัปดาห์ และทำต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์จนถึงอายุ 12 สัปดาห์
• หลังจากนั้นควรถ่ายพยาธิทุกเดือนจนอายุครบ 6 เดือน
2. สุนัขและแมวโต
• ควรถ่ายพยาธิทุก 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของสัตว์เลี้ยง เช่น หากออกไปข้างนอกหรือกินอาหารดิบ ควรถ่ายพยาธิบ่อยขึ้น
• พยาธิหัวใจควรป้องกันทุกเดือนตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง
"การป้องกันเห็บหมัด: ควรทำบ่อยแค่ไหน?" (พยาธิภายนอก)
1. วิธีป้องกัน
• ใช้ยาหยดหลัง ยาเม็ด หรือปลอกคอกันเห็บหมัดตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
• อาบน้ำด้วยแชมพูป้องกันเห็บหมัดเป็นครั้งคราว (ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่ใช้)
• ควบคุมสิ่งแวดล้อม เช่น ทำความสะอาดที่นอนของสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
2. ความถี่ในการป้องกัน
• ยาหยดหลัง: ทุก 1 เดือน
• ยากิน: ทุก 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของยา
• ปลอกคอกันเห็บหมัด: มีระยะเวลาคุ้มครอง 6-8 เดือน (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ)
"ทำไมต้องป้องกันอย่างสม่ำเสมอ?" คำตอบคือ
1. พยาธิบางชนิดสามารถแพร่สู่คนได้ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด
2. เห็บและหมัดเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคลายม์ โรคพยาธิเม็ดเลือด
3. ป้องกันดีกว่ารักษา เพราะการติดพยาธิหรือมีเห็บหมัดจำนวนมากอาจส่งผลต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงในระยะยาว
โดยสรุปแล้วการถ่ายพยาธิและการป้องกันเห็บหมัดเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพที่ดี เจ้าของควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อกำหนดโปรแกรมป้องกันที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง เพราะปัจจัยต่างๆ เช่น พื้นที่ที่อาศัย ไลฟ์สไตล์ และสุขภาพของสัตว์เลี้ยง อาจส่งผลต่อความถี่ในการป้องกัน หากป้องกันอย่างถูกต้อง สัตว์เลี้ยงของคุณก็จะมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขในทุกช่วงวัย แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆแต่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะเรื่องเล็กๆเหล่านี้อาจส่งผลใหญ่ในอนาคตได้
Reference
- ESCCAP Guidelines: Worm Control in Dogs and Cats
- Parasite Control – AAHA
- How to Prevent Fleas - Rentokil Thailand
- Worming Protocols in Cats and Dogs - Vet Times
ฝากกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามพวกเรา Pawdoc station ทุกช่องทาง เพื่อที่จะไม่พลาดเนื้อหาใหม่ๆของพวกเรา
ติดตาม Pawdoc station ได้ที่ช่องทางหลัก ดังนี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา