เมื่อวาน เวลา 09:26 • สัตว์เลี้ยง

บทบาทของแมวในสงคราม แม้สงครามจะโหดร้าย...แต่มนุษยชาติยังคงอบอุ่น

สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดถูกใช้ในสงครามมาแล้วในอดีต เนื่องจากสงครามมีการพยายามหาหนทางใหม่ๆ มาใช้ต่อสู้เพื่อให้ฝ่ายตนได้รับชัยชนะ เช่น สุนัขถูกฝึกให้ต่อสู้ตั้งแต่จักรวรรดิโรมัน ช้าง ม้า อูฐ ล่อถูกใช้เพื่อการขนส่งและการเดินทัพก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปัจจุบันนี้เรายังพบว่าประเทศกัมพูชายังใช้หนูค้นหาทุ่นระเบิดบุคคลที่ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมืองหรือยุคเขมรแดง ประเทศจีนยังมีการฝึกใช้นกพิราบนำสาร ประเทศรัสเซียฝึกใช้โลมาและสิงโตทะเลเพื่อสอดแนมหรือโจมตีเรือดำน้ำ
ไม่เว้นแม้กระทั่งแมวถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นสัตว์ตัวเล็ก ขนฟู และมีแนวโน้มที่จะทำอะไรตามใจชอบ ถึงกระนั้นแมวก็ยังถูกใช้ในสงครามด้วย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฎว่ามีการนำแมวมาใช้ในสงครามครั้งแรกเมื่อ 2,500 ปีก่อน หรือ 525 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรเปอร์เซียและอียิปต์ได้ต่อสู้กันในที่เมืองเพลูเซียม (Battle of Pelusium) กษัตริย์แคมไบซิสแห่งเปอร์เซีย (Cambyses II) ต้องการขยายอิทธิพลของอาณาจักรเปอร์เซียไปยังอียิปต์ จึงทำสงครามกับอียิปต์ภายใต้การปกครองของฟาโรห์ซัมติกที่ 3 (Psamtik III)
กษัตริย์แคมไบซิสได้นำกลยุทธ์ทางจิตวิทยามาใช้โดยเห็นจุดอ่อนของชาวอียิปต์ ชาวอียิปต์เคารพสัตว์หลายชนิด สัตว์ที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวอียิปต์นั่นก็คือแมว แมวถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเทพีบาเตส (Bastet) เทวีผู้มีศีรษะเป็นแมว ร่างกายเป็นคน ชาวอียิปต์เชื่อว่าแมวเป็นสัตว์วิเศษที่นำโชคลาภมาสู่ผู้เลี้ยงได้ แมวช่วยขับไล่สัตว์มีพิษ เช่นแมงป่องที่หลบตัวอยู่ตามซอกหลืบในที่พัก งูพิษอาจขดตัวซ่อนอยู่ในเครื่องปั้นดินเผา
ชาวอียิปต์เชื่อว่าการทำร้ายหรือฆ่าแมวถือเป็นบาป มีกฎหมายลงโทษที่มีโทษร้ายแรงถึงตาย ครอบครัวที่ร่ำรวยจะแต่งตัวให้พวกแมวด้วยอัญมณีและให้อาหารที่เหมาะแก่ตระกูล มีแมวกว่า 300,000 ตัวถูกทำมัมมี่เพื่อแสดงความไว้อาลัย และเจ้าของแมวจะโกนขนคิ้วของพวกเขาเพื่อไว้อาลัยให้กับแมวที่ตาย ก่อนทำสงครามกษัตริย์แคมไบซิสสั่งให้ทหารนำสัตว์หลายชนิด รวมถึงแมวมาเก็บไว้และวาดภาพของแมวลงบนโล่
ขณะกองทัพเปอร์เซียเดินทัพไปยังแนวป้องกันของทหารอียิปต์ เมื่อทหารอียิปต์เห็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในแนวหน้า จึงเกิดความกลัวว่าจะพลาดท่าทำร้ายแมวจะเป็นการล่วงเกินเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ กลยุทธ์ทางจิตวิทยานี้ทำให้กองทัพเปอร์เซียได้รับชัยชนะในสงคราม
ในศตวรรษที่ 16 นายทหารปืนใหญ่ชาวยุโรป ชื่อคริสโตเฟอร์ (Christopher of Hapsburg) มีแนวคิดการวางแผนใช้การรบโดยวิธีการใช้พิราบและแมวที่บรรทุกอุปกรณ์ไวไฟเพื่อจุดไฟเผาปล่อยให้แมววิ่งเข้าสู่ปราสาทที่ศัตรูอาศัยอยู่ แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ กองทัพเรือฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 17 และต้นศตวรรษที่ 18 สั่งการให้เรือทุกลำต้องมีแมวเพื่อจับหนูบนเรือ
ภาพ : ตามคำบอกเล่าของโพลีเอนัส (Polyaenus) นักประวัติศาสตร์การทหารได้บันทึกเรื่องราวสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ของอียิปต์ กองทัพชาวเปอร์เซียโจมตีกองทัพของฟาโรห์ ภาพวาดโดย Paul-Marie Lenoir, ๑๘๗๒ ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Pelusium
ภาพ : ภาพจากหนังสือต้นฉบับ "Feuer Buech" ปี ค.ศ. 1584 ของนายทหารปืนใหญ่ชาวยุโรป คริสโตเฟอร์ (Christopher of Hapsburg) เป็นภาพแมวและนกที่ถูกจรวดขับเคลื่อนไปยังปราสาท แสดงแนวคิดการผูกระเบิดไฟไว้ที่แมวเพื่อทำสงครามโจมตีศัตรู
บทบาทของแมวในสงครามเป็นที่รับรู้กันในสาธารณชนอย่างกว้างขวางครั้งแรกในการทำสงครามไครเมียน (Crimean War ระหว่าง ค.ศ. 1853 - 1856) การแข่งขันการขยายอิทธิพลของชาวยุโรป ขณะที่จักรวรรดิออตโตมันเริ่มเสื่อมลง นายทหารชาวอังกฤษชื่อร้อยเอกวิลเลี่ยม แกร์ (Captain William Gair) เก็บแมวในเรือมาเลี้ยงและตั้งชื่อว่า เซวาสโตโพล ทอม (Sevastopol Tom) เจ้าแมวตัวนี้ได้ไล่ตามหนูจนทำให้ทหารอังกฤษตามไปเจอที่กักเก็บเสบียงของทหารรัสเซีย ทำให้ทหารอังกฤษรอดชีวิตจากความหิวโหยไปได้
ในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914 – 1918) วิธีการขุดสนามเพลาะ (Trench warfare) ถูกนำมาใช้เป็นแนวป้องกัน ซุ่มโจมตี กักเก็บอาวุธและเสบียง สงครามครั้งนี้มีสนามเพลาะยาวรวมกันทั้งสิ้นกว่า 40,000 กิโลเมตร ระหว่างการรบสนามเพลาะก็กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค มีสิ่งปฏิกูลมากมาย ทหารจึงนำแมวมาใช้ในสงครามทำหน้าที่ล่าหนูเพื่อปกป้องแหล่งอาหารอันจำเป็นและป้องกันการแพร่กระจายของโรค
ภาพ : พลปืนประจำกรมทหารยอร์กและแลงคาสเตอร์กับแมวประจำกรมทหารในสนามเพลาะใกล้เมืองแคมบริน ประเทศฝรั่งเศส 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ที่มา : https://cheezburger.com/3126021/15-historical-photos-of-cats-during-war
นอกจากสถานที่จับหนูที่สนามเพลาะแมวมักได้รับการต้อนรับบนเรือรบ เรือขนส่งอาวุธอย่างไม่เป็นทางการเพื่อช่วยควบคุมหนู รวมถึงในค่ายทหารและสำนักงานภาคสนามของทหารด้วย ด้วยการป้องกันไม่ให้หนูแทะเชือกและสายไฟ ทหารอังกฤษได้รวบรวมแมวจากทางหลวงและทางแยกในลอนดอน แมวถูกใช้เพื่อตรวจจับก๊าซในสนามรบ และเป็นมาสคอต (Mascot) สัตว์เลี้ยงนำโชคและสัญลักษณ์เพื่อปลุกขวัญกำลังใจและปลอบโยนใจท่ามกลางความยากลำบากของสงคราม
ภาพ ๘ : แมวชื่อคอนวอยเป็นแมวประจำเรือเอชเอ็มเอส เฮอร์ไมโอนี่ (HMS Hermione) คอนวอยมีชื่ออยู่ในสมุดคู่มือของเรือและได้มอบอุปกรณ์ครบชุดให้ด้วย รวมถึงเปลญวน ขนาดเล็ก ที่เขาใช้นอนด้วย คอนวอยเสียชีวิตพร้อมกับลูกเรืออีก 87 คน เมื่อเฮอร์ไมโอนี่ถูกตอร์ปิโดและจมลงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1942 โดยเรือดำน้ำเยอรมัน U-205 ที่มา : https://en.m.wikipedia.org/wiki/Ship%27s_cat#/media/File%3AConvoy_cat.jpg
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – 1945) เรือขนาดใหญ่เลี้ยงแมวไว้ทุกลำ แมวถูกใช้บนเรือเพื่อฆ่าหนู และลูกเรือมักมีความเชื่อว่าแมวมีความสามารถตรวจจับสภาพอากาศได้อย่างเหลือเชื่อ ยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad) ทหารโซเวียตได้นำแมวชื่อ มูร์คา (Mourka) แมวของกองพลปืนไรเฟิลรัสเซียที่ 124 ออกสำรวจพื้นที่ต่างๆ และนำเอกสารการโฆษณาชวนเชื่อใส่ไว้ที่ปลอกคอนำไปส่งให้กับทหารเยอรมันอีกด้วย
ภาพ : หลังจากควันจากการสู้รบจางหายไปบนเกาะเบติโอ ทาราวา ลูกแมวตัวน้อยก็คลานออกมาจากใต้รถถังญี่ปุ่นที่พังเสียหาย เพื่อรับน้ำดื่มจากนาวิกโยธินสหรัฐฯ ทาราวา พฤศจิกายน ค.ศ. 1943 ภาพโดยสถาบันกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่มา : https://www.nationalww2museum.org/war/articles/cats-in-the-military
ในยุคของสงครามเย็นบทบาทของแมวได้กลายเป็นสัตว์ทดลองในโครงการอวกาศของฝรั่งเศส ได้นำแมวชื่อเฟลิเซ็ตต์เป็นแมวจรจัดจากปารีสปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1963 การทดลองแมวเพื่อใช้ในสงครามความขัดแย้งไม่จบเพียงเท่านั้น
ภาพ : เฟลีแซ็ต (Félicette) เป็นแมวตัวแรกของโลกที่ถูกปล่อยสู่อวกาศ เฟลีแซ็ตถูกส่งขึ้นไปกับจรวดของฝรั่งเศส เฟลีแซ็ตเป็นแมวสีดำขาวที่อาศัยอยู่ข้างถนนในกรุงปารีส ถูกพ่อค้าสัตว์เลี้ยงจับตัวไปและขายให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส ที่มา : https://www.skyatnightmagazine.com/space-missions/felicette-first-cat-space
ในช่วงศตวรรษที่ 1970 สำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency) เคยจัดตั้งโครงการ Acoustic Kitty เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แมวในการสอดแนมสถานฑูตโซเวียด โดยจะติดตั้งไมโครโฟนไว้ในช่องหูของแมว เครื่องส่งสัญญาณวิทยุขนาดเล็กไว้ที่ศีรษะ และลวดบางๆไว้ที่ขนของแมว อย่างไรก็ตามโครงการนี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเพราะความยากลำบากในการฝึกให้แมวประพฤติตามต้องการ อุปกรณ์ที่ฝังมักใช้การไม่ได้ เพราะอยู่ในที่อับ ชื้น อุณหภูมิสูง ส่วนร่างกายของแมวเองก็ไม่ตอบสนองกับอุปกรณ์ที่ถูกฝัง
ภาพ : แมวตัวเดียวที่ได้รับเหรียญ Dickin คือ เอเบิล ซีแคท ไซม่อน (Simon) แห่งเรือรบหลวงเอชเอ็มเอส อเมทิสต์ (HMS Amethyst) ไซม่อน อยู่บนเรือลำนี้ระหว่างเหตุการณ์แม่น้ำแยงซีเกียง ในปี ค.ศ. 1949 และได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีที่คร่าชีวิตลูกเรือไป 25 ราย จากความกล้าหาญในการกำจัดหนูบนเรือจำนวนมากแม้จะได้รับบาดเจ็บ ที่มา : https://cheezburger.com/3126021/15-historical-photos-of-cats-during-war
ในช่วงสงครามอิรัก ค.ศ. 2004 ปรากฏลูกแมวพลัดหลงเข้าไปในหน่วยรบของทหารอเมริกัน ทำหน้าที่ปกป้องเสบียงจากหนู ช่วยเล่นบรรเทาความเครียดยามว่างจากการต่อสู้ เมื่อถึงเวลาที่ทหารต้องเดินทางกลับสหรัฐฯ ได้มีองค์กรอาสาสมัครและองค์กรสวัสดิการสัตว์ Alley Cat Allies และ Military Mascots ช่วยเหลือดำเนินการนำแมวกลับไปอเมริกาด้วย
ความขัดแย้งสมัยใหม่ทางดินแดนยุโรปตะวันออกรัสเซีย –ยูเครน นอกจากรูปแบบการรบโดยใช้กองกำลังปกติ (Regular Military Forces) แล้วยังมีการใช้โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) แฝงมาด้วย ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มโซเซี่ยมีเดียทำให้วิดิโอความยาวระยะสั้นแพร่กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็ว ตามโซเชี่ยลมีเดีย ( Social Media ) ของทหารยูเครนเต็มไปด้วยสัตว์จำพวกแมว แสดงให้เห็นว่าพวกแมวช่วยเหลือทหารอย่างไรในฐานะสัตว์มาสคอต แมวช่วยดึงดูดเงินบริจาคให้กองทัพด้วยความน่ารักน่าชัง และยังต่อสู้กับผู้รุกรานซึ่งในกรณีนี้ก็คือหนู
ภาพ : ภาพจากคลิปวิดิโอสั้น Oleksandr Liashuk ทหารยูเครนที่เป็นไวรัล ยูเครนส่งเพื่อนแมวไปร่วมต่อสู้กับรัสเซีย แมวที่ทหารรับเลี้ยงยังต้องต่อสู้กับศัตรูอย่างหนูที่คอยรบกวนสนามเพลาะ กัดแทะสายสื่อสารดาวเทียม Starlink และสายไฟในรถยนต์ ทำลายเสบียงอาหารและอุปกรณ์ทางการทหาร และแม้แต่กัดนิ้วของทหารที่กำลังนอนหลับอีกด้วย ที่มา : https://www.politico.eu/article/ukraine-russia-war-cat-army-social-media/
ฝั่งทหารรัสเซียก็ประสบกับปัญหาปริมาณหนูในสนามรบและในค่ายทหารที่มากขึ้นไม่แพ้กัน อาสาสมัครชาวรัสเซียจึงส่งแมวไปต่อสู้กับหนูที่อาศัยอยู่ในบริเวณสนามเพลาะของสมรภูมิระหว่างที่รัสเซียกับยูเครน ทหารรัสเซียได้กล่าวอ้างว่าฝ่ายยูเครนได้ใช้แมวเป็นเหยื่อล่อกับดักระเบิด กล่าวว่ามีการบันทึกเสียงแมวเพื่อหลอกล่อให้พวกเขาเปิดตู้เสื้อผ้าและตู้เก็บของที่ถูกจัดฉากไว้ และจุดระเบิดขึ้น
โลกปัจจุบันที่ใช้ชีวิตด้วยความรีบเร่ง เต็มไปด้วยการแข่งขันทางเทคโนโลยี การดูเจ้าเหมียวดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายอย่างมีความสุข สร้างความบันเทิง ผ่อนคลายความเครียดให้กับผู้คนหลังจากการทำงานที่เหนื่อยเหนื่อยมาทั้งวัน
เรารู้กันดีว่าสงครามไม่ได้มีเพียงรอยยิ้มและชัยชนะ ยังประสบกับความสูญเสียและทุกข์ทรมาน สงครามสะท้อนถึงขีดจำกัดสูงสุดในความโหดเหี้ยมของมนุษย์ ในทางตรงกันข้ามความเมตตาที่อยู่ลึกลงไปที่ก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์ก็พบเจอในสงครามได้เช่นเดียวกัน
แมวอาจไม่ได้ถูกใช้ในทางทหารอย่างเป็นทางการเช่นสัตว์ชนิดอื่น อันเนื่องมาจากความรักอิสระของพวกเขา และแม้ว่าสุนัขทหารจะสามารถฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งและนำไปปฏิบัติการทางทหารได้ดีกว่าแมวมากนัก แต่แมวก็ยังมีคุณค่าทางจิตใจเช่นกัน
อ้างอิง
1. Wikipedia. (2023). Military Animal. Retrieved 27 Jan 2025, from https://en.wikipedia.org/wiki/Military_animal
2. World History Encyclopedia Chanel. (2021). The Battle of Pelusium: a Persian Victory Decided by Cats. Retrieved 27 Jan 2025, from https://www.youtube.com/watch?v=Gb68xjnTkuw
3. @WeirdLegends-ตํานานแปลก. (2025). ตำนานสงครามแมวศักดิ์สิทธิ์เมื่อ 2,500 ปีก่อน เปอร์เซีย vs อียิปต์. สืบค้นเมื่อ ๒๗ ม.ค. ๖๘ เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/shorts/1V0Dn2Pxji4
4. Conolly, Pauline. (2018). THE BRAVE CATS OF WAR. Retrieved 26 Jan 2025, from https://paulineconolly.com/2018/the-brave-cats-of-war/
5. Melkozerova, Veronika. (2024). War cats: Ukraine enlists feline friends in fight against Russia. Politico. Retrieved 29 Jan 2025, from https://www.politico.eu/article/ukraine-russia-war-cat-army-social-media/
6. Donald, Graeme (2011). Loose Cannons: 101 Myths, Mishaps and Misadventurers of Military History. Osprey Publishing. ISBN 978-1-84908-651-6.
7. Anthes, Emily (2013). Frankenstein's cat : cuddling up to biotech's brave new beasts (First ed.). New York: Scientific American / Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-15859-0.
8. Melkozerova, Veronika. (2024). War cats: Ukraine enlists feline friends in fight against Russia. Politico. Retrieved 29 Jan 2025, from https://www.politico.eu/article/ukraine-russia-war-cat-army-social-media/
9. The Moscow times. (2024). Russian Region Deploys Cats to Ward Off Rats on the Frontlines in Ukraine. Retrieved 29 Jan 2025, from https://www.themoscowtimes.com/2024/07/15/russian-region-deploys-cats-to-ward-off-rats-on-the-frontlines-in-ukraine-a85717
10. Gregory, Andy. (2025). Ukrainian army deploys cat noises to lure Russians into explosive-laden traps, soldier claims. Retrieved 29 Jan 2025, from https://www.independent.co.uk/news/world/europe/russian-soldiers-cat-booby-traps-ukraine-donetsk-b2684737.html
โฆษณา